คำไว้อาลัย

จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ "ครูประดิษฐ์"
   

โดย นางสาวสุรินทร์ อยู่ยง นักวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชาเภสัชเคมี

786  Views  

ระลึกถึงอาจารย์ประดิษฐ์  หุตางกูร

การเป็นนักปกครองที่ดี ต้องมีความฉลาดมีความสามารถ และรอบรู้รอบด้าน อาจารย์ประดิษฐ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณสมบัตินี้ ท่านจึงนำพาให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลของเราเป็นที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบันนี้

ด้านการปกครองคนท่านก็เป็นที่รัก เคารพ ยำเกรงของลูกศิษย์และผู้ใต้บังคับบัญชา ในส่วนตัวที่ได้เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นช่วงท้ายก่อนอาจารย์เกษียณอายุงาน จะรู้สึกเกรงกลัวอาจารย์มาก เพราะอาจารย์เป็นผู้ใหญ่ เคร่งขรึม มีความภูมิฐานน่าเคารพ ครั้งหนึ่งมีโทรศัพท์มาบอกว่าคณบดีต้องการพบ ให้มาที่ห้องประชุม รู้สึกตกใจไม่ทราบว่าเราทำอะไรผิดถึงโดนเรียกเข้าห้องประชุม ก็ไปด้วยอาการกลัว ๆ พอเปิดประตูเข้าไปก็ยิ่งสั่นมากขึ้น เพราะในห้องนั้นมีแต่อาจารย์ผูใหญ่หลายท่าน จำได้ว่ามี คณบดี (อาจารย์ประดิษฐ์) อาจารย์สุคนธ์ อาจารย์บุญจริง อาจารย์จันทรา แต่ก็ยังดีใจหน่อยหนึ่งที่มีอาจารย์จันทราอยู่ด้วย อาจารย์บอกว่า อยากถามข้อมูลบางอย่าง เกี่ยวกับทางด้านที่เรียนมาเพื่อประกอบข้อมูล ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีการเปิดสอนวิทยาศาสตร์ ภาคพิเศษ (ภาคค่ำ) ของวิทยาลัยครู เสร็จแล้วอาจารย์ประดิษฐ์ ยังบอกว่าให้ไปเรียนด้วย ได้ตอบอาจารย์ว่าไปไม่ได้เพราะเขาเริ่มเรียน ๑๗.๐๐น. เรียนทุกวัน ต้องออกก่อนเวลาเลิกงานทุกวัน ไม่มีคนทำงานแทนเพราะตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการคนเดียว แต่ตอนนี้ลงเรียนด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเรียนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ ไม่กระทบการทำงาน อาจารย์ยังพูดว่าต้องเรียนให้ตรงสายงานเพื่อมาปรับให้ตรงกับงาน เรียนสาธาณสุขจบมาแล้วไม่มีอะไรให้ทำเพราะส้วมคณะเรามีไม่กี่ห้อง ฟังแล้วก็รู้สึกถึงความเมตตาของผู้ใหญ่ ที่อยากให้เราก้าวหน้า

การที่ได้ทำงานอยู่ภาควิชาเภสัชเคมี ซึ่งตอนนั้นห้องปฏิบัติการของภาควิชาอยู่อาคาร ๒ ชั้นล่างทั้ง ๒ ปีก บางครั้งมีเรียนปฏิบัตการพร้อมกันทั้ง ๒ ห้อง ต้องเดินดูความเรียบร้อย บ่อยๆ มักเห็นอาจารย์ประดิษฐ์ มายืนอ่านหนังสือพิพม์ซึ่งตั้งไว้ตรงโถงกลาง ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นทำเลที่สามารถมองเห็นคนเดินเข้า-ออกคณะได้ บางวันจะเห็นช่วงเช้า คือประมาณ ๘.๓๐ น. บางวันประมาณช่วง ๑๖.๐๐ น. ซึ่งก็คิดว่าอาจารย์คงว่างและมาอ่านหนังสือพิมพ์ แต่พวกคนงานบอกว่าไม่ใช่ เพราะที่ห้องทำงานของอาจารย์มีหนังสือพิมพ์ และอาจารย์จะมาทำงานเช้ามาก เรามา ๖.๓๐ น. จะเห็นไฟที่ห้องทำงานของอาจารย์เปิดแล้ว แต่อาจารย์กลับกี่โมงไม่รู้ เพราะเรากลับก่อนเสมอ

การที่อาจารย์มายืนอ่านหนังสือพิมพ์ที่อาคารนี้เพราะอาจารย์จะมายืนดูว่าใครมาทำงานสายและกลับก่อน ซึ่งพอสังเกตดูก็คิดว่าใช่ เพราะบางคนมาทำงานสายบ่อยๆ อาจารย์ก็เตือนด้วยการมายืนดูพฤติกรรมเพื่อให้ปรับปรุงตัวเอง

อาจารย์เคยบอกว่า การเป็นข้าราชการ ไม่ใช่เป็นเฉพาะวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา ๘.๓๐ ถึง ๑๖.๓๐ น. เว้นเสาร์อาทิตย์ แต่เป็นตลอด ๒๔ ชั่วโมง วันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา ๘.๓๐ ถึง ๑๖.๓๐ น. เป็นเวลาปฏิบัติงาน นอกเวลาปฏิบัติงานก็ยังเป็นข้าราชการอยู่ ต้องประพฤติดี ไม่ให้เกิดความเสียหาย ช่วงที่อาจารย์เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังเห็นอาจารย์มาที่คณะฯ บ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน แม้ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ช่วงสายๆ ประมาณ ๙ โมงกว่ายังเห็นอารจารย์เดินผ่านหน้าห้องปฏิบัติการที่ทำงานขึ้นไปชั้น ๒ แต่พอช่วงประมาณบ่าย ๒ ถึง ๓ โมง ก็ทราบข่าวว่าอาจารย์ประดิษฐ์เสียชีวิตแล้วในขณะประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ ๖๒ ปี

นับได้ว่าอาจารย์ประดิษฐ์  หุตางกูร เป็นนักปกครองที่ดี มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน และที่สำคัญคือปฏิบัติหน้าที่ตลอดอายุของการเป็นข้าราชการ ซึ่งควรถือเป็นแบบอย่างที่ดี

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

“อาจารย์ประดิษฐ์เกิดมาเพื่อสร้าง”คือผู้สร้าง สถาบัน แหล่งผลิตเป็นบัณฑิต เภสัชกร ที่โดดเด่นคือแบบอย่าง ของคุณครู ผู้สอนเป็น ทำให้เห็น จริยธรรม ตามครรลองคือขวัญใจ บรรดา เหล่าลูกศิษย์ อีกมิ่งมิ...

ศิษย์เก่า รุ่นที่ 3

อาจารย์ประดิษฐ์ในภาพจำของผม ถ้าคนที่ไม่รู้จักอาจารย์ต้องมองว่าอาจารย์เป็นคนดุเข้าหายากแต่ สาหรับผมที่เป็นบัณฑิตรุ่น 3 เราจะสัมผัสได้ว่าอาจารย์เป็นคนจริงจังกับการงานแต่ก็มีเมตตาและใส่ใจกับลูกศิษย์...

ฑีฆายุ ชัยะโสตถิ รุ่นที่ 3

 เห็นรูปนี้ทีไร คิดถึงวันเวลาที่เรียนเภสัช ตอนเรียนอยู่ปี 3 ปี 4 อาจารย์พเยาว์ต้องพาพวกเราไปเดินป่าเพื่อให้รู้จักต้นไม้หลายๆชนิดที่มีประโยชน์ และให้เก็บตัวอย่างต้นไม้มาอัด herbariu...

ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์ รุ่นที่ 1

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา