คำไว้อาลัย

จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ "ครูประดิษฐ์"
   

โดย นางพรรณี ชูชีพ หัวหน้าหน่วยสารบรรณ

1858  Views  

ขอรำลึกอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

ดิฉัน น.ส.พรรณี บูรณศิลป์ อายุ 21 ปี เข้ารับราชการ ณ คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2514 โดยมี อ.ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นผู้สัมภาษณ์ และรับเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ สำนักงานเลขานุการ ซึ่งมีนายเกษม สุวคนธ์ เป็นหัวหน้าสำนักฯ 

ในขณะนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ เป็นรักษาการคณบดี ท่านเป็นบุคคลน่าเกรงขาม น่ากลัว ไม่ยิ้ม ไม่พูด แลดูเป็นคนดุ ท่านเป็นมาตรฐานชายไทยรูปร่างสูงใหญ่ ยอมรับว่าดิฉันและเพื่อน ๆ กลัวท่านมาก ดิฉันมาทำงานทุกวัน ไม่เกเร แต่มาสายต้องคอยหลบท่านทุกเช้า เพราะท่านจะมายืนอ่านหนังสือพิมพ์ ที่โถงชั้น 1 อาคารเก่า (อาคาร 2) ใครเข้าคณะฯ ท่านจะเห็นทุกคน 

เราทุกคนทำงานตามที่หัวหน้าสำนักฯ สั่งการ ต่อมาคุณเกษมได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ดิฉันไม่มีความคิดที่จะปฏิบัติงานด้วยตนเอง ได้แต่ทำตามคำสั่งล้วน ๆ ดิฉันไม่รับผิดชอบงาน ชอบแต่งตัวสวย แต่งหน้างาม ทันสมัยมาก ทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ ดิฉันก็พอใจแล้ว หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย คือจ่ายเงินเดือนให้บุคลากรของคณะ ลงทะเบียนรับ-ส่งเอกสาร จัดเก็บเอกสาร แต่หาไม่เคยเจอเลย เพราะดิฉันไม่มีพื้นฐานด้านนี้มาเลย ในที่สุด อาจารย์ประดิษฐ์เรียกประชุม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกตั้งแต่เข้ารับราชการ ดิฉันถูกตำหนิมากมายเรื่องหาเอกสารไม่พบ เก็บเอกสารไม่เป็นระบบ ไม่มีความคิดสร้างสรร ดิฉันเสียใจมาก ไม่คิดว่าตัวเองผิด คิดและดำเนินการเงียบ ๆ เพื่อจะโอนย้าย ไปติดต่อหน่วยราชการหลายแห่ง ช่วงนี้คุณวิไลวรรณ ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการคณะแทนคุณเกษม ซึ่งเกษียณหลังจากมีการประชุม ประมาณ 2 เดือน 

อาจารย์ประดิษฐ์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ถ่ายรูปร่วมกัน (นางพรรณี ชูชีพ ยืนแถวหลังสุด คนขวาสุด)

ต่อมา สำนักงานอธิการบดี เปิดอบรมหลักสูตรการจัดเก็บเอกสาร ไม่ต้องสงสัย ดิฉันได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับการอบรม 2 สัปดาห์ ณ สำนักงานอธิการบดี (ขณะนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตึกอำนวยการ ชั้น 2) ทุกคณะและทุกสถาบันต่างก็ส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมในครั้งนี้ จึงได้ทราบว่า มีปัญหาทุกคณะเรื่องจัดเก็บเอกสารเหมือน ๆ กัน หลักสูตรเน้นไปให้จัดเก็บในแนวทางเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย วิทยากร ได้รับเชิญมาจากสำนักงบประมาณ เก่งมาก ๆ เลยคะ นี่คือจุดเริ่มต้นของดิฉันในอาชีพข้าราชการที่จะเป็นข้าราชการที่ดี ซึ่งมี อาจารย์ประดิษฐ์ เป็นผู้จุดประกาย ให้ชีวิตใหม่แก่ดิฉันในการครองงานเป็นข้าราชการที่ดี 

นางพรรณี ชูชีพ เข้าอบรมหลักสูตรการจัดเก็บเอกสาร จัดโดยสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ไฟแรงมาก เบิกอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ หมกมุ่นกับอุปกรณ์ทั้งวัน ในที่สุดสำเร็จโดยดี คณะกรรมการมาตรวจการดำเนินงาน ดิฉันเป็น 1 คน จากคณะเภสัชศาสตร์ (น่าจะมี 4 หน่วยงาน) ที่ได้รับรางวัลคะ และได้เข้ารับรางวัลจากท่านอธิการบดี (ในขณะนั้น ศาสตราจารย์ณัฐ ภมรประวัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี) ในห้องประชุม อกม. และการประชุมคณบดี ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ดิฉันตื่นเต้นมาก เหลือบไปเห็น อาจารย์ประดิษฐ์ อมยิ้ม ดิฉันดีใจสุด ๆ คะ หลังจากนั้นดิฉันตั้งใจทำงานมาก การจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีและได้เป็นแนวทางให้ภาควิชา และหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ นำไปเป็นแนวทางจัดเก็บเอกสาร และได้นำผลงานไปขอเลื่อนระดับ ตั้งแต่ซี 4, ซี 5 และซี 6 พร้อมทั้งได้ขอเลื่อนเป็นหัวหน้าหน่วยสารบรรณ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร มา ณ ที่นี้

นางพรรณี ชูชีพ รับรางวัลผลงานการจัดเก็บเอกสาร จากท่านอธิการบดี (ในขณะนั้น ศาสตราจารย์ณัฐ ภมรประวัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี)

ขอเขียนเรื่องส่วนตัวสักนิด... ได้รับเกียรติสูงสุดจากท่าน อาจารย์ประดิษฐ์ เป็นประธานกล่าวถวายพระพรในงานสมรสของ น.ส.พรรณี บูรณศิลป์ กับนายนัทธี ชูชีพ ณ สโมสรราชนาวี ท่าเตียน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2518.....ขอบพระคุณคะ

อาจารย์ประดิษฐ์ กล่าวถวายพระพรในงานสมรสของ น.ส.พรรณี บูรณศิลป์ กับ นายนัทธี ชูชีพ

ตอนสุดท้าย... ดิฉันเสียใจ เสียดาย ใจหาย วันที่ท่านจากโลกนี้ไป หลายคนได้ไปกราบศพท่าน อาจารย์ประดิษฐ์ ณ โรงพยาบาลราชวิถี ท่านนอนนิ่งเหมือนคนนอนหลับ พวกเราล้อมรอบศพท่าน และก้มลงกราบท่าน ต่อมาได้ไปร่วมรดน้ำศพท่านที่วัดตรีฯ และสุดท้ายได้ไปร่วมฌาปณกิจท่าน.......

บทความอื่นๆ จากศิษย์เก่า

เมื่อมาเรียนเภสัช อ.ประดิษฐ์ พร่ำสอนเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม และใฝ่ฝันให้ลูกศิษย์จบไปเป็นเภสัชกรร้านยา เพื่อช่วยประชาชนได้ใช้ยาอย่างปลอดภัย ทำให้ผมตั้งใจไปเป็นเภสัชกรประจำร้านยาของที่บ้าน ซึ่งเป็นร้า...

ภก.สมเฮง นรเศรษฐีกุล รุ่นที่ 2

ผมเข้าเรียนเภสัชฯ ม.มหิดล ปี 2521 นับเป็นรุ่นที่ 10 เมื่อยู่ชั้นปี 1-2 เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ ถนนพระราม 6 รวมกับนักศึกษาปี 1-2 คณะอื่นๆ ชั้นปี 3-5 เรียนที่ตึกคณะเภสัชฯ สม...

สุเทพ ไวยครุฑธา รุ่นที่ 10

ผมเข้ามาเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมิได้ตั้งใจ เป็นหนึ่งในคนที่ข้ามฟากมาเรียนด้วยจิตใจที่บอบช้ำและเสียใจที่ไม่ได้เรียนแพทย์ ในเดือนแรกของการเรียนปี 3 ผมแทบจะไม่เข้าเรียนเลยเพราะมัวแต่ไ...

ชนินทร์ สังขธรรมวงศ์ รุ่นที่ 4

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา