ผลพิษวิทยาของมะระขี้นกในหนูขาวสายพันธุ์ albino
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2549 -- อ่านแล้ว 8,773 ครั้ง
เป็นที่รู้กันดีว่ามะระขี้นกได้นำมารักษาโรคได้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือโรคเบาหวาน มะระขี้นกมีผลทำให้กระบวนการเมตาบอลิสมของกลูโคสดีขึ้น แต่ไม่มีผลต่อกระบวนเมตาบอลิ-สมของไขมัน จึงได้มีการศึกษาพิษวิทยาของมะระขี้นกในรูปแบบของน้ำคั้นและสารสกัดจากแอลกอฮอล์ที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในหนูขาวสายพันธุ์ albino ทั้งที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan และหนูปกติ พบว่าค่า LD50 ของมะระขี้นกในรูปแบบของน้ำคั้นและสารสกัดจากแอลกอฮอล์เท่ากับ 91.9 และ 362.34 mg/ 100 g BW ตามลำดับ อาการที่พบได้ในหนูขาวที่ฉีดสารสกัดจากแอลกอฮอล์ของมะระขี้นกคือ อัตราการหายใจและการเต้นของหัวใจแรงขึ้น ในขณะที่อาการข้างเคียงที่พบในหนูขาวที่ฉีดน้ำคั้นมะระขี้นก คือ ชัก เพิ่มการหายใจ และตายในที่สุด สำหรับผลทางชีวเคมีพบว่า มะระขี้นกทั้งในรูปแบบของน้ำคั้นและสารสกัดจากแอลกอฮอล์มีผลลดระดับกลูโคสได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งในหนูปกติและหนูเบาหวาน และไม่พบความผิดปกติต่อ urea, creatinine, AST, ALT และ AP ในหนูปกติ แต่พบว่าทำให้ urea, creatinine, AST, ALT และ AP, cholesterol และ TG ในหนูเบาหวานลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
มะระขี้นกมีคุณสมบัติเป็น anti-diabetic, hepato-renal protective และ hypolipidemic effect ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ดังนั้นมะระขี้นกจึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อใช้ลดระดับกลูโคสในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้