Palovarotene (retinoic acid receptor gamma agonist) สำหรับรักษา fibrodysplasia ossificans progressive
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,021 ครั้ง
Fibrodysplasia ossificans progressive (FOP) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านยีนเด่น ทำให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกผิดตำแหน่ง (heterotopic ossification; HO) เช่น บริเวณเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกกับกระดูก (ligaments) เส้นเอ็นที่ยึดกระดูกกับกล้ามเนื้อ (tendons) กล้ามเนื้อลาย (skeletal muscles) เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) มีรูปร่างที่ผิดปกติ โค้งงอและข้อต่อบริเวณต่าง ๆ เช่น หัวไหล่ ข้อศอก หัวเข่า ขากรรไกร เคลื่อนไหวไม่ได้[1] FOP จึงเป็นต้นเหตุของความพิการและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 56 ปีเท่านั้น[2] ทั้งนี้ FOP จัดเป็นโรคที่พบได้ยาก (พบประมาณ 900 ราย จากทั่วโลก) แต่ผู้ป่วยต้องทนอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดนำกระดูกส่วนที่เจริญผิดปกติออกไปแล้ว แต่ตัวโรคก็ไม่หายขาด และอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกได้[3]
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ทาง USFDA ได้อนุมัติการใช้ palovarotene (Sohonos™) เพื่อลดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสำหรับรักษาโรค FOP เป็นตัวแรก[4] ทั้งนี้ palovarotene ออกฤทธิ์กระตุ้น retinoic acid receptor gamma (RARγ) แบบเฉพาะเจาะจง (retinoid derivatives ออกฤทธิ์ กระตุ้น receptor เช่นกัน แต่ไม่เฉพาะเจาะจง) ซึ่งการกระตุ้น RARγ receptor ส่งผลลดการเจริญเติบโตเซลล์กระดูกอ่อน[5] โดยข้อมูลด้านประสิทธิภาพของ palovarotene ที่ใช้ในการอนุมัติขึ้นทะเบียนอ้างอิงจากการศึกษา MOVE trial (multicenter, open-label, phase 3 trial) ที่ทำในผู้ป่วย FOP เพื่อเปรียบเทียบปริมาณของกระดูกที่เจริญผิดปกติ (HO volume) ก่อนและหลังรักษาด้วย palovarotene ผลการศึกษาพบว่า palovarotene สามารถช่วยลด HO volume ลงจากก่อนได้รับการรักษาถึง 54%[6] โดยคำแนะนำสำหรับการใช้ palovarotene ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป คือ รับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง สำหรับภาวะเรื้อรัง แต่หากมีอาการบวมหรือปวดตามร่างกายกำเริบขึ้น (flare-up symptoms) แนะนำให้เพิ่มขนาดยาเป็น 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง นาน 4 สัปดาห์ จากนั้นลดขนาดลงเหลือ 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง นาน 8 สัปดาห์ ในส่วนของอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบในการศึกษา ได้แก่ ผิวแห้ง ปากแห้ง ตาแห้ง ผื่นขึ้น คันตามผิวหนัง ผมร่วง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แขนขาบวม อ่อนเพลีย[7]
เอกสารอ้างอิง
1. National Organization for Rare Disorders. Fibrodysplasia Ossificans Progressiva [internet]. 2022 [Accessed on 20 August 2023]. Available from: https:// rarediseases.org/rare-diseases/fibrodysplasia-ossificans-progressiva/
2. Pignolo RJ, Wang H, Kaplan FS. Fibrodysplasia Ossificans Progressiva (FOP): A Segmental Progeroid Syndrome. Front Endocrinol (Lausanne). 2020; 10:908.doi:10. 3389/fendo.2019.00908.
3. Kitoh H. Clinical Aspects and Current Therapeutic Approaches for FOP. Biomedicines. 2020; 8(9):325.doi:10.3390/ biomedicines8090325.
4. U.S. Food & Drug Administration. FDA approves first treatment for Fibrodysplasia Ossificans Progressiva [internet]. 2023 [Accessed on 20 August 2023]. Available from: https://www.fda.gov/drugs/news-events-human-drugs/fda-approves-first-treatment-fibrodysplasia-ossificans-progressiva.
5. Ipsen Biopharmaceuticals Canada Inc. SOHONOS™ palovarotene capsules [internet]. 2022 [Accessed on 20 August 2023]. Available from: https://pdf.hres.ca/dpd_pm/ 00064435.PDF.
6. Pignolo RJ, Hsiao EC, Al Mukaddam M, et al. Reduction of New Heterotopic Ossification (HO) in the Open-Label, Phase 3 MOVE Trial of Palovarotene for Fibrodysplasia Ossificans Progressiva (FOP). J Bone Miner Res. 2023;38(3):381-394. doi:10.1002/jbmr.4762.
7. U.S. Food & Drug Administration. SOHONOS (palovarotene) capsules, for oral use [internet]. 2023 [Accessed on 20 August 2023]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2023/215559s000lbl.pdf.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Palovarotene
โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม