หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Transdermal testosterone replacement therapy ไม่เพิ่มการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วย hypogonadism

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2566 -- อ่านแล้ว 1,452 ครั้ง
 
Hypogonadism เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายได้ไม่เพียงพอเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาต่อมไทรอยด์ เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า และผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีลูกยาก สูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง อ่อนไหวฉุนเฉียวง่าย ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค โดย Society for Endocrinology guidelines for testosterone replacement therapy in male hypogonadism ได้แนะนำให้ใช้ testosterone replacement therapy ทั้งรูปแบบ transdermal gel และ intramuscular injections[1] อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่าการใช้ testosterone-replacement therapy อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ฮอร์โมน testosterone ทุกชนิดต้องผ่านการทดลองทางคลินิกเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย[2] การรักษา hypogonadism ด้วยวิธีนี้จึงยังมีข้อจำกัดและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

มีข้อมูลล่าสุดที่ได้รับการเผยแพร่ใน The New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาวของการใช้ testosterone-replacement therapy ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับผู้ป่วย hypogonadism ซึ่งเป็นการศึกษารูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ในผู้ป่วยชาย 5,204 คน ที่เคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อายุ 45-80 ปี และมีรายงานอาการของโรค hypogonadism อย่างน้อยหนึ่งอาการ ร่วมกับมีระดับ fasting serum testosterone น้อยกว่า 300 ng/dL โดยผู้ป่วยจะได้รับ testosterone transdermal gel 1.62% เปรียบเทียบกับยาหลอก เป็นเวลา 22 เดือน ผลการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน[3] ข้อมูลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ testosterone replacement therapy ในรูปแบบ transdermal gel เพื่อรักษาภาวะ hypogonadism อาจ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถบรรเทาความรุนแรงของโรคได้ โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

เอกสารอ้างอิง

1. Jayasena CN, Anderson RA, Llahana S, Barth JH, MacKenzie F, Wilkes S, et al. (2022). Society for Endocrinology guidelines for testosterone replacement therapy in male hypogonadism. Clinical endocrinology, 96(2), 200-219.

2. Gagliano-Jucá T, Basaria S. (2019). Testosterone replacement therapy and cardiovascular risk. Nature reviews. Cardiology, 16(9), 555-574.

3. Lincoff AM, Bhasin S, Flevaris P, Mitchell LM, Basaria S, Boden WE, et al. TRAVERSE Study Investigators (2023). Cardiovascular Safety of Testosterone-Replacement Therapy. The New England journal of medicine, 389(2), 107-117.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
testosterone replacement therapy hypogonadism cardiovascular event
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้