หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Clozapine...เตือนอีกถึงความเสี่ยงต่อภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยขั้นรุนแรง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน สิงหาคม ปี 2565 -- อ่านแล้ว 1,400 ครั้ง
 
Clozapine เป็น second generation antipsychotic หรือ atypical antipsychotic ที่มี anticholinergic effect ที่แรง มีผลไม่พึงประสงค์ที่ทำให้ทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยและมีอาการท้องผูก อาการเกิดมากขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่มี anticholinergic effect ซึ่งในเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาได้มีคำเตือนไว้แล้ว สำหรับข้อมูลหลังการวางจำหน่ายพบว่ามีผู้ที่ใช้ยาเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงเกี่ยวกับทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อย เช่น ลำไส้อุดตัน, อุจจาระอัดเป็นก้อนแข็งจนถ่ายไม่ออก, ลำไส้ใหญ่พอง (megacolon), ลำไส้ไม่ทำงาน (paralytic ileus), ลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง, ลำไส้เน่า, เกิดแผลในสำไส้, ลำไส้ทะลุ ทำให้ต้องมีการรักษาตัวในโรงพยาบาล การผ่าตัด และการเสียชีวิต ส่วนอาการอื่นที่มีรายงานแต่ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น ท้องเดิน, ไม่สบายท้อง, แสบอก, อาหารไม่ย่อย, ลำไส้ใหญ่อักเสบ ความเสี่ยงต่อภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยพบมากขึ้นในผู้สูงอายุที่ใช้ยาเป็นเวลานาน ซึ่งปริมาณการใช้ยาระบายในผู้ที่ใช้ clozapine ช่วยพยากรณ์ถึงการความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยที่อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในประเทศออสเตรเลียโดยหน่วยงาน Australian Department of Health’s Therapeutic Goods Administration (TGA) ได้มีคำเตือนอีกครั้งถึงความเสี่ยงต่อภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยซึ่งบางรายมีอาการแทรกซ้อนขั้นรุนแรง เนื่องจากข้อมูลจนถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 หน่วยงานดังกล่าวได้รับรายงานเกี่ยวกับความผิดปกติของทางเดินอาหารที่เกิดจากการใช้ clozapine จำนวน 1,523 รายงาน ในจำนวนนี้เกิดอาการท้องผูก 260 รายงาน, ลำไส้อุดตัน 146 รายงาน, ปวดท้อง 93 รายงาน และลำไส้เล็กอุดตัน 41 รายงาน และจากรายงานผู้ที่ใช้ clozapine แล้วเสียชีวิตจำนวน 1,023 รายงาน พบว่ามีสาเหตุจากความผิดปกติของทางเดินอาหารถึง 103 รายงาน ด้วยเหตุนี้หน่วยงาน TGA จึงเพิ่มคำเตือนใหม่ถึงความเสี่ยงต่อภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อยขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ในผู้ป่วยที่ใช้ clozapine ลงใน “boxed warning” ของเอกสารที่เป็นข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา clozapine พร้อมทั้งแนะนำบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาดังกล่าวไว้ดังนี้

• ควรประเมินอาการท้องผูกของผู้ที่จะใช้ยาก่อนให้การรักษา และระหว่างการรักษา หากพบอาการท้องผูกควรให้การรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งอาการท้องผูกอาจไม่ได้สะท้อนโดยตรงถึงระดับความรุนแรงของภาวะทางเดินอาหารเคลื่อนไหวน้อย

• ควรติดตามดูอาการอื่น เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องอืด, ปวดท้อง, ไม่มีอาการปวดอยากถ่าย, ถ่ายไม่ออก, ท้องผูก หากเกิดอาการเหล่านี้ควรให้การแก้ไขโดยทันทีก่อนนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

• ควรระมัดระวังการใช้ clozapine และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเพื่อลดอาการท้องผูก

• หลีกเลี่ยงการใช้ clozapine ร่วมกับ anticholinergic medicines ชนิดอื่น

อ้างอิงจาก:

(1) Handley SA, Every-Palmer S, Ismail A, Flanagan RJ. Clozapine-induced gastrointestinal hypomotility: presenting features and outcomes, UK pharmacovigilance reports, 1992-2017. Br J Psychiatry 2022. doi: 10.1192/bjp.2022.24; (2) Sazhin V, Pushkal P. Predictors of laxative use in inpatients with schizophrenia on clozapine. Australas Psychiatry 2022;30:105-109; (3) Clozapine and gastrointestinal hypomotility with severe complications. https://www.tga.gov.au/publication-issue/clozapine-and-gastrointestinal-hypomotility-severe-complications
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้