หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยานอนหลับ...ใช้ตามอำเภอใจ อันตรายกว่าที่คิด

โดย นศภ.เพ็ญพิชชา อยู่ยง ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 6 มกราคม พ.ศ.2566 -- 78,542 views
 

ปัจจุบันพบอาการนอนไม่หลับมากขึ้นทั้งในคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากทั้งสภาวะอารมณ์ ความเครียด ความวิตกกังวล หรือจากสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น ปัญหาการนอนไม่หลับทำให้หลายคนต้องหันไปพึ่งยาช่วยนอนหลับ แต่การรับประทานยานอนหลับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้นอนหลับได้ และเมื่ออยากจะหยุดยานอนหลับก็มักปฏิบัติไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมา เรามาดูกันว่ายานอนหลับมีอะไรบ้าง และหากใช้ไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกาย

ยาที่ใช้ช่วยนอนหลับมีอะไรบ้าง1,3

ปัจจุบันมีการนำยาหลายกลุ่มมาใช้ช่วยนอนหลับ โดย benzodiazepine ดังแสดงในตารางที่ 1 เป็นกลุ่มยาหลักที่แพทย์มักสั่งจ่ายในการรักษาอาการนอนไม่หลับ ยาจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางโดยเฉพาะสมอง และหากผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีการใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการติดยาได้ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงยาในกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยยาที่ออกฤทธิ์สั้นแพทย์อาจสั่งจ่ายให้กับผู้ที่มีปัญหาเริ่มหลับยาก (ใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ แต่ถ้าหลับแล้วสามารถหลับได้ยาวนาน) เนื่องจากยาจะช่วยให้หลับได้เร็วขึ้น ส่วนผู้ที่มีอาการตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้หรือหลับต่อได้ยาก แพทย์อาจให้รับประทานยาที่ออกฤทธิ์นานขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหลับได้ยาวนานตลอดทั้งคืน (ไม่ตื่นขึ้นมากลางดึก)

ตารางที่ 1 ยานอนหลับกลุ่ม benzodiazepines แบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์2,4

การแบ่งกลุ่ม

ออกฤทธิ์สั้น
(Short-acting)

ออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting)

ออกฤทธิ์ยาว
(Long-acting)

ระยะเวลาการออกฤทธิ์

2-5 ชั่วโมง

6-24 ชั่วโมง

มากกว่า 24 ชั่วโมง

ตัวอย่างยา

Triazolam

Midazolam

Alprazolam

Lorazepam

Oxazepam

Temazepam

Clonazepam

Diazepam

Flurazepam

Clorazepate

ส่วนยาอื่นที่อาจมีใช้เพื่อช่วยนอนหลับเช่นกัน ได้แก่ 1) ยากลุ่ม antihistamine หรือที่รู้จักกันว่าเป็นยาแก้แพ้ โดยยาที่มักใช้ช่วยนอนหลับ คือ diphenhydramine ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนได้มาก แต่ยาในกลุ่มนี้หากรับประทานเป็นระยะเวลานานจะทำให้วงจรการนอนหลับผิดปกติไป หรือตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น 2) ยากลุ่ม antidepressant หรือเรียกอีกอย่างว่ายาต้านซึมเศร้า ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนจึงอาจพบการใช้เพื่อช่วยนอนหลับได้บ้าง 3) melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากต่อมไพเนียล (pineal gland) ในสมอง และจะหลั่งมากในช่วงกลางคืน มีหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่น

ผลเสียจากยานอนหลับกลุ่ม benzodiazepine2,4

อาการข้างเคียงที่มักเกิด เช่น อาการง่วงยาวจนถึงตอนกลางวัน (hang over) หรือสูญเสียความทรงจำไปชั่วขณะ (anterograde amnesia) ทั้งนี้หลักการทั่วไปของการใช้ยานอนหลับกลุ่มนี้ คือ ไม่ควรใช้ยาในขนาดสูงและไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยส่วนมากแนะนำให้ใช้ไม่เกิน 4 สัปดาห์ เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันมักทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหลับด้วยตนเองจนจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยานอนหลับขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการติดยาได้

หยุดยานอนหลับผิดวิธี จะเกิดอะไรขึ้น2,6

หากผู้ป่วยใช้ยานอนหลับอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากใช้ยาในขนาดสูงแล้วหยุดยาทันทีหรือหักดิบ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยา (rebound insomnia) และจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ (withdrawal symptoms) โดยอาการทั่วไปที่มักเกิดแสดงในตารางที่ 2 นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยามานาน 1-6 เดือนแล้วหยุดยาทันที บางรายอาจทำให้มีอาการชักรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรค่อย ๆ ลดขนาดยาตามคำแนะนำของแพทย์

ตารางที่ 2 อาการถอนยา (withdrawal symptoms) จากการหยุดยานอนหลับแบบหักดิบ

พบบ่อย

อาการทั่วไป

ปวดหัว ใจสั่น เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ฝันร้าย

อาการในระบบกล้ามเนื้อ

ตัวสั่น มือสั่น

อาการในระบบทางเดินอาหาร

คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

พบไม่บ่อย

อาการทางระบบประสาท

การมองเห็นผิดปกติ หูอื้อ การรับรู้ไวผิดปกติ เช่น ไวต่อแสง ไวต่อเสียงการรับรสผิดปกติ

อาการรุนแรง

อาการทางระบบประสาท

ประสาทหลอน ชัก

ขั้นตอนเบื้องต้นในการหยุดยานอนหลับ2,5

  1. ปรับพฤติกรรมการนอน ทำให้สิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับการนอนหลับ เช่น นอนในห้องที่ไม่มีแสงหรือเสียงรบกวน ไม่เล่นโทรศัพท์ก่อนเข้านอนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ควรปรับเวลาเข้านอนให้เป็นเวลาประจำและไม่ควรดึกเกินไป
  2. เข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการเพิ่มหรือลดขนาดยานอนหลับต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษา การปรับขนาดยานอนหลับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ความเครียด พฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน ชนิดและขนาดยาที่ใช้ เป็นต้น
  3. ลดขนาดยานอนหลับตามคำแนะนำของแพทย์ โดยหลักการลดยาอาจแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

- ใช้ยาเดิม แต่ค่อย ๆ ลดขนาดยาช้า ๆ เช่น ลดจากขนาดยาเริ่มต้นครั้งละ 5-25% ทุก 1-4 สัปดาห์

- เปลี่ยนไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยาว โดยให้มีความแรงเทียบเท่ากับยาเดิม แล้วค่อย ๆ ลดขนาดยา

- ใช้ยาชนิดอื่น เช่น mirtazapine หรือ carbamazepine เข้ามาช่วยในช่วงที่ค่อย ๆ ลดขนาดยานอนหลับเดิม (adjunctive medication) เพื่อช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการถอนยา

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าการใช้ยานอนหลับอย่างไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียหลายประการ โดยเฉพาะจากการหยุดยาผิดวิธี ทั้งนี้การหยุดยานอนหลับอย่างปลอดภัยจำเป็นต้องใช้เวลาในการค่อย ๆ ลดขนาดยาทีละน้อย ๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดอาการถอนยาและเกิดอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าเดิม ส่วนการปรับพฤติกรรมการนอนโดยการเข้านอนให้เป็นเวลาและปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอนหลับถือเป็นสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับสามารถหยุดพึ่งยานอนหลับได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Sateia MJ, Buysse DJ, Krystal AD, Neubauer DN, Heald JL. Clinical practice guideline for the pharmacologic treatment of chronic insomnia in adults: An American Academy of Sleep Medicine Clinical Practice Guideline. J Clin Sleep Med. 2017;13(2):307-49.
  2. Brett J, Murnion B. Management of benzodiazepine misuse and dependence. Aust Prescr. 2015; 38(5):152-5.
  3. Srinivasan V, Pandi-Perumal SR, Trahkt I, Spence DW, Poeggeler B, Hardeland R, et al. Melatonin and melatonergic drugs on sleep: possible mechanisms of action. Int J Neurosci. 2009; 119(6):821-46.
  4. Griffin CE, Kaye AM, Bueno FR, Kaye AD. Benzodiazepine pharmacology and central nervous system-mediated effects. Ochsner J. 2013; 13(2):214-23.
  5. Ogbonna CI, Lembke A. Tapering Patients Off of Benzodiazepines. Am Fam Physician. 2017; 96(9):606-10.
  6. ดาวชมพู พัฒนาประภาพันธุ์. Benzodiazepine dependence [อินเทอร์เน็ต]. 2548 [สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/ files/public/pdf/Benzodiazepine%20Dependence.pdf.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยานอนหลับ อาการถอนยา หยุดยานอนหลับ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้