หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Omalizumab ข้อบ่งใช้ใหม่สำหรับอาการแพ้อาหาร

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 1,004 ครั้ง
 
Omalizumab ในชื่อการค้า Xolair® เป็นยาฉีดชีววัตถุชนิด recombinant humanized immunoglobulin G1 (IgG1) monoclonal antibody ที่จำเพาะต่อ Fc-epsilon-RI ซึ่งเป็น receptor ต่อ IgE ที่พบมากบน eosinophils, basophils และ mast cells และทำให้เกิดการหลั่ง histamine และ cytokines อื่น ๆ จนก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้น omalizumab จึงขัดขวางการจับของ IgE และ Fc-epsilon-RI ส่งผลทำลายวงจรการแพ้ผ่าน IgE (IgE-mediated allergy) โดยในปัจจุบัน omalizumab มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วย moderate-to-severe asthma, chronic rhinosinusitis with nasal polyps และ chronic spontaneous urticaria[1]

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุมัติข้อบ่งใช้ใหม่ของ omalizumab สำหรับการลดอาการแพ้ชนิดเฉียบพลัน (IgE-mediated) และแบบรุนแรง (anaphylaxis) สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ที่อาจสัมผัสหรือรับประทานอาหารที่แพ้ 1 ชนิดหรือมากกว่าโดยไม่ตั้งใจ การอนุมัติครั้งนี้ทำให้ omalizumab เป็นยาชนิดแรกที่ได้รับข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการแพ้อาหารมากกว่า 1 ชนิด (multifood allergen)[2] โดยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ omalizumab อ้างอิงจากการศึกษาแบบ randomized controlled trial ที่ชื่อ OUtMATCH ซึ่งทำในผู้ใหญ่และเด็กช่วงอายุ 1-55 ปี ที่มีประวัติแพ้ถั่วลิสงและอาหารอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 2 ชนิด เช่น นม ไข่ แป้งสาลี มะม่วงหิมพานต์ ถั่วเฮเซลนัท หรือถั่ววอลนัท ด้วยระยะเวลาศึกษา

16-20 สัปดาห์ แบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่ม omalizumab 75-200 mg ฉีดใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) ทุก 2-4 สัปดาห์ ตามระดับ serum IgE และน้ำหนักตัว และ 2) กลุ่มยาหลอก โดยทั้งสองกลุ่มจะรับประทานโปรตีนถั่วลิสง 600 มิลลิกรัมหรือมากกว่า (เทียบเท่าถั่วลิสง 2.5 เม็ด)[3] ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ omalizumab ลดการเกิดอาการแพ้ระดับกลางถึงรุนแรง (อาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร) ได้ 68% ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มยาหลอก (ลดลง 6%) ส่วนการทดสอบอาการแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ พบว่า omalizumab ลดการแพ้ระดับกลางถึงรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกในกลุ่มแพ้มะม่วงหิมพานต์ (42%, 3%) กลุ่มแพ้นม (66%, 11%) และกลุ่มแพ้ไข่ (67%, 0%) ตามลำดับ โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยสำหรับกลุ่มที่ได้รับ omalizumab ได้แก่ อาการไม่พึงประสงค์บริเวณที่ฉีดและมีไข้หลังฉีด

ทั้งนี้ผู้ได้รับ omalizumab ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เช่นเดิม เนื่องจาก omalizumab สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอาการแพ้ได้เมื่อได้รับยาเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถใช้รักษาอาการแพ้แบบเฉียบพลันได้[4]

เอกสารอ้างอิง

1. Kumar C, Zito PM. Omalizumab. [Updated 2023 Aug 17]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/ books/NBK545183/.

2. Omalizumab [package insert]. South San Francisco: Genentech, Inc.; 2024.

3. Wood RA, Chinthrajah RS, Rudman Spergel AK, et al. Protocol design and synopsis: Omalizumab as Monotherapy and as Adjunct Therapy to Multiallergen OIT in Children and Adults with Food Allergy (OUtMATCH). J Allergy Clin Immunol Glob. 2022;1(4):225-232. Published 2022 Jul 21. doi: 10.1016/j.jacig.2022.05.006.

4. Center for Drug Evaluation, Research. FDA Approves First Medication to Help Reduce Allergic Reactions to Multiple Foods After Accidental Exposure [Internet]. U.S. Food and Drug Administration. FDA; 2024 [cited 2024 Feb 17]. Available from: https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-approves-first-medication-help-reduce-allergic-reactions-multiple-foods-after-accidental.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
omalizumab แพ้อาหาร
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้