หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อาการปวดหลังช่วงล่าง (lower back pain) อาจมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรีย

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤษภาคม ปี 2556 -- อ่านแล้ว 8,132 ครั้ง
 
การศึกษาทางคลินิก แสดงให้เห็นว่าอาการปวดหลังช่วงล่าง (lower back pain) ที่เกิดหลังจากแผ่นรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และกระดูกสันหลังบวม มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรีย และสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

การศึกษาแรกทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อแผ่นรองกระดูกสันหลัง ในคนไข้แผ่นรองกระดูกสันหลังลัมบาร์ (lumbar) เคลื่อน 61 ราย โดยคนไข้ทุกรายมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไม่เคยได้รับการฉีดสเตียรอยด์ที่สันหลังและไม่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณหลังมาก่อน เมื่อนำตัวอย่างมาเพาะเชื้อ ร้อยละ 46 พบเชื้อแบคทีเรีย เป็นแบคทีเรียชนิด anaerobe ร้อยละ 43 และมีร้อยละ 7 ที่พบทั้งเชื้อชนิด aerobe และ anaerobe เชื้อแบคทีเรีย anaerobe ที่พบในตัวอย่างกว่าร้อยละ 86 คือเชื้อPropionibacterium acnes ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง รูขุมขน และเหงือกของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าคนไข้ร้อยละ 80 ที่ติดเชื้อ P. acnesจะเกิดกระดูกสันหลังบวมหลังจากการเกิดแผ่นรองกระดูกสันหลังเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.0038, OR = 5.60) ผู้ทำการศึกษาสันนิษฐานว่าการเกิดกระดูกสันหลังบวมอาจเกิดจากกระบวนการอักเสบที่มีต่อเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่คนไข้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิด aerobe และกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อใดๆ เลย ไม่เกิดอาการกระดูกสันหลังบวม

การศึกษาที่สอง เป็นการศึกษา double-blind randomized control trialศึกษาในคนไข้ 162 ราย ที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน หลังจากแผ่นรองกระดูกสันหลังเคลื่อนและกระดูกสันหลังบวม คนไข้ถูกสุ่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับ amoxicillin-clavulanate (500 mg/125 mg; Bioclavid) และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 100 วัน จากนั้นติดตามอาการต่อเป็นเวลา 1 ปี ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ มีอาการปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ วัดจากแบบทดสอบ Roland Morris Disability Questionnaire (RMDQ)ในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีอาการปวดเรื้อรังลดลงจากร้อยละ 73.5 เป็นร้อยละ 19.5 ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกลดลงจากร้อยละ 73.1 เป็นร้อยละ 67.2 (p < 0.001)

การศึกษาเหล่านี้เป็นการศึกษาเบิกทาง ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดอาการปวดหลังช่วงล่างได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไปได้ในอนาคต
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้