Loading…

อาหารจากเชื้อรา

อาหารจากเชื้อรา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ผกากรอง วนไพศาล

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

6,000 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2023-12-21

เชื้อราที่ขึ้นบนอาหารอาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นไม่ควรนำมารับประทาน แต่ทุกท่านทราบไหมว่า ปัจจุบันมีอาหารหลายชนิดที่ผลิตจากกระบวนการหมักจากเชื้อรา ก่อนนำไปผ่านกรรมวิธีทำให้สุกหรือกระบวนการอื่น ๆ ก่อนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราเห็น 

มาทำความรู้จักกับเชื้อราสักนิด .......

เชื้อราเป็นจุลชีพที่จัดอยู่ในอาณาจักรฟังไจ (fungi) มีทั้งที่เป็นชนิดเซลล์เดี่ยวและหลายเซลล์ ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยีสต์ (yeast) ราเส้นใย (mold) รวมทั้งเห็ด (mushroom) ชนิดต่าง ๆ ฟังไจบางชนิดสามารถผลิตเอนไซม์ย่อยสารโมเลกุลขนาดใหญ่ในอาหารให้มีขนาดเล็กลง สร้างสารเมแทบอไลต์ เพปไทด์ สารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ รวมทั้งสารยับยั้งจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่อาจปนเปื้อนในอาหาร ยีสต์และเชื้อราหลายชนิดจึงนำมาใช้ผลิตอาหารที่หลากหลาย เช่น ขนมปัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คอมบูชะ ชีส มิโซะ ซีอิ๊ว เทมเป้ สีผสมอาหาร เอนไซม์ กรดอินทรีย์ เป็นต้น

เชื้อราที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารได้

เชื้อราที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเหล่านี้ อาจผ่านการคัดเลือกมาจากการผลิตแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา หรือมีการค้นหาสายพันธุ์ใหม่ ๆ จากแหล่งอาหารหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เชื้อราที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารควรมีการระบุชนิดของสายพันธุ์ ศึกษาลำดับดีเอ็นเอ (DNA) ในจีโนม (genome) มีการระบุเอกลักษณ์ (identification) และการเรียกชื่อ (nomenclature) รวมถึงข้อมูลทั่วไปของจุลินทรีย์และทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ทดสอบความปลอดภัย ได้แก่ ประวัติการใช้ในอาหารอย่างปลอดภัย (History of safe use in the food) เช่น Bulletin of the International Dairy Federation (IDF) หรือผ่านการประเมินความปลอดภัยและอนุญาตสำหรับใช้ในการผลิตอาหาร เช่น Qualified Presumption of Safety (QPS) ของ European Food Safety Authority (EFSA) เป็นต้น ความสามารถในการก่อโรคของเชื้อจุลินทรีย์ (pathogenicity) ความรุนแรงของโรค (virulence) ความเป็นพิษต่อมนุษย์ (toxigenicity for humans) การทดสอบการมียีนดื้อยาปฏิชีวนะ หรือการถ่ายทอดยีนดื้อยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะยาที่มีความสำคัญทางคลินิก ด้วยวิธีการที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ  คุณสมบัติในการทนต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ คุณสมบัติในการสร้างแอลกอฮอล์ การสร้างกลิ่นรสต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติตามที่ต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เชื้อราเหล่านี้อาจมีการจำหน่ายทางการค้า หรือเป็นสายพันธุ์เฉพาะที่ผู้ผลิตศึกษาและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เฉพาะผู้ผลิตเท่านั้น จุลินทรีย์เหล่านี้ควรได้รับการประเมินความปลอดภัยด้านเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์ที่ใช้ในการผลิตอาหารก่อนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต

อาหารที่มาจากเชื้อรา

ตัวอย่างเชื้อราที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ยีสต์ Saccharomyces cerevisiae(แซ็กคาโรโมซีส เซรีวิซิอี) สามารถย่อยสลายน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ได้ จึงถูกที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากชนิด เรียกว่า brewer’s yeast ในขณะเดียวกัน S. cerevisiae บางสายพันธุ์สามารถสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีระหว่างการเจริญเติบโต ทำให้ขนมปังมีลักษณะนุ่มฟูเนื่องจากการสร้างฟองอากาศภายในจึงถูกนำมาใช้ในการผลิตขนมปัง ยีสต์ชนิดนี้จึงมีอีกชื่อว่า baker's yeast นอกจากนี้ ยีสต์แต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น ความทนกรด การทนน้ำตาลปริมาณสูง หรืออาจสร้างกลิ่นรสที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยีสต์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารได้ Penicillium roqueforti เป็นราเส้นใยสีเขียวอมฟ้าถูกนำมาใช้สำหรับผลิตบลูชีส (blue cheese) ซึ่งให้กลิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว ราเส้นใย Aspergillus oryzae หรือ Koji นำมาใช้ในการผลิต สาเก โชจู ซีอี๊ว และมิโสะ เป็นต้น

นอกจากการผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีอาหารพื้นบ้านหลายชนิดที่ผลิตมาจากเชื้อรา เช่น เทมเป้ อาหารพื้นถิ่นของประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดจากการนำถั่วเหลืองหรือธัญพืชที่ผ่านการต้มมาหมักด้วยเชื้อรา Rhizopus oligiosporus โดยนำถั่วเหลืองที่คลุกเคล้ากับหัวเชื้อราบรรจุในหีบห่อที่ให้อากาศผ่านได้เผื่อให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ระหว่างการเจริญเชื้อราจะสร้างเอนไซม์บางชนิดย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองให้เป็นโปรตีนหรือเพปไทด์สายสั้นลง หรือสร้างสารบางชนิดที่มีประโยชน์ เช่น ไรโบฟลาวิน (riboflavin) วิตามินบี3 วิตามินบี 6 เป็นต้น เมื่อเชื้อราเจริญเต็มที่จะเกิดเป็นก้อนเส้นใยสีขาวปกคลุมไปทั่วก้อนถั่วหลือง โดยใช้ระยะเวลา 1-3 วัน ขึ้นกับปริมาณหัวเชื้อ ถั่วเหลือง และสภาพแวดล้อมขณะหมัก หากขึ้นเส้นใยฟูสีขาวจนทั่วสามารถนำมาจัดเก็บในรูปแช่แข็ง หรือนำไปนึ่งหรือทอดก่อนรับประทาน หากหมักต่อไปอาจเกิดสีดำเนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตจนเข้าสู่ช่วงการสร้างสปอร์ กระบวนการหมักเทมเป้อาจมีจุลินทรีย์อื่นปนเปื้อนได้เนื่องจากเป็นกระบวนการหมักแบบเปิดจึงควรทำให้สุกก่อนรับประทาน ชาวอินโดนีเซียนิยมรับประทานเทมเป้เป็นแหล่งโปรตีนอาหารทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ ปัจจุบันมีการบริโภคเทมเป้ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชอย่างแพร่หลาย เครื่องดื่มชาหมักคอมบูชะก็มีส่วนของยีสต์ในกระบวนการหมักเช่นเดียวกัน โดยยีสต์จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอลหรือเปลี่ยนเป็นกรดอินทรีย์ คาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจุลินทรีย์อื่น ๆ จะทำหน้าที่เปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้เป็นกรดแอซีติกต่อไป 

ราบางชนิดมีคุณค่าทางโภชนการสูงจึงนำมาใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น ไมคอโปรตีน (mycoprotein) จากรา Fusarium venenatum เส้นใยจากราชนิดดังกล่าวได้นำมาเป็นโปรตีนและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อทางการค้าว่า Quorn โดยมีการศึกษาความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหาร โดยได้รับอนุญาตให้บริโภคและจัดจำหน่ายได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 Saccharomyces cerevisiae สามารถใช้เป็นโปรตีนจากเซลล์เดี่ยว (single cell protein) ได้ในสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 1997 

 

ในการใช้เชื้อราเพื่อการผลิตอาหาร ความปลอดภัยทางอาหารคือสิ่งที่ต้องคำนึง เชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารพิษได้ เช่น Aspergillus และ Penicillium บางสายพันธุ์สามารถสร้างสารพิษ เช่น อะฟลาทอกซิน อ็อคคร่าทอกซิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเฉียบพลันหรือเรื้อรังแก่ผู้บริโภคที่ได้รับสารพิษ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาของสารพิษที่ได้รับ จึงควรเลือกใช้หัวเชื้อราที่มีมาตรฐานการผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยา ตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและข้อกำหนดเงื่อนไขการใช้จุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตอาหาร ได้แก่ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของวัตถุเจือปนอาหารชนิดเดี่ยว เฉพาะหัวข้อ 2(5), 2(7), 2(8) และ 2(9) ข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานสำหรับจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตอาหาร ข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานสำหรับยีสต์สดจากยีสต์ แซ็กคาโรโมซีส เซรีวิซิอี เป็นต้น นอกจากนี้หากต้องการผลิตอาหารที่หมักด้วยจุลินทรีย์ไว้รับประทานเอง หรือผลิตภัณฑ์โฮมเมด (homemade) ควรคำนึงถึงสุขอนามัยระหว่างกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในสภาวะแวดล้อม ปนเปื้อนจากผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งวัตถุดิบหรือภาชนะ เพื่อให้ได้อาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัย และได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Ahnan-Winarno AD, Cordeiro L, Winarno FG, Gibbons J, Xiao H. Tempeh: A semicentennial review on its health benefits, fermentation, safety, processing, sustainability, and affordability. Compr Rev Food Sci Food Saf. 2021;20(2):1717-1767.
  2. Amara AA, El-Baky NA. Fungi as a Source of Edible Proteins and Animal Feed. J Fungi (Basel). 2023;9(1):73
  3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของวัตถุเจือปนอาหารชนิดเดี่ยว

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ผู้สูงอายุกับภาวะความอยากอาหารที่ลดลง 1 วินาทีที่แล้ว
ยาฆ่าเชื้อกินไม่ครบ ทำไมจึงดื้อยา 1 วินาทีที่แล้ว
การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า: คุณสมบัติที่ดีของสารไฮยาลูรอนิคที่ฉีดเข้าไปในช่องว่างระหว่างข้อ 5 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 5 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรป้องกันยุง 6 วินาทีที่แล้ว
มะรุม พืชที่ทุกคนอยากรู้ 9 วินาทีที่แล้ว
เปลี่ยนยาคุมกำเนิด ... ทำอย่างไรดี 9 วินาทีที่แล้ว
ยาล้างไต กับความเข้าใจผิดๆ 10 วินาทีที่แล้ว
โรคเกาต์ (gout) ดูแลอย่างไรดี 11 วินาทีที่แล้ว
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา 14 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล