Loading…

ติดหวาน ทำอย่างไรดี?

ติดหวาน ทำอย่างไรดี?

อาจารย์ ดร.ภญ.กัลยานี นุ่มโต

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4,993 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2023-11-04

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแสรักสุขภาพกำลังเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยม นอกจากวิธีการควบคุมการรับประทานอาหารในรูปแบบต่าง ๆ และการออกกำลังกาย ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่ต่างปรับตัวเป็นสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น อาทิ สูตรหวานน้อย หรือการใช้สารให้ความหวานอื่นแทนน้ำตาล เป็นต้น

ติดหวาน (sugar blues) คืออะไร เราเข้าข่ายติดหวานหรือการเสพติดน้ำตาลหรือไม่ ติดหวานคือร่างกายมีความต้องการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่เสมอ หากไม่ได้รับประทานจะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ขาดสมาธิและมีความโหยหาของที่มีรสชาติหวาน วิธีสังเกตอาการติดหวานมีดังนี้

1. รู้สึกอยากรับประทานแต่ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

2. เมื่อไม่ได้รับประทานอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาลจะรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด 

3. มีอาการหิวบ่อย หรือมักนึกถึงอาหารอยู่เสมอ

4. มีนิสัยรับประทานอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ

5. เติมน้ำตาลเพิ่มในอาหารคาวเกือบทุกจาน

6. ดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน มากกว่า 1 แก้วต่อวัน

แล้วความหวานเป็นอันตรายจริงหรือ 

ความเป็นจริงแล้วหากเราสามารถรับประทานน้ำตาลในระดับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ความหวานหรือน้ำตาลก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายและยังเป็นสารที่ให้พลังงานกับร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมักรับประทานน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับ เช่น หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี ต้องการพลังงานอยู่ที่ 1600 กิโลแคลอรี/วัน ดังนั้นปริมาณที่บริโภคน้ำตาลไม่ควรเกิน 160 กิโลแคลอรี หรือ 10 ช้อนชา/วัน (ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชา เท่ากับ 4 กรัม และน้ำตาล 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ดังนั้นน้ำตาล 1 ช้อนชา จะให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี) แต่ในผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากการบริโภคน้ำตาลที่มากเกิน WHO แนะนำว่าควรบริโภคน้ำตาลให้น้อยกว่า 5% ของพลังงานที่ควรได้รับ หรือประมาณ 5 ช้อนชา/วัน ซึ่งมีความสอดคล้องตามที่กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ ปริมาณน้ำตาลไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน ทั้งนี้หากต้องการลดความเสี่ยงจากโรคทางหัวใจและเมแทบอลิก (cardiometabolic disease) ซึ่งเป็นอันตรายจากผลข้างเคียงที่ตามมาจากการบริโภคน้ำตาล ควรจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้น้อยกว่า 1 แก้ว (ประมาณ 200-355 มิลลิลิตร) /สัปดาห์ ด้วย

รู้หรือไม่ว่าเครื่องดื่มต่าง ๆ มีน้ำตาลเท่าไหร่

           หากพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้รับประทานได้ที่ 6 ช้อนชา/วัน หรือไม่เกิน 24 กรัม/วัน อาจดูเหมือนว่าปริมาณดังกล่าวไม่ได้ดูน้อยมากจนเกินไป แต่ทราบหรือไม่ว่าเครื่องดื่มแต่ละชนิดให้น้ำตาลในปริมาณเท่าไหร่ต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์ เริ่มจากชานมไข่มุกซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 35-60 กรัม/แก้ว เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาล 34-40 กรัม/กระป๋อง และเครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน ชาชง หรือกาแฟต่าง ๆ ที่ระดับความหวานปกติจะมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 40-60 กรัม/แก้ว จะเห็นว่าหากรับประทานเครื่องดื่มดังกล่าวแค่วันละ 1 แก้ว โดยไม่ได้ลดความหวานลงปริมาณน้ำตาลก็เกินกว่าที่ควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว ทั้งนี้ยังไม่รวมน้ำตาลที่อยู่ในอาหารประเภทอื่น ๆ  อีก ดังนั้นหากต้องการลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดหวานเพื่อสุขภาพดีแบบยั่งยืน 

การปรับพฤติกรรมการติดหวาน

  1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา โดยให้มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนที่เหมาะสม
  2. หลีกเลี่ยงการบริโภคผลไม้แปรรูป หรือเครื่องดื่มแปรรูป เช่น น้ำผลไม้
  3. มีขวดน้ำเปล่าหรือแก้วน้ำที่ชื่นชอบโดยให้บรรจุน้ำเปล่าลงไปแล้ววางไว้ใกล้ตัว และให้จิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ 
  4. ค่อย ๆ ปรับความหวานลดลง โดยการสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย และงดการปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหารทุกมื้อ
  5. ลดการซื้อของหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานกักตุนไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน และเลือกซื้อของว่างที่มีประโยชน์แทน
  6. สังเกตปริมาณน้ำตาล และอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนการเลือกซื้อ 
  7. หากิจกรรมทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจในการอยากความหวาน เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เป็นต้น

Image by fabrikasimf on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Huang Y, Chen Z, Chen B, Li J, Yuan X, Li J, et al. Dietary sugar consumption and health: umbrella review. BMJ. 2023;381.
  2. Lee AA, Owyang C. Sugars, sweet taste receptors, and brain responses. Molecular nutrition: Carbohydrates. 2019:265-83.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ยารักษาโรคเบาหวาน ใช้อย่างไร 3 วินาทีที่แล้ว
ยาฆ่าเชื้อกับการตั้งครรภ์และให้นมบุตร 7 วินาทีที่แล้ว
ผลแลปจากการตรวจเลือด....มีความหมายว่าอย่างไร 8 วินาทีที่แล้ว
การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก (ตอนที่ 3) 12 วินาทีที่แล้ว
รู้ทันเรื่องโรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) 12 วินาทีที่แล้ว
การรักษาแผลเป็นโดยการใช้สารสกัดจากหัวหอม 12 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 16 วินาทีที่แล้ว
กรดผลไม้กับการลอกหน้าผลัดเซลล์ผิว 17 วินาทีที่แล้ว
บัวหลวง...สัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนา 18 วินาทีที่แล้ว
น้ำตาลทำให้แก่เร็ว..จริงหรือไม่ 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล