“ถาม-ตอบ” เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรค COVID-19
ดร.ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
143,853 ครั้ง เมื่อ 28 นาทีที่แล้ว | |
2021-09-02 |
** หมายเหตุ: เป็นการรวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 **
1. ถาม: สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ได้ที่ไหนบ้าง
ตอบ: ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ได้ดังนี้
1. ตรวจด้วยตนเองโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ประเภท Home use หรือ Self-test ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้จากคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์
2. เข้ารับการตรวจคัดกรองในสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี ATK (Professional use)
3. รับบริการจากหน่วยบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ดำเนินการโดยองค์กรหรือหน่วยงานทางสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี ATK (Professional use)
2. ถาม: การตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR และวิธี Antigen test kit (ATK) เหมือน หรือต่างกันอย่างไร
ตอบ: การตรวจทั้ง 2 วิธีจัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แต่สิ่งที่ต่างกันคือการด้วยวิธี real-time RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในขณะที่การตรวจด้วยวิธี ATK เป็นการตรวจหาชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อไวรัส ปัจจุบันการตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR จัดเป็นวิธีที่ใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อ (แต่สามารถใช้ตรวจคัดกรองได้) ในขณะที่วิธี ATK จัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ
การตรวจหาเชื้อทั้ง 2 วิธีสามารถตรวจได้ตั้งแต่ 3-5 วันหลังจากมีความเสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้สามารถตรวจได้เมื่อมีอาการป่วยที่สงสัยโรค COVID-19 และสามารถตรวจพบเชื้อได้นานถึง 10-15 วันหลังมีอาการ (ขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้ตรวจ)
3. ถาม: ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid test) ที่ตรวจหาเชื้อและตรวจหาแอนติบอดีต่างกันอย่างไร
ตอบ: ชุด Rapid test ที่ตรวจหาเชื้อหรือชุดตรวจ ATK เป็นการตรวจหาโปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 โดยใช้ตัวอย่างตรวจจากระบบทางเดินหายใจหรือน้ำลาย ในขณะที่ชุดตรวจแอนติบอดี (Antibody test kit) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโดยตรวจจากเลือด เมื่อสังเกตที่ตลับชุดตรวจจะเห็นว่าชุดตรวจ ATK จะมีสัญลักษณ์ให้อ่าน 2 แถบคือ C และ T ในขณะที่ชุดตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันจะมีสัญลักษณ์ให้อ่าน 3 แถบคือ C, G และ M (โดย G และ M หมายถึงชนิดของแอนติบอดีประเภท IgG และ IgM ตามลำดับ) สำหรับชุด ATK นั้นประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้ (ซึ่งต้องเป็นชุด Home use หรือ Self-test เท่านั้น) ในขณะที่ชุดตรวจแอนติบอดีประชาชนไม่ควรนำมาตรวจเพื่อใช้ตรวจคัดกรองการติดเชื้อ ความแตกต่างของชุด rapid test ทั้ง 2 แสดงดังภาพที่ 1
4. ถาม: ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) ในปัจจุบันมีกี่แบบและหาซื้อได้จากที่ไหน
ตอบ: ชุด ATK ในปัจจุบันมี 2 แบบคือ แบบใช้ในสถานพยาบาล (Professional use) และ แบบที่ประชาชนสามารถหาซื้อและนำมาตรวจด้วยตนเองได้ (Home use หรือ Self-test) โดยชุดตรวจ ATK แบบ Professional use นั้นประชาชนไม่สามารถซื้อหรือนำมาตรวจเองได้ จะต้องเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก (active case finding) ที่ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ชุดตรวจแบบ Home use หรือ Self-test ประชาชนสามารถหาซื้อมาตรวจด้วยตนเองได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้จากคลินิกเวชกรรมและคลินิกเทคนิคการแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อจากอินเทอร์เน็ตหรือผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูลชุดตรวจ ATK ประเภทต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์ของกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ATK สามารถเข้าอ่านได้ที่ บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เรื่อง “ข้อควรรู้เบื้องต้นเรื่อง “แอนติเจน เทสต์ คิท” เพื่อคัดกรองโรค COVID-19”
5. ถาม: การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody test) สามารถใช้คัดกรองโรค COVID-19 ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่แนะนำให้ใช้การตรวจ Antibody ในการคัดกรองโรค COVID-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ตรวจได้ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติหรือได้รับวัคซีนมาแล้ว นอกจากนี้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในช่วงระยะแรกที่ยังไม่มีการสร้าง antibody จะทำให้ได้ผลลบปลอมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนไม่ระมัดระวังในการป้องกันตนเอง อีกทั้งมีโอกาสเกิดผลบวกปลอมได้เมื่อติดเชื้อ coronavirus ชนิดอื่น ๆ ดังนั้นในการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ควรใช้วิธี real-time RT-PCR หรือ ATK จะดีที่สุด
6. ถาม: เมื่อผล real-time RT-PCR เป็น not detected หรือผล Antigen test kit (ATK) เป็นลบ (negative) มั่นใจได้หรือไม่ว่าไม่ได้ติดเชื้อหรือเป็นโรค COVID-19
ตอบ: ในกรณีที่การตรวจ real-time RT-PCR ให้ผล not detected หรือ การตรวจ ATK ให้ผลลบ (negative) สามารถแปลผลได้ดังนี้คือ ผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อ หรือ ผู้รับการตรวจติดเชื้อแต่เชื้อมีปริมาณน้อยมากจนไม่สามารถตรวจวัดด้วยเทคนิคข้างต้นได้ ดังนั้นการประเมินว่าเป็นผลจริงหรือไม่จะต้องอาศัยข้อมูลประวัติการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ตรวจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประเภทใด (เสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำหรือไม่เสี่ยง) หรือประวัติการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงประกอบการแปลผลด้วย ในกรณีผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เมื่อตรวจด้วย real-time RT-PCR ให้ผลเป็น not detected อาจต้องกักตัวและตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามข้อกำหนดที่ระบุในแนวทางแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมากจะตรวจซ้ำหลังจากตรวจครั้งแรก 7 วัน หรือ 13 วัน หลังจากวันสัมผัสผู้ป่วยยืนยันครั้งสุดท้าย ในกรณีที่ใช้ชุดตรวจ ATK ถ้ามีประวัติเสี่ยงหรือประวัติการสัมผัสผู้ติดเชื้ออาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่น 3-5 วัน และ ช่วง 10-14 วันหลังจากการตรวจครั้งแรกหรือตรวจอีกครั้งเมื่อมีอาการป่วยที่เข้าได้กับโรค COVID-19
7. ถาม: เมื่อตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ด้วยชุด Antigen test kit (ATK) แบบตรวจด้วยตนเอง (Self-test) ให้ผลบวกควรทำอย่างไร
ตอบ: ให้ถ่ายภาพผลการตรวจไว้เป็นหลักฐานทั้งนี้ควรระบุข้อมูลวันที่ตรวจ ชนิดตัวอย่างที่ใช้ตรวจรวมถึงยี่ห้อชุดตรวจ ATK ที่ใช้ จากนั้นให้ติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรักษาตามระบบต่อไป ใน กทม. สามารถติดต่อได้ที่ คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ต่างจังหวัดสามารถติดต่อได้ที่คลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) นอกจากนี้สามารถแจ้งต่อระบบออนไลน์ โทร. 1330 ได้เช่นกัน นอกจากนี้ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้ให้นิยามไว้ว่า “ผู้ป่วยที่ให้ผล ATK เป็นบวกจะเรียกว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case)” ซึ่งสามารถเข้าสู่การรักษาในระบบ home isolation ได้อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยต้องการเข้ารับการรักษาใน community isolation, hospitel หรือโรงพยาบาลจะต้อง ลงนามยินยอมเข้ารับการรักษารวมถึงตรวจ real-time RT-PCR ควบคู่ด้วย
8. ถาม: ผลบวกปลอมหรือผลลบปลอมจากการตรวจคัดกรองด้วย Antigen test kit (ATK) มีสาเหตุมาจากอะไร
ตอบ: 1. ผลบวกปลอม หมายถึง ผู้เข้ารับการตรวจไม่ได้เป็นโรค COVID-19 แต่ตรวจด้วย ATK ให้ผลบวก ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจมาจากการปนเปื้อนบริเวณพื้นที่ที่ตรวจหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตรวจ นอกจากนี้ยังมาจากการติดเชื้อจุลชีพอื่น ๆ ผู้ทดสอบอาจดำเนินการตรวจตามขั้นตอนไม่ถูกต้อง เช่นการอ่านผลเกินเวลา เป็นต้น 2. ผลลบปลอม หมายถึง ผู้เข้ารับการตรวจเป็นโรค COVID-19 แต่ตรวจด้วย ATK ให้ผลลบ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอาจมาจากตรวจในระยะแรกของการติดเชื้อที่มีปริมารไวรัสต่ำ ช่วงเวลาตรวจไม่เหมาะสม ผู้ป่วยที่เป็นโรค COVID-19 ที่แสดงอาการอยู่แต่ปริมาณไวรัสลดลงแล้ว เก็บตัวอย่างตรวจไม่ถูกต้อง หรือ ดำเนินการทดสอบไม่ถูกต้องตามขั้นตอนเป็นต้น
ทั้งนี้กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจต้องใช้ประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าร่วมการประเมินและอาจต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ ควบคู่เช่นการทำ real-time RT-PCR เป็นต้น
9. ถาม: ผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาครบกำหนดแล้วจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก่อนกลับบ้านหรือไม่
ตอบ: ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้ให้ข้อมูลว่าไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในผู้ป่วยก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ป่วยออกจากสถานพยาบาลเนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรักษา นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วอาจตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ในสิ่งส่งตรวจจากระบบทางเดินหายใจซึ่งอาจตรวจพบได้นานถึง 50 วัน อย่างไรก็ตามสารพันธุกรรมที่พบในผู้ป่วยที่มีอาการมานานแล้วอาจเป็นเพียงซากสารพันธุกรรมของเชื้อหรือซากเชื้อที่หลงเหลืออยู่และการตรวจพบสารพันธุกรรมในผู้ป่วยหลังพ้นระยะกักตัวไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยยังแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่รักษาครบตามกำหนดและหายจากโรคนี้แล้วยังคงต้องปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
10. ถาม: การฉีดวัคซีนมีผลต่อการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธี real-time RT-PCR หรือวิธี Antigen test kit (ATK) หรือไม่
ตอบ: การรับวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดผลบวกลวงหรือผลบวกปลอมเมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค real-time RT-PCR หรือ ATK แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสามารถตรวจพบแอนติบอดีต่อโรค COVID-19 ได้ในกระแสเลือดเมื่อเวลาผ่านไปในระยะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามถ้าผู้ที่ได้รับวัคซีนให้ผล real-time RT-PCR เป็น detected หรือ ATK เป็นผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 2 วินาทีที่แล้ว | |
กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น 4 วินาทีที่แล้ว | |
ภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก (multisystem inflammatory syndrome in children; MIS-C) 5 วินาทีที่แล้ว | |
เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนแซด คืออะไร 5 วินาทีที่แล้ว | |
ยาลดไขมันในเลือด : ตอนยาลดไตรกลีเซอไรด์ 11 วินาทีที่แล้ว | |
ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง 20 วินาทีที่แล้ว | |
ผิวสวยและสุขภาพแข็งแรงด้วยวิตามิน 28 วินาทีที่แล้ว | |
CRISPR/Cas9 ความหวังใหม่สำหรับการรักษาโรคต่างๆ ในระดับสารพันธุกรรม 30 วินาทีที่แล้ว | |
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 33 วินาทีที่แล้ว | |
ยาลดความอ้วน…สำหรับใคร? 39 วินาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome