Loading…

ปวดสะโพกร้าวลงขา หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทจริงหรือไม่

ปวดสะโพกร้าวลงขา หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทจริงหรือไม่
อาจารย์ ดร. กภ. ยิ่งรัก บุญดำ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
128,911 ครั้ง เมื่อ 3 ช.ม.ที่แล้ว
2020-12-23

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา เป็นอาการที่พบได้บ่อยในบุคคลที่นั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน มีการทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องยกของหนัก มีการเคลื่อนไหวของลำตัวในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง มีภาวะอ้วน หรือสตรีตั้งครรภ์ อาการปวดจะเริ่มจากบริเวณหลังส่วนล่างซีกใดซีกหนึ่งและไล่ลงมายังสะโพก ก้น ต้นขาด้านหลัง น่อง และอาจร้าวไปถึงบริเวณข้อเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าได้ โดยในบางรายอาจจะมีอาการชา รู้สึกเสียวซ่า บริเวณเท้าและนิ้วหัวแม่เท้าร่วมด้วย ความผิดปกติที่ปรากฏนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “ไซอาติกา (Sciatica)” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคปวดสะโพกร้าวลงขา”

ไซอาติกา เป็นอาการปวดสะโพกร้าวลงขาที่มีสาเหตุจากการที่เส้นประสาทไซอาติก (Sciatic nerve) เกิดการบาดเจ็บ ระคายเคือง หรือมีการอักเสบ อันเนื่องมาจากการถูกกดทับหรือโดนหนีบ เส้นประสาทไซอาติกเป็นเส้นประสาทที่ยาวที่สุดในร่างกายและมีขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งนิ้วชี้ เกิดจากการรวมตัวกันของเส้นประสาทไขสันหลังระดับเอวที่ 4-5 และระดับกระเบนเหน็บ 1-3 โดยเส้นประสาททั้ง 5 เส้นจะรวมตัวกันเป็นเส้นประสาทไซอาติกข้างซ้ายและขวาบริเวณหน้าต่อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส (Piriformis) ข้างนั้น ๆ จากนั้นเส้นประสาทไซอาติกจะวิ่งทอดยาวผ่านสะโพก ก้น ต้นขาด้านหลัง ไปสิ้นสุดที่บริเวณข้อพับเข่า และแตกแขนงเป็นเส้นประสาทสาขาวิ่งยาวไปยังบริเวณขา เท้า และนิ้วหัวแม่เท้า
สาเหตุของอาการปวดส่วนใหญ่ (85%) เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ส่วนสาเหตุอื่นอาจเกิดจากการมีกระดูกงอกหรือโพรงกระดูกแคบลง ภาวะกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน หรือมีถุงน้ำบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็สามารถกดทับเส้นประสาทไซอาติกได้เช่นเดียวกัน โดยอาการปวดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทไซอาติกจะแย่ลงเมื่อมีการยืน เดิน หรือนั่งเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยหลายรายพบว่าอาการปวดที่ปรากฏเกิดจากการบาดเจ็บหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิส เนื่องจากการนั่งเป็นระยะเวลานาน การใส่สิ่งของบริเวณกระเป๋ากางเกงด้านหลัง หรือการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้มากเกินไปซึ่งพบได้ในนักวิ่ง การบาดเจ็บและอักเสบของกล้ามเนื้อส่งผลให้กล้ามเนื้อมีอาการบวม เกิดการหดเกร็ง จึงกดหนีบเส้นประสาทไซอาติกซึ่งวางตัวอยู่หน้าต่อกล้ามเนื้อได้ โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสจะมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณก้นและสะโพก ปวดขณะเดินขึ้นบันได ปวดหลังจากตื่นนอน ปวดเมื่อนั่งเป็นระยะเวลานาน และอาการปวดบริเวณบริเวณก้นจะแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าไซอาติกาสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการให้การรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด
  1. การประคบร้อน ประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบ
  2. การให้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxant) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือ ยากลุ่มกันชัก (anticonvulsant) และยาต้านเศร้า (antidepressant) เพื่อรักษาอาการปวดจากการที่มีกระแสประสาทผิดปกติ (neuropathic pain)
  3. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อกล้ามเนื้อพิริฟอร์มิสและกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง เพื่อบรรเทาอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  4. การรักษาทางกายภาพบำบัด
  5. การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการรักษาท่าทางของร่างกายให้ถูกต้อง
  6. การผ่าตัด

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Ropper AH, Zafonte RD. Sciatica. N Engl J Med. 2015;372(13):1240-8.
  2. Ostelo RW. Physiotherapy management of sciatica. J Physiother. 2020;66(2):83-8.
  3. Cass SP. Piriformis syndrome: a cause of nondiscogenic sciatica. Curr Sports Med Rep. 2015;14(1):41-4.
  4. Davis D, Maini K, Vasudevan A. Sciatica. [Updated 2020 Nov 20]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2020 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507908
  5. Cleveland clinic. Sciatica [Internet]. [cited 2020 Dec 18]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12792-sciatica

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

เครียดเรื้อรัง ทำอย่างไรดี 3 วินาทีที่แล้ว
เชื้อที่มากับมลพิษในอาคาร: รา 7 วินาทีที่แล้ว
ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 9 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 12 วินาทีที่แล้ว
โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 3) โรคฉี่หนู 12 วินาทีที่แล้ว
การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 4 : กลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี โมลนูพิราเวียร์ และยาอื่น 12 วินาทีที่แล้ว
โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 2) น้ำกัดเท้าและข้อควรปฏิบัติ 14 วินาทีที่แล้ว
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ อีโคไล (E. coli) 18 วินาทีที่แล้ว
ไซลาซีน (Xylazine) ยาสลบสำหรับสัตว์ที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด 21 วินาทีที่แล้ว
ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (เบาหวานขึ้นตา) 23 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล