ยาในน้ำนมแม่ ตอนที่ 2 : ยารักษาโรคเบาหวาน
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
|
22,618 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว | |
2020-08-06 |
น้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อทารกมาก มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและยังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารก ทารกควรได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารอื่นเพิ่มควบคู่กับการดื่มนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่ควรหยุดให้นมทารกในช่วงเวลาที่กล่าวมาโดยไม่จำเป็น ในกรณีที่จำต้องใช้ยาซึ่งแม้ว่ายาส่วนใหญ่ถูกขับออกทางน้ำนมได้ แต่มักมีปริมาณต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อทารกที่ดื่มนมแม่ มียาเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่ต้องระวังเป็นพิเศษหรือห้ามใช้ในช่วงที่ให้นมทารก ด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่ควรเป็นกังวลมากเกินไปจนไม่ยอมใช้ยาหรือมีการใช้ยาแต่หยุดให้นมทารก ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานในแม่ที่ให้นมทารก ยารักษาโรคเบาหวานกลุ่มต่าง ๆ พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับยาในน้ำนมแม่ และยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารก
ภาพจาก : https://www.fda.gov/media/90183/download
โรคเบาหวานในแม่ที่ให้นมทารก
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาล (ซึ่งหมายถึงกลูโคส) ในเลือดสูงเกินอย่างเรื้อรัง เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากมาย อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยเบตาเซลล์ในตับอ่อน ทำหน้าที่พากลูโคสเข้าสู่ภายในเซลล์เพื่อไปใช้ประโยชน์ จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย รับประทานอาหารได้มากแต่ไม่อ้วน ชาปลายมือปลายเท้า แผลจะหายยาก ตามัว โรคเบาหวานอาจแบ่งออกเป็น (1) โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ พบได้ตั้งแต่วัยเด็ก (2) โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด มักเริ่มพบเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักมากเกิน และ (3) โรคเบาหวานที่เกิดในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมาก่อน ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นชนิดใดในช่วงที่ให้นมทารกจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น เนื่องจากการให้นมทารกจะช่วยลดปริมาณกลูโคสในเลือดแม่ ช่วยกำจัดแคลอรี่ส่วนเกิน ทำให้แม่มีน้ำหนักตัวลดลง เซลล์ร่างกายไวต่อฤทธิ์อินซูลินมากขึ้นทำให้นำกลูโคสไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้นมทารกยังลดอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ก่อนแล้ว
ยารักษาโรคเบาหวาน
ในการรักษาโรคเบาหวานต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นหลัก หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีพอจึงมีการใช้ยาร่วมด้วย ยารักษาโรคเบาหวานมีมากมาย ยามีความแตกต่างกันในด้านการออกฤทธิ์ ระยะเวลาที่ยาให้ผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลไม่พึงประสงค์ เป็นต้น มีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวานมากกว่า 1 ชนิดในการควบคุมระดับน้ำตาล ยารักษาโรคเบาหวานมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน
ยารักษาโรคเบาหวานชนิดฉีด แยกตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
ยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน แยกตามการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารก
ยารักษาโรคเบาหวานมีมากมาย ยาถูกขับออกทางน้ำนมได้มากหรือน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับคุณสมบัติของยาแต่ละชนิดและขนาดยาที่แม่ได้รับ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณยาในน้ำนมแม่ได้ในเรื่อง “ยาใน น้ำนมแม่ ตอนที่ 1 : ยาลดความดันโลหิต”) ยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้ในแม่ช่วงให้น้ำนมทารกได้นั้น ควรเป็นยาที่มีข้อมูลการศึกษามาแล้ว ได้แก่ ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งแม้ว่าอินซูลินถูกขับออกทางน้ำนมได้แต่จะถูกทำลายในทางเดินอาหารของทารกจึงไม่ส่งผลเสียต่อทารก ยาชนิดรับประทานที่อยู่ในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (ไกลพิไซด์และไกลเบนคลาไมด์) และเมตฟอร์มิน ซึ่งยาเหล่านี้ในขนาดที่ใช้ทั่วไปถูกขับออกทางน้ำนมได้น้อยและไม่ส่งผลเสียต่อทารก ส่วนยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแอลฟากลูโคซิเดส (อะคาร์โบสและโวกลิโบส) แม้ไม่มีข้อมูลการศึกษาในแม่ที่ให้นมทารก แต่ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ดี คาดว่าพบยาในน้ำนมได้น้อยมากหรือไม่พบเลย จึงใช้กับแม่ช่วงให้น้ำนมทารกได้โดยไม่น่าจะส่งผลเสียประการใดต่อทารก อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแม้จะใช้ยาที่กล่าวข้างต้นได้ แต่มีคำแนะนำให้ใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฝ้าระวังผลไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารก เช่น ง่วงซึม เหงื่อออกมาก ซีด อิดโรย อาการสั่น หรือความผิดปกติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแม่ต้องให้นมทารกแรกคลอดหรือทารกที่คลอดก่อนกำหนดซึ่งยังกำจัดยาได้ไม่ดี นอกจากนี้ควรติดตามวัดระดับน้ำตาลในเลือดของทารกรายที่สงสัยว่าอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่วนยาอื่นที่ไม่มีข้อมูลการศึกษาในแม่ที่ให้นมทารก ควรหลีกเลี่ยงไปใช้ยาทางเลือกอื่นที่มีข้อมูลมากกว่า แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านั้นเนื่องจากไม่มียาทางเลือกอื่น อาจพิจารณาเลือกยาที่จับกับโปรตีนในพลาสมาได้ดีกว่ายาอื่น หรือยาที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้นกว่ายาอื่น ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาความเจ็บป่วยและต้องได้รับยา ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่าท่านอยู่ระหว่างเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง
เมลาโทนิน (melatonin) ตัวช่วยนอนหลับยอดฮิต 1 วินาทีที่แล้ว | |
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 วินาทีที่แล้ว | |
แกงเลียง อาหารเป็นยา 8 วินาทีที่แล้ว | |
อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน 14 วินาทีที่แล้ว | |
ไม้กฤษณา (ไม้หอม): ไม้ทรงคุณค่า ตอนที่ 1 14 วินาทีที่แล้ว | |
ยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บ 14 วินาทีที่แล้ว | |
โรคเกาต์กับเกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร 24 วินาทีที่แล้ว | |
ธาลัสซีเมีย (Thalassemia)...กินอย่างไรให้เหมาะสม 25 วินาทีที่แล้ว | |
ยารักษาโรคเท้าเหม็นจากเชื้อแบคทีเรีย 33 วินาทีที่แล้ว | |
ภาชนะเก็บยา..ที่ถูกต้องตามตำรายา 37 วินาทีที่แล้ว |
|
HTML5 Bootstrap Font Awesome