Loading…

การตรวจอุจจาระ

การตรวจอุจจาระ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนพ. เมธี   ศรีประพันธ์

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

7,815 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2023-10-30

นอกเหนือจากการตรวจเลือดและปัสสาวะแล้ว การตรวจอุจจาระยังเป็นหนึ่งในการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานที่ถูกบรรจุในโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีเช่นเดียวกัน ในบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการและการเตรียมตัวและการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ

เราตรวจอุจจาระไปเพื่ออะไร?

การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยวินิจฉัยและคัดกรองโรคในผู้ที่มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้องร่วมกับถ่ายเหลว หรือเมื่อสงสัยภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทั่วไปการตรวจอุจจาระมักมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. ตรวจการติดเชื้อหนอนพยาธิหรือพยาธิโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุของภาวะท้องเสียและท้องร่วง โดยการตรวจหาไข่หนอนพยาธิ ตัวหนอนพยาธิ หรือ พยาธิโปรโตซัว 
  2. ตรวจหาเชื้อจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหารด้วยการเพาะเชื้อหรือตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ
  3. ตรวจหาสารพิษของเชื้อจุลชีพที่เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินอาหาร
  4. ตรวจคัดกรองผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อจุลชีพก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร
  5. ตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อบ่งชี้ความผิดปกติที่อาจพบในระบบทางเดินอาหารหรือระบบขับถ่ายอุจจาระ เช่น การตรวจหาภาวะเลือดออกหรือเลือดแฝงในอุจจาระที่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น การอักเสบของลำไส้ แผลในระบบทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น

การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ

การตรวจอุจจาระในห้องปฏิบัติการจะตรวจสอบทางกายภาพ ทางเคมี ทางจุลชีววิทยา ได้แก่

1. การตรวจสอบทางกายภาพ เป็นการสังเกตอุจจาระด้วยตาเปล่า เพื่อดูสี ความอ่อนหรือแข็ง การมีมูกและเลือดปนเปื้อน รวมถึงการดูตัวเต็มวัยของพยาธิที่อาจหลุดออกมาพร้อมอุจจาระ รวมถึงการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการหาตัวอ่อนหรือไข่หนอนพยาธิรวมทั้งพยาธิโปรโตซัวที่อาจพบได้ในอุจจาระรวมถึงดูสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ  ที่ปนในอุจจาระ เช่น อาหารที่ไม่ถูกย่อย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ตลอดจนแบคทีเรีย เชื้อราหรือยีสต์ เป็นต้น

2. การตรวจสอบทางเคมี เช่น การตรวจหาเลือดปริมาณน้อยในอุจจาระ (Fecal occult blood test)            การตรวจหาไขมัน น้ำตาล pH ในอุจจาระ เป็นต้น

3. การตรวจสอบทางจุลชีววิทยา เป็นการเพาะเชื้อจากอุจจาระเพื่อหาเชื้อจุลชีพก่อโรคในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องเสียในผู้ป่วยรวมถึงการตรวจหาผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อจุลชีพบางชนิดในระบบทางเดินอาหาร เช่น การตรวจหาพาหะของเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) เป็นต้น นอกจากนี้ตัวอย่างอุจจาระยังสามารถนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ เช่น ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อจุลชีพก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ตรวจหาสัดส่วนของเชื้อจุลชีพชนิดต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงตรวจหาสารพิษที่สร้างจากเชื้อจุลชีพบางชนิด เช่น สารพิษของเชื้อคลอสตริดิออยดีส ดิฟฟิไซล์ (Clostridioides difficile) เป็นต้น

การเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจทำอย่างไร?

การเตรียมตัวก่อนเก็บอุจจาระ

ผู้ที่ต้องการส่งอุจจาระตรวจสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติและควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อไม่ให้อุจจาระแข็งจนเกินไป ในผู้ที่เคยตรวจระบบทางเดินอาหารหรือตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสงมาก่อนควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 - 7 วัน จึงเก็บอุจจาระส่งตรวจ นอกจากนี้ ควรเก็บอุจจาระก่อนได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาแก้ท้องเสีย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาระบายที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน รวมถึงยาที่มีสารบางชนิดผสมอยู่ เช่น บิสมัส (bismuth) ชาร์โคล (charcoal) คาโอเพคติน (kaopectin) หรือ แบเรียม (barium) เป็นต้น เนื่องจากยาเหล่านี้อาจรบกวนการตรวจอุจจาระได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการตรวจหาเชื้อหนอนพยาธิหรือพยาธิโปรโตซัว

ขั้นตอนการเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ

การเก็บตัวอย่างอุจจาระได้ด้วยตนเอง ก่อนการเก็บอุจจาระควรล้างมือให้สะอาดและปัสสาวะให้เรียบร้อยเพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของปัสสาวะในขณะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ รวมถึงตรวจสอบภาชนะหรือกระปุกเก็บอุจจาระว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สะอาด ปราศจากรอยร้าวหรือรอยรั่ว นอกจากนี้ ควรตรวจสอบชื่อรวมถึงรหัสประจำตัวผู้ป่วยที่ปิดข้างภาชนะเก็บตัวอย่างให้ตรงกับชื่อผู้เก็บตัวอย่างทุกครั้ง ในกรณีที่ไม่มีป้ายชื่อติดที่ภาชนะเก็บตัวอย่าง ควรเขียนชื่อที่ภาชนะเก็บตัวอย่างให้ชัดเจน จากนั้นจึงดำเนินการเก็บอุจจาระตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้างแห้งสะอาดหรือถ่ายลงบนโถส้วมในส่วนที่สะอาดและแห้งหรือถ่ายบนพลาสติกสำหรับห่อหุ้มที่วางพาดบนโถส้วมเพื่อไม่ให้อุจจาระตกลงน้ำ
  2. ใช้ไม้ขนาดเล็ก (ลักษณะคล้ายไม้พายขนาดเล็กหรือไม้ไอศกรีม) หรือช้อนพลาสติก ป้ายหรือตักอุจจาระเก็บใส่ในภาชนะหรือกระปุกเก็บตัวอย่าง โดยปริมาณของอุจจาระที่เหมาะสมในการส่งตรวจคือ ประมาณนิ้วหัวแม่มือ  หรือประมาณ 4-5 กรัม (ในกรณีที่อุจจาระเหลวสามารถถ่ายลงในภาชนะเก็บตัวอย่างได้โดยตรง)
  3. ควรเก็บอุจจาระให้กระจายทั่วก้อนที่ถ่ายออกมา นอกจากนี้ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระที่ออกมาด้วยไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น (อุจจาระของคนปกติจะไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นน้อยมาก) ความหนืด รูปร่าง การจับเป็นก้อน รวมถึงสิ่งเจือปนอื่น ๆ ที่อาจพบได้เช่น มูก หนอง เลือด หรือตัวพยาธิ เป็นต้น 
  4. ในกรณีที่พบความผิดปกติในอุจจาระ เช่น หนอง มูก เลือด หรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นหนอนพยาธิควรเลือกเก็บในส่วนนั้นเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  5. ภายหลังการเก็บอุจจาระใส่ภาชนะสำหรับส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว ควรปิดภาชนะให้สนิทเพื่อป้องกันการหกหรือรั่วไหลของตัวอย่างตรวจ จากนั้นล้างมือให้สะอาด 
  6. นำตัวอย่างอุจจาระที่เก็บได้ส่งห้องปฏิบัติการทันที แต่ถ้าไม่สามารถส่งได้ ควรนำตัวอย่างอุจจาระเก็บตู้เย็นช่องธรรมดาโดยหลีกเลี่ยงช่องเก็บอาหารและน้ำดื่มและไม่ควรเก็บนานเกิน 24 ชั่วโมง 
  7. ในกรณีที่เป็นการเก็บอุจจาระเพื่อการเพาะเชื้อหรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ  ควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์

Image by Racool_studio on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ชวนพิศ วงศ์สามัญ, กล้าเผชิญ โชคบำรุง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 17. ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์; 2554. 
  2. ฐิติมนรัตน์ ดวงจันทร์ดา. วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานปรสิตวิทยาทางการแพทย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2558. 
  3. พรรณี พิเดช, ประภพ ด่านเศรษฐกุล, เลอสรร สุวรรณฑล. ความรู้เรื่องสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สายสี่การพิมพ์; 2547.
  4. ศูนย์ตรวจสุขภาพเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป: ขั้นตอนและวิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ/อุจจาระ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ [เข้าถึงเมื่อ 17 ก.ย. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/goabroad/th/news/announcement/05302019-1510-th
  5. สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย. เทคนิคการแพทย์กับสุขภาพของประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ; 2550.
  6. Brunzel NA. Fundamentals of urine & body fluid analysis. 5th ed. St. Louis, Missouri, USA: Elsevier; 2023.
  7. Pritt BS, Couturier MR, section editors. Parasitology. In: Leber AL, Burnham C-AD, editors in chief. Clinical microbiology procedures handbook volume 3. 5th ed. Washington, D.C., USA: ASM Press; 2023.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ตกขาว .. รักษาอย่างไร 1 วินาทีที่แล้ว
รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 2 วินาทีที่แล้ว
ยาตีกันในผู้ป่วยโรคมะเร็ง 5 วินาทีที่แล้ว
ลดความอ้วนและไขมันในเลือดสูงด้วยผักพื้นบ้านไทย 6 วินาทีที่แล้ว
10 อันดับอาหารที่มีโปแทสเซียมสูง กับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ 10 วินาทีที่แล้ว
โรคจีซิกพีดี...ยาและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง 11 วินาทีที่แล้ว
เทมเป้ (Tempeh) อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ 11 วินาทีที่แล้ว
“ตดหมูตดหมา” เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือ? 13 วินาทีที่แล้ว
ยาเม็ดคุมกำเนิด : ข้อควรระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นที่รบกวนประสิทธิภาพและความปลอดภัย 1 นาทีที่แล้ว
กินอะไร เลี่ยงอะไร ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล