Loading…

น้ำตาเทียมกับ “ตาแห้ง”

น้ำตาเทียมกับ “ตาแห้ง”
นศภ. จิรัชญา เตชะพิริยะกุล นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
43,904 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2014-10-10
น้ำตาในคนปกติประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ basic tear (คือน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา มีหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่กระจกตาและทำให้ไม่ระคายเคือง) และ reflex tear (เป็นน้ำตาที่หลั่งเมื่อระคายเคือง)อาการ “ตาแห้ง” เป็นภาวะที่น้ำตาหรือน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา (basic tear) แห้งหรือลดลงผิดปกติ (1) เกิดได้จากหลายสาเหตุแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ 1 เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะพร่องน้ำตา ได้แก่ กลุ่มอาการ Sjögren ต่อมน้ำตาทำงานบกพร่อง ท่อต่อมน้ำตาอุดตัน ยาบางชนิดมีผลลดการผลิตน้ำตา (เช่น ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาจิตเวช) เป็นต้น และกลุ่มที่ 2 เป็นสาเหตุให้เกิดการระเหยของน้ำตา เช่น โรคของต่อมไมโบเมียน (Meibomian gland disease) โรคหรือภาวะที่ทำให้มีอัตราการกระพริบตาน้อยกว่าปกติ (เช่น กลุ่มอาการ extrapyramidal การจ้องมองหน้าจอหรือเลนส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน) อายุมากขึ้น การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ภาวะพร่องวิตามินเอ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น นอกจากนี้สภาพแวดล้อมบางสภาวะอาจทำให้เกิดอาการตาแห้งเนื่องจากน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาระเหยได้ง่าย เช่น การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัด ลมแรง หรืออากาศแห้ง (1-3) อาการเบื้องต้นที่เป็นสัญญาณของอาการตาแห้ง ได้แก่ อาการระคายเคืองคล้ายมีเศษผงเข้าตาแสบตาความรู้สึกเหนอะหนะตา ตามัวเป็นๆ หายๆ มีอาการมากตอนบ่ายหรือตอนเช้า หรือเมื่อใช้สายตามากต่อเนื่องนาน ๆ เป็นต้น หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาหรือแก้ไขสาเหตุที่ถูกต้อง อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ (1,2)
น้ำตาเทียมเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้ง มีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์น้ำตาเทียมที่มีขายในประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ สารละลาย เจล และขี้ผึ้ง ซึ่งแต่ละรูปแบบต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันไปดังแสดงในตารางที่ 1

ส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียมในรูปแบบสารละลายและเจล ได้แก่ สารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น methylcellulose, carboxymethylcellulose, hydroxyethylcellulose, hydroxypropyl methylcellulose, dextran, polyvinyl alcohol, sodium hyaluronate, polyethylene glycol, carbomer เป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยบัฟเฟอร์เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงและควบคุมความเป็นกรด-ด่างของน้ำตาเทียมให้เข้ากับความเป็นกรด-ด่างของน้ำตา เช่น boric acid และ sodium borate สารปรับสภาพตึงตัวเพื่อปรับ osmolarity ของน้ำตาเทียมให้เข้ากับน้ำตา ที่นิยมใช้คือ sodium chloride สารอิเล็กโทรไลต์อื่น ๆ เพื่อทำให้น้ำตาเทียมมีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตา เช่น calcium chloride, magnesium chloride, potassium chloride, sodium lactate เป็นต้น และสารกันเสีย เช่น benzalkonium chloride ส่วนน้ำตาเทียมรูปแบบขี้ผึ้งประกอบด้วยสารช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เช่น lanolin, white petrolatum, mineral oil เป็นต้น และอาจใส่หรือไม่ใส่สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ (4)
น้ำตาเทียมที่นิยมใช้กันในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบสารละลาย แบ่งตามลักษณะภาชนะบรรจุได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ภาชนะบรรจุแบบ multiple dose และ unit dose ดังแสดงในรูปที่ 1 น้ำตาเทียมที่บรรจุในภาชนะแบบ multiple dose สามารถใช้ได้หลายครั้งหลังเปิดขวดเนื่องจากมีสารกันเสียในตำรับทำให้สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังเปิดขวดใช้ครั้งแรก ส่วนน้ำตาเทียมที่บรรจุในภาชนะแบบ unit dose จะไม่มีสารกันเสีย จึงมีอายุการใช้งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังเปิดใช้ครั้งแรก (1,4,6,7) รายละเอียดสรุปไว้ในตารางที่ 2


สำหรับผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหลีกเลี่ยงน้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียที่ทำให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ เช่น benzalkonium chloride เนื่องจากคอนแทคเลนส์ดูดซับสารนี้ได้และทำให้เยื่อบุกระจกตาสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานาน จึงอาจทำลายเซลล์เยื่อบุกระจกตาได้ ดังนั้นจึงควรเลือกใช้น้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันเสียซึ่งเป็นชนิดที่บรรจุในภาชนะบรรจุแบบ unit dose หรือเลือกใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียชนิดที่เป็นพิษต่อเยื่อบุกระจกตาน้อย เช่น stabilized oxychloro complex (Purite®) polyquaterium-1 (Polyquad®) สารประกอบระหว่าง boric acid, zinc, sorbital และ propylene glycol (SofZia™) แต่หากจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมที่มี benzalkonium chloride ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อนหยอดน้ำตาเทียม และใส่คอนแทคเลนส์หลังจากหยอดตาเสร็จแล้วประมาณ 10 นาที (8-10)
การใช้น้ำตาเทียมมีความแตกต่างกันขึ้นกับรูปแบบของน้ำตาเทียมและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร และพึงระลึกเสมอว่า “น้ำตาเทียมใช้สำหรับบรรเทาอาการตาแห้งเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขสาเหตุของอาการตาแห้งได้” ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาต่อไป
ข้อควรระวังทั่วไปในการใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตา คือ ควรระมัดระวังไม่ให้ปลายหลอดน้ำตาเทียมแตะโดนบริเวณดวงตาหรือใบหน้า หรือสัมผัสปลายนิ้วมือหรือส่วนใดของร่างกาย และไม่ว่าจะใช้น้ำตาเทียมชนิดใด หากครบกำหนดอายุการใช้งานแล้วควรทิ้งส่วนที่เหลือทันที เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ หากมีอาการระคายเคืองตามากขึ้นหรือเกิดความผิดปกติใดๆ หลังหยอดน้ำตาเทียม ให้หยุดใช้ทันทีและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ ผู้ที่มีอาการตาแห้งขั้นรุนแรงและเรื้อรังควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ (6)
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์, ประภัสร์ ศุขศรีไพศาล, บรรณาธิการ. จักษุวิทยาสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน; 2546.
  2. Foster CS, Yuksel E, Anzaar F, et al. Dry eye syndrome: Treatment & medication [Internet]. New York: WebMD; c1994-2014 [updated 2013 Dec 16; cited 2014 May 27]. Available from: http://emedicine.medscape.com/article/1210417-treatment
  3. Galor A, Feuer W, Lee DJ, et al. Prevalence and risk factors of dry eye syndrome in a United States Veterans Affairs population. Am J Ophthalmol. 2011;152:377–384.
  4. Chowhan m, Lang JC, Missel P. Opthalamic preparations. In Allen LV Jr, ed. Remington: The science and practice of pharmacy, 22nd ed. Chicago: Pharmaceutical Press; 2012. Chap 43.
  5. Management and therapy of dry eye disease: Report of the management and therapy subcommittee of the international dry eye workshop (2007) Ocul Surf. 2007;5(2):163–78.
  6. Artificial tears [Internet]. New York: WebMD; c1994-2014 [updated 2014 Mar 28; cited 2014 May 25]. Available from: http://reference.medscape.com/drug/tears-naturale-tears-plus-artificial-tears-343632#0
  7. ดวงดาว ฉันทศาสตร์. Ophthalmic preparations. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา Extemporaneous compounding in pharmacy. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2556.
  8. Freeman PD, Kahook MY. Preservative in topical ophthalmic medication: Historical and clinical  perspectives. Expert Rev Ophthalmol. 2009;4(1):59-64
  9. ธวิวรรน์ สวัสดิโสภานนท์. การใช้สารกันเสียในยาหยอดตา. GPO R&D newsletter 2555;19(2):16-8.
  10. Waknine Y. FDA approves bepotastine ophthalmic solution for treating "allergy eyes" [Internet]. New York: WebMD; c1994-2014 [updated 2010 Sep 17; cited 2014 June 2]. Available from: http://www.medscape.org/viewarticle/709069

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

รอบรู้เรื่องธาตุกัมมันตรังสี 1 วินาทีที่แล้ว
ไม้ประดับมีพิษ….คิดสักนิดก่อนจะปลูก 4 วินาทีที่แล้ว
โรคสมาธิสั้นในเด็ก: การรักษาด้วยยา 4 วินาทีที่แล้ว
ยาลดความอ้วน…สำหรับใคร? 4 วินาทีที่แล้ว
ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี 10 วินาทีที่แล้ว
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กับ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค 12 วินาทีที่แล้ว
เครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย ใช้ของผู้หญิงได้หรือไม่? 29 วินาทีที่แล้ว
ผักผลไม้..ที่ควรระวังในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 29 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (dextromethorphan) และการนำไปใช้ ในทางที่ผิด 29 วินาทีที่แล้ว
น้ำมันระเหยยากที่ใช้ในเครื่องสำอาง 31 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล