Loading…

ยาที่ผู้หญิงพึงระวัง

ยาที่ผู้หญิงพึงระวัง

เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

209,915 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2014-08-13

หลายคนอาจคุ้นเคยหรือเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับยาบางตัวในกลุ่มมิดาโซแลม (midazolam) ที่มีการนำมาใช้ผสมเครื่องดื่มเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายที่อาจตกเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้ เนื่องจากยาดังกล่าวมีฤทธิ์ทำให้หลับ อีกทั้งหลังจากตื่นขึ้นมาจะจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะได้รับยานั้นไม่ได้ แต่ปัจจุบัน เริ่มมีการลักลอบนำเข้าสารอื่นๆ มาใช้ในการล่วงละเมิดทางเพศหลากหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 
สารที่หวังผลเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เช่น

  • แมลงวันสเปน (Spanish fly) ถูกผลิตออกมาหลายรูปแบบ เช่น เป็นของเหลวใส เป็นผงหรือผลึก ซึ่งนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยการหยดหรือผสมลงไปในเครื่องดื่ม เนื่องจากสารแคนธาริดิน (cantharidin) จากแมลงวันสเปน มีฤทธิ์กัดกร่อน จึงทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้มีเลือดไปคั่งที่หลอดเลือด รวมทั้งมีการอักเสบที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลต่ออารมณ์ทางเพศของแมลงวันสเปน อีกทั้ง ด้วยฤทธิ์กัดกร่อนของสารชนิดนี้ จึงสามารถทำให้เกิดแผลตามอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น เกิดแผลและเลือดออกได้ทุกบริเวณตลอดทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีเลือดออกที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้ ยังมีผลทำลายไต เป็นต้น
  • สารระเหยกลุ่มไนไตรท์ เป็นสารที่มีกลิ่นฉุน อยู่ในรูปของเหลวบรรจุในภาชนะขนาดประมาณ 10 ซีซี เนื่องจากสารชนิดนี้มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด หลังจากสูดดมจึงทำให้รู้สึกอุ่นๆ หรือร้อนวูบวาบ โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้าและลำคอ อีกทั้งยังทำให้มีอาการมึนงง เวียนศีรษะ ขาดความยั้งคิด ซึ่งผลดังกล่าวเชื่อว่าช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ สำหรับผู้ที่สูดดมสารนี้ นอกจากอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ผลเสียอื่นๆที่อาจเกิด ได้แก่ หากเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือกำลังใช้ยาขยายหลอดเลือดรวมทั้งไวอกร้าอาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากจนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสมอง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต และเนื่องจากไนไตรท์สามารถเข้าไปในเม็ดเลือดแดง แล้วส่งผลให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้น้อยลง จึงอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน อีกทั้งมีโอกาสทำให้ผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้ นอกจากนี้ ฤทธิ์ต่อระบบประสาทของสารดังกล่าว ทำให้ขาดความยั้งคิด ซึ่งส่งเสริมให้มีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น จนนำมาสู่การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายได้

สารที่ทำให้มีอาการมึนเมาหรือสลบ เช่น

  • สารจีเอชบี (GHB = gamma-hydroxybutyrate) มักอยู่ในรูปของเหลวใสหรือเป็นผง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ ซึ่งนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยการหยดหรือผสมลงไปในเครื่องดื่ม สารชนิดนี้มีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับและยาสลบ ทำให้ง่วงซึม มึนงง เคลิบเคลิ้ม และไม่สามารถจำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นขณะได้รับยา ซึ่งนอกจากจะถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ผู้ที่รับประทานสารชนิดนี้ อาจได้รับผลเสียอื่นๆ เช่น หากใช้ในปริมาณมาก หรือผสมกับแอลกอฮอล์ อาจเพิ่มฤทธิ์การกดสมอง จนทำให้กดการหายใจ กดการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ชักและหมดสติ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
  • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยากลุ่มมิดาโซแลม ผลการกดสมองจึงคล้ายกัน ยานี้มีข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์หลายอย่าง แต่มีการนำมาใช้ในทางที่ผิดโดยการผสมลงไปในเครื่องดื่มเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ หากใช้ในปริมาณมาก หรือผสมกับแอลกอฮอล์ อาจเพิ่มฤทธิ์การกดสมอง เช่น กดการหายใจจนเสียชีวิตได้เช่นกัน


 
สารเหล่านี้มักมีการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ท และยังมีผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นอีก เช่น หมากฝรั่ง และบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าประกอบด้วยสารชนิดใด ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว สาวๆ และหนุ่มๆทั้ งหลาย ควรระมัดระวังตัว และรู้วิธีการที่จะป้องกันตนเอง เช่น ไม่ดื่มเครื่องดื่มหรือรับประทานอาหารจากคนแปลกหน้า ไม่ทดลองสูดดมสารระเหยต่างๆจากการชักชวนของเพื่อนหรือคนอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีที่อยู่ในสถานที่ซึ่งไม่มีบุคคลที่ไว้ใจอยู่ด้วย เป็นต้น สำหรับผู้ที่กำลังแสวงหาหรือคิดที่จะใช้สารเหล่านี้ในการล่วงละเมิดทางเพศหรือแม้แต่การใช้กับคู่รักของตนเองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรหยุดความคิดและการกระทำนั้น เพราะไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่อาจส่งผลเสียรุนแรงจนทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Karras DJ, Farrell SE, Harrigan RA, Henretig FM, Gealt L. Poisoning from "Spanish fly" (cantharidin). Am J Emerg Med. 1996;14(5):478-483.
  2. Romanelli F, Smith KM, Thornton AC, Pomeroy C. Poppers: epidemiology and clinical management of inhaled nitrite abuse. Pharmacotherapy. 2004;24(1):69-78.
  3. วิษณุ เชื้อพันธุ์. ปัญหาการลักลอบนำเข้าสารระเหยและแนวทางแก้ปัญหา. วารสารอาหารและยา ฉบับเดือนมกราคม-เมษายน 2557. Available from: journal.fda.moph.go.th/journal/012557/03.pdf
  4. Smith KM, Larive LL, Romanelli F. Club drugs: methylenedioxymethamphetamine, flunitrazepam, ketamine hydrochloride, and gamma-hydroxybutyrate. Am J Health Syst Pharm. 2002;59(11):1067-1076.
  5. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เตือน ยาเสียสาวนำมาใช้ในทางที่ผิด. Available from: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B5.pdf
  6. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. ยกระดับยาเสียสาวอัลปราโซแลมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 คุมเข้ม! ป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด. Available from: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A_Alprazolam.pdf

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ลดความอ้วนและไขมันในเลือดสูงด้วยผักพื้นบ้านไทย 3 วินาทีที่แล้ว
ยาห้าราก : ตำรับยาสมุนไพรแก้ไข้ 15 วินาทีที่แล้ว
ชะเอมเทศ กับความดันโลหิตสูง 20 วินาทีที่แล้ว
ฐานข้อมูลชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชตอนที่ 1: The International Plant Names Index (IPNI) 1 นาทีที่แล้ว
การพัฒนาอนุภาคนาโนและระบบนำส่ง ตอนที่ 1 1 นาทีที่แล้ว
ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ลืมกินยาตามเวลา อันตรายหรือไม่ 1 นาทีที่แล้ว
ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) 1 นาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 3: สนุกกับการผลิตเจลสมุนไพร 2 นาทีที่แล้ว
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยาลดความอ้วน Phentermine 2 นาทีที่แล้ว
เรื่องของยาลดความอ้วน orlistat 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา