Loading…

แพ้ยา?? คุณแน่ใจได้อย่างไร

แพ้ยา?? คุณแน่ใจได้อย่างไร

เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

153,272 ครั้ง เมื่อ 2 ช.ม.ที่แล้ว
2012-02-12

“แพ้ยาอะไรหรือเปล่าครับ/ค่ะ” เป็นคำถามที่ได้ยินเสมอเวลาไปรับบริการจากบุคลากรทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกร คำตอบยอดนิยมของคำถามนี้ คือ แพ้เพนิซิลลิน แพ้ซัลฟา แต่บ่อยครั้งเมื่อถูกถามต่อว่าแพ้แล้วมีอาการอย่างไร หลายคนมักตอบว่า ท้องเสีย ง่วงนอน เวียนหัว คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้โดยมากไม่ใช่อาการแพ้ยา บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายที่แท้จริงของคำว่า “แพ้ยา” รวมทั้งข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้ยาขึ้น 
“แพ้ยา” คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อยาที่ใช้ ไม่ว่าจะด้วยการกิน ฉีด ทา หยอด สูด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ คล้ายกับผู้ที่แพ้กุ้ง ปู ถั่ว เกสรดอกไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปจะไม่แพ้กัน จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่แพ้ ซึ่งอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากอาหารหรือเกสรดอกไม้นี้คล้ายกับอาการแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ปากบวม ตาบวม หลอดลมตีบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เนื่องจากทั้งสิ่งเหล่านี้และยา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไวมากกว่าปกติได้เหมือนกัน ดังนั้นการแพ้ยาจึงอาจถือได้ว่าเป็นความโชคร้ายเฉพาะตัว ไม่ใช่ยาตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้แพ้เหมือนกันทุกคน แตกต่างกับ “อาการข้างเคียงของยา” ซึ่งหมายถึง ผลที่ไม่ใช่ผลการรักษาของยาที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนที่ได้รับยา เพียงแต่จะเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกคอร์เฟน (chlorpheniramine) ทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือง่วงนอน อาการนี้จะเกิดขึ้นกับทุกคนที่ทานยาลดน้ำมูก แต่บางคนง่วงนอนมากจนไม่สามารถขับรถหรือทำงานได้ บางคนอาจง่วงนอนนิดหน่อย แต่ยังสามารถขับรถและทำงานได้ตามปกติ้ เหตุที่แพทย์และเภสัชกร ต้องการแยกแยะให้ได้ว่าผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยานั้นเป็นการ “แพ้ยา” หรือไม่ เนื่องจากมีการวิธีการปฏิบัติต่ออาการแพ้ยาและอาการไม่พึงประสงค์ของยาไม่เหมือนกัน ดังนี้ 
1. กรณี “แพ้ยา” แพทย์จะมุ่งรักษาอาการแพ้ยา พร้อมกับหายาที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้แพ้ยาซ้ำอีก โดยผู้ที่แพ้ควรจดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ (ไม่ควรจดจำเพียงชื่อกลุ่มยาหรือลักษณะยา เช่น ยาแก้ปวด แคปซูลแดงดำ) เพื่อแจ้งแก่ผู้ให้บริการทุกคนและทุกครั้งที่ไปรับบริการ รวมทั้งควรพกบัตรแพ้ยา (ซึ่งออกให้โดยเภสัชกรผู้ทำการประเมินหายาที่เป็นสาเหตุของการแพ้) ติดตัวไว้ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ เนื่องจากการแพ้ยาที่เกิดขึ้นจะยังคงเกิดขึ้นซ้ำเสมอเมื่อได้รับยานั้นอีก แม้จะได้รับเพียงแค่ปริมาณเล็กน้อย อาการแพ้ยาที่กล่าวไปข้างต้น เช่น เป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ปากบวม ตาบวม ถือเป็นอาการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง ในบางคนอาจมีการแพ้ที่รุนแรงหลังจากได้รับยาที่แพ้แม้เพียงแค่ครั้งแรก เช่น เป็นผื่นพุพอง ผิวหนังหลุดลอก ความดันโลหิตต่ำมากจนหมดสติ 
2. กรณี “อาการข้างเคียงของยา” แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการข้างเคียงนั้น เพื่อดูว่ายาที่ใช้มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไปมากน้อยเพียงใด จะมีคำแนะนำหรือวิธีใดที่จะช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นหรือไม่ เช่น ยาทำให้ง่วงนอนมาก อาจเปลี่ยนจากรับประทานตอนเช้าเป็นก่อนนอน ยาที่ทำให้คลื่นไส้มาก อาจเปลี่ยนจากรับประทานตอนท้องว่างเป็นรับประทานพร้อมอาหาร เนื่องจากยาบางชนิดมีความจำเป็นต้องใช้มากและอาจไม่มียาอื่นที่สามารถทดแทนได้อย่างเหมาะสม การหยุดใช้ยานั้นเนื่องด้วยอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้ยา จะทำให้เสียโอกาสในการได้รับยาที่ดีและเหมาะสมที่สุดไป 
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การแพ้ยาถึงแม้จะไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ แต่ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการแพ้ยานี้จะช่วยทำให้ป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือและใส่ใจของทุกคน 
หมายเหตุ อาการแพ้ยาและอาการข้างเคียงของยาที่ยกตัวอย่างในบทความ เป็นเพียงอาการที่พบได้บ่อยเท่านั้น อาจพบอาการอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้ยกตัวอย่างไว้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Tisdale JE, Miller DA, editors. Drug-induced diseases: prevention, detection, and management. American Society of Health-System Pharmacists; 2010.
  2. Volcheck GW. Clinical allergy: diagnosis and management. Totowa, NJ: Springer; 2009.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

แก้วมังกร 8 วินาทีที่แล้ว
กาแฟ…ระวังในโรคใด? 19 วินาทีที่แล้ว
การใช้ยาในหญิงมีครรภ์ : ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์ 24 วินาทีที่แล้ว
ปัสสาวะเปลี่ยนสีหลังกินยา 35 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 37 วินาทีที่แล้ว
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว 44 วินาทีที่แล้ว
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด 46 วินาทีที่แล้ว
เทมเป้ (Tempeh) อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ 47 วินาทีที่แล้ว
การล้างไซนัสด้วยตนเอง...ปลอดภัยหรือไม่? 48 วินาทีที่แล้ว
คำแนะนำสำหรับว่าที่คุณพ่อ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์ 51 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา