Loading…

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5,898 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2024-09-12

ปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptive pills) แบ่งเป็น 2 ประเภทขึ้นตามชนิดของส่วนประกอบของฮอร์โมน ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (combined hormonal contraceptives หรือ pills) ซึ่งประกอบด้วย ฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ชนิดเอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (progestin) และยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progestin-only pills หรือ minipills) ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมักเป็นที่นิยมใช้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคุมกำเนิดสำหรับสตรีให้นมบุตร หรือผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิกที่ผสมฮอร์โมนเอสโตรเจน

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างไร

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดโปรเจสตินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ในขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ชนิดเอสโตรเจนและโปรเจสติน ซึ่งในแง่ของประสิทธิภาพนั้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เนื่องจากมีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศที่คล้ายกับที่พบในร่างกายเพศหญิงตามธรรมชาติมากกว่าแบบยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว นอกจากนี้รูปแบบยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ส่วนใหญ่ใน 1 แผง จะมีจำนวนเม็ดยา 28 เม็ด หรือ 24 เม็ด ในขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จะมีหลายรูปแบบ เช่น 21, 24 หรือ 28 เม็ด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

การออกฤทธิ์คุมกำเนิดเหมือนกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมโดยมีกลไกหลักในการยับยั้งกระบวนการตกไข่ (ovulation)  ซึ่งยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน Luteinizing Hormone (LH) เป็นหลัก และยังมีฤทธิ์อื่น เช่น ทำให้สารคัดหลั่งที่ปากมดลูกข้นเหนียว (thickening cervical mucus) ไม่เหมาะแก่การผ่านของอสุจิ (sperm) ทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้การเคลื่อนตัวของไข่ผ่านท่อนำไข่ช้าลง

 ใครควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

เลือกใช้ในกรณีใช้เฉพาะในกรณีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม หรือรังไข่ ผู้ที่มีประวัติหรือปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน (Deep venous thrombosis) ผู้ปวดศีรษะไมเกรนที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นต้น นอกจากนั้นยังพิจารณาใช้ในการคุมกำเนิดในหญิงที่กำลังให้นมบุตรซึ่งไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในตัวยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีผลในการยับยั้งฮอร์โมนโพรแลคติน (prolactin) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตน้ำนมในหญิงให้นมบุตร ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโพรเจสตินไม่มีผลต่อการกดการสร้างน้ำนม

 วิธีการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด lynestrenol และ desogestrel  ใน 1 แผง จะมีฮอร์โมนทุกเม็ด จึงไม่มีช่วงที่ร่างกายเว้นจากฮอร์โมน (hormone-free interval) ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด โดยควรรับประทานในเวลาเดียวกันเพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความสม่ำเสมอ สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน ชนิด drospirenone สามารถรับประทานยาเม็ดที่มีฮอร์โมนจำนวน 24 วัน วันละ 1 เม็ด และรับประทานเม็ดที่ไม่มีฮอร์โมน 4 เม็ด โดยทุกชนิดแนะนำให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 1-5 วันที่มีเลือดประจำเดือน แล้วรับประทานตามลูกศรที่ระบุในแผงยา

 หากลืมรับประทานยา จะทำอย่างไร

การรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดโดยเฉพาะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประสิทธิภาพการยับยั้งการตกไข่ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ดังนั้นฤทธิ์ในการคุมกำเนิดจึงขึ้นกับกลไกอื่น เช่น การทำให้ปากมดลูกข้นเหนียว เป็นต้น สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของยา lynestrenol, desogestrel และ drospirenone ห้ามลืมรับประทานยาหรือรับประทานยาล่าช้าได้ไม่เกิน 3, 12 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ เพราะหากลืมรับประทานยานานกว่านั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง โดยในกรณีที่ลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ต้องหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย

 อาการไม่พึงประสงค์ มีอะไรบ้าง

ผู้ที่ใช้ยามักพบปัญหาภาวะเลือดออกกะปริดกะปรอย (spotting) หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน (breakthrough bleeding) รอบประจำเดือนสั้นลง และปริมาณเลือดประจำเดือนลดลง  โดยพบอาการได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อลืมรับประทานยา โดยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีส่วนประกอบของยา lynestrenol และdesogestrel ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสตินรุ่นเก่าจะพบอาการไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับอาการคล้ายการกระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย (androgen-like effect) เช่นทำให้สิว ผิวมัน หิวบ่อย อ้วน บวมน้ำ และขนดก เป็นต้น ขณะที่ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดใหม่ คือ drospirenone พบอาการไม่พึงประสงค์ได้ต่ำกว่าและยังมีฤทธิ์ช่วยลดการเกิดสิวและลดอาการบวมน้ำ อีกด้วย

ยาหรือสมุนไพรชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยงขณะทานยาคุมกำเนิด

ระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิดแนะนำให้หลีกเลี่ยงยากหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำหรือยับยั้งเอนไซม์ CYP450 ที่เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการเมแทบอไลท์ฮอร์โมน เช่น rifampin, ketoconazole หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น St. John's wort (เซนต์จอห์นเวิร์ต) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจากฝั่งยุโรปและอเมริกา มักพบในรูปแบบของอาหารเสริมและยาสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ ที่มีฤทธิ์ในการเหนี่ยวนำเอนไซม์ CYP450 เป็นต้น

 

การรับประทานยา ควรทานยาคุมกำเนิดในเวลาเดิมทุกวัน ควรงดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ไม่ควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันไม่ว่าจะที่ขาหรือปอด ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งเต้านม ผู้ที่ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือปัญหาโรคตับ เป็นต้น ยาคุมกำเนิดอาจเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ให้ผลดี แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และค่อนข้างมีผลข้างเคียงมากกว่าการป้องกันด้วยวิธีอื่น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย และป้องกันผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้ การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกชนิดยาคุมกำเนิดให้เหมาะสมกับผู้ใช้เป็นรายบุคคล 

Photo by: www.freepik.com

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Brunton LL, Knollmann BC, editors. Goodman & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics. 14th ed. New York: McGraw-Hill Education; 2022.
  2. Katzung BG, Vanderah TW, editors. Basic and clinical pharmacology. 15th ed. Boston: McGraw-Hill Education; 2021.
  3. Rice C, Thompson J. Selecting and Monitoring Hormonal Contraceptives: An Overview of Available Products.US Pharm. 2006;6:62-70.    
  4. Progestin-Only Hormonal Birth Control: Pill and Injection. Cited on June 25, 2024.
เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา