Loading…

รู้ทันเรื่องโรคไข้นกแก้ว (Psittacosis)

รู้ทันเรื่องโรคไข้นกแก้ว (Psittacosis)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนพ.เมธี ศรีประพันธ์

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

4,737 ครั้ง เมื่อ 16 นาทีที่แล้ว
2024-03-22

โรคไข้นกแก้วหรือโรคซิตตาโคซีส (Psittacosis) มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า คลามัยเดีย ซิตตาซี (Chlamydia psittaci) (ชื่อใหม่ของเชื้อนี้คือ คลามัยโดฟิล่า ซิตตาซี (Chlamydophila psittaci)) เนื่องจากเชื้อชนิดนี้พบครั้งแรกในนกแก้วจึงเรียกโรคที่เกิดขึ้นว่า “โรคไข้นกแก้ว” โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียชนิดนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในนกชนิดต่าง ๆ เช่น นกแก้ว นกพาราคีท นกพิราบ นกกระจอกและ  นกคีรีบูน  นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อนี้ได้ในสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ เช่น เป็ดและไก่งวง รวมถึงพบในสัตว์ ที่ใกล้ชิดกับนกหรือสัตว์ปีก เช่น สุนัข แมว ม้าและหมู ในปัจจุบัน พบรายงานการระบาดของโรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ในประเทศแถบยุโรป เช่น ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ รวมถึงมีรายงานผู้เสียชีวิตในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยเคยมีรายงานการระบาดของโรคไข้นกแก้วครั้งแรกในปี 2539 และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (9 มีนาคม 2567) พบว่าปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้นกแก้วในประเทศไทย  ในบทความฉบับนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและดูแลตนเองต่อไป

การติดต่อและกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้นกแก้ว

การติดเชื้อไข้นกแก้วพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือมีพฤติกรรมใกล้ชิดกับนกและสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เลี้ยงนกเป็นสัตว์เลี้ยง รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนกและสัตว์ปีก เช่น ผู้ที่เลี้ยงนกหรือให้อาหารนก พนักงานในร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงนก ผู้ที่ทำงานในร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ผู้ที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก สัตว์แพทย์และผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสมูลนกหรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของนกที่ติดเชื้อ รวมถึงการสูดดมเอาละอองของมูลนกแห้งหรือขนนกที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป นอกจากนี้คนอาจมีโอกาสได้รับเชื้อจากการสัมผัสกับปากของนกหรือถูกนกกัดโดยตรง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อจากคนสู่คนรวมถึงการติดต่อผ่านการรับประทานเนื้อของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อซึ่งโอกาสดังกล่าวพบได้น้อยมาก

อาการของโรคไข้นกแก้ว 

เชื้อก่อโรคไข้นกแก้วมีระยะฟักตัว 5-14 วัน ซึ่งอาการของผู้ป่วยโดยทั่วไปจะคล้ายกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น ๆ โดยอาการมักไม่รุนแรงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและไอแห้ง

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจพบอาการรุนแรงหรืออาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบและการติดเชื้อในระบบประสาทรวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้มีน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1)

การวินิจฉัยโรคไข้นกแก้ว

เนื่องจากอาการของผู้ป่วยโรคนี้คล้ายกับอาการของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น  ๆ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงอาศัยอาการแสดงทางคลินิกร่วมกับประวัติเสี่ยงหรือประวัติการสัมผัสใกล้ชิดกับนก     ที่เลี้ยงหรือสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการติดเชื้อ เช่น การตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อจากเลือด การเพาะเชื้อ การตรวจหาสารพันธุกรรมหรือชิ้นส่วนโปรตีน (แอนติเจน) ของเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเช่น เสมหะ รวมถึงตัวอย่างตรวจที่เก็บจากคอหอยส่วนจมูก (nasopharynx) หรือคอหอยหลังช่องปาก (oropharynx)

การรักษาโรคไข้นกแก้ว  

โรคนี้รักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม macrolides หรือ tetracyclines รวมถึงการรักษาตามอาการที่พบในผู้ป่วย นอกจากนี้การได้รับยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่หายจากโรคนี้มีโอกาสติดเชื้อหรือเป็นโรคนี้ซ้ำอีกครั้งได้

 การป้องกันโรคไข้นกแก้ว 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้นกแก้ว แต่มีวิธีการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกรวมถึงสัตว์ปีกที่ป่วย หากต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดกับนกและสัตว์ปีก ควรสวมเสื้อผ้าและเครื่องป้องกันให้มิดชิดรวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือให้เหมาะสม ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งภายหลังการปฏิบัติงานหรือสัมผัสใกล้ชิดกับนกหรือสัตว์ปีก รวมถึงหมั่นคอยสังเกตอาการของตนเองและสัตว์อยู่เสมอ นอกจากนี้ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อดังกล่าว เช่น มีไข้และอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับมีประวัติในการสัมผัสนกหรือสัตว์ปีก ควรรีบพบแพทย์ทันที

Image by topntp26 on Freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรคเฝ้าติดตาม

สถานการณ์ “โรคไข้นกแก้ว” ในยุโรป ย้ำ! ประชาชนอย่าตื่นตระหนก รับฟังข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 11 มี.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: 

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=41440&deptcode=brc&news_views=5560 

2.รวงผึ้ง สุทเธนทร์, พบชัย งามสกุลรุ่งโรจน์, ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล, วรรณี กัณฐกมาลากุล, บรรณาธิการ. Medical microbiology volume 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พริ้นเอเบิ้ล; 2564.

3. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Psittacosis [Internet]. 2022 [Cited 2024 Mar 13]. Available from: https://www.cdc.gov/pneumonia/atypical/psittacosis/index.html

4. Riantawan P, Nunthapisud P. Psittacosis pneumonia: a case report and review of the literature. J Med 

Assoc Thai. 1996;79(1):55-9.

5. World Health Organization (WHO). Disease outbreak news “Psittacosis – European region” [Internet]. 2024 [Cited 2024 Mar 13]. Available from: https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2024-DON509#:~:text=In%20February%202024%2C%20Austria%2C%20Denmark,in%20most%20of%20the%20cases. 

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก? 16 วินาทีที่แล้ว
อันตรายของครีมหน้าขาว ที่ผสมไฮโดรควิโนน 22 วินาทีที่แล้ว
ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลูโคซามีน (glucosamine) ในโรคข้อเสื่อม 37 วินาทีที่แล้ว
กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulphate) กับโรคข้อเสื่อม (osteoarthristis) 38 วินาทีที่แล้ว
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผม 38 วินาทีที่แล้ว
ไวรัสอีโบลา 39 วินาทีที่แล้ว
โรคเกาต์กับเกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร 41 วินาทีที่แล้ว
กระเทียมดำ 1 นาทีที่แล้ว
สมุนไพรกับโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ 1 นาทีที่แล้ว
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา