เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยิ่งรัก บุญดำ ช่วยบุญ

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 1,569 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/03/2567
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ในทุก ๆ วัน สมองของมนุษย์เราต้องทำงานอย่างซับซ้อนเพื่อที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายต่าง ๆ ที่วางไว้ โดยการที่เราจะไปถึงเป้าหมายได้นั้น ต้องอาศัยความสามารถพิเศษของสมองที่เรียกว่า Executive functions (EFs) คำว่า “Executive” มีความหมายสัมพันธ์กับคำกริยา “to execute” ซึ่งแปลว่า กระทำ หรือ ปฏิบัติ ดังนั้น EFs เปรียบเหมือนวิธีการที่เราจำเป็นต้องลงมือกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของเรา เช่นเดียวกับการที่เราต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั่นเอง EFs จึงเป็นทักษะที่ช่วยให้มนุษย์เรามีความต้องการ ความปรารถนา และสามารถลงมือทำจนบรรลุเป้าหมาย โดยการที่เราจะจัดระเบียบความคิด วางแผน และลงมือทำจนสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอาศัย 3 องค์ประกอบหลักของ EFs คือ 

  1. การยับยั้งไตร่ตรอง (inhibition) เป็นความสามารถของสมองในการควบคุมความสนใจ พฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ รวมถึงการป้องกันการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ตรงหน้า การยับยั้งจะช่วยพาเราออกห่างจากการกระทำที่หุนหันพลันแล่น หรือสุ่มเสี่ยง ส่งผลให้เรารับรู้ว่าการกระทำใดเหมาะสมและจำเป็นที่สุด ณ ขณะนั้น ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรากำลังข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทันใดนั้นเรามองเห็นรถขับมาเร็วและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เราจะหยุดข้ามถนนทันที การแสดงออกที่เกิดขึ้นนั้นจัดเป็นการยับยั้งพฤติกรรม แต่หากเป็นสถานการณ์ที่เราต้องการออมเงินให้ถึงเป้า แต่ดันไปเจอกระเป๋าที่อยากได้ ผลลัพธ์สุดท้ายคือเราไม่ซื้อกระเป๋า เพื่อต้องการให้เป้าหมายการออมเงินสำเร็จลุล่วง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจัดเป็นการยับยั้ง หรือควบคุมความคิด เป็นต้น 
  2. การแก้ไขข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (updating) เป็นความสามารถของสมองในการจดจำและแก้ไขข้อมูล ณ ขณะนั้น ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่องานที่กำลังลงมือทำอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถามทางไปตลาด เราจะต้องจดจำเส้นทางตามคำบอกเล่า และเมื่อเราเดินทางผ่านทางแยกแรก เราจะต้องนึกไว้เสมอว่าแยกต่อไปอยู่ตรงไหน และต้องเดินเลี้ยวทิศทางใด เป็นต้น
  3. การปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นทางความคิด (shifting) เป็นความสามารถของสมองในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วยการเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปยังกิจกรรมใหม่ที่มีความสำคัญมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากำลังพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์ แล้วมีเพื่อนเดินมาคุยด้วย เราจะหยุดความสนใจจากโทรศัพท์ และพุ่งความสนใจไปพูดคุยกับเพื่อนแทน เป็นต้น 

วัยรุ่น ช่วงวัยของการพัฒนาสมอง...................และแสดงพฤติกรรมเสี่ยง

การยับยั้ง การแก้ไขข้อมูล และการปรับเปลี่ยนความคิด เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับความสามารถในการวางแผนต่าง ๆ (เช่น วางแผนการทำกิจกรรม) การใช้เหตุผล (เช่น การถกเถียงกันโดยใช้ข้อโต้แย้งที่ดี) และ การแก้ปัญหา (เช่น การหาคำตอบในสมการเลขคณิต) ของมนุษย์ โดยทักษะ EFs จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงวัยเด็กและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการพัฒนาทักษะดังกล่าวจะสอดคล้องกับการพัฒนาการทำงานของสมองกลีบหน้าส่วนต้น (Prefrontal cortex หรือ PFC) โดยสมองส่วน PFC เปรียบเหมือนเจ้านายของ EFs มีหน้าที่หลักทำให้มนุษย์เรามีความสามารถในการใช้เหตุผล วางแผน และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ร่วมกับการทำงานของสมองส่วนอื่น ๆ 

ถึงแม้ว่าสมองส่วน PFC จะมีการพัฒนาตลอดเวลา แต่การพัฒนาของสมองส่วนนี้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสมองส่วนอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสมองส่วน Limbic หรือ สมองส่วนอารมณ์ที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น สมองส่วน limbic จะเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์ การตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การแสวงหาความสุขความพึงพอใจ รวมถึงการแสวงหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ โดยในช่วงวัยรุ่นนั้น สมองส่วน limbic จะเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของเราให้เข้าหาตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความพึงพอใจมากกว่าตัวกระตุ้นชนิดอื่น เช่น อาหาร เพศ การพนัน และ ยาเสพติด เป็นต้น ดังนั้นในช่วงเวลานี้สมองส่วน limbic จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเหนือกว่าสมองส่วน PFC 

ในทางกลับกัน ช่วงวัยผู้ใหญ่เป็นช่วงวัยที่สมองส่วน PFC มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อผู้ใหญ่มีความต้องการที่จะทำพฤติกรรมบางอย่างที่สุ่มเสี่ยง เช่น การกระโดดจากที่สูง การเดิมพัน การขับรถเร็ว ผู้ใหญ่จะสามารถพิจารณาถึงผลที่จะตามมาและใช้สติในการตัดสินใจว่าจะทำตามความต้องการเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งในวัยรุ่นความสามารถในการควบคุมแรงกระตุ้นและความต้องการเหล่านี้มีน้อยกว่า เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างการทำงานของสมองส่วน limbic (ที่มีการทำงานอย่างมาก) กับสมองส่วน PFC (ที่กำลังค่อย ๆ พัฒนา) ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงส่งผลให้วัยรุ่นมีโอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น การชกต่อย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการเสพยาและติดแอลกอฮอล์ ได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่ที่สมองส่วน PFC มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

ดังนั้น เพื่อจะลดโอกาสในการแสดงพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง การพัฒนาทักษะ EFs ผ่านทางการฝึกการยับยั้งไตร่ตรอง เสริมสร้างความจำ ควบคุมความสนใจ รวมถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นทางความคิด จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้วัยรุ่นสามารถใช้สติในการขับเคลื่อนชีวิตประจำวันได้ 

Image by freepik

แหล่งอ้างอิง/ที่มา

1. Reynolds BW, Basso MR, Miller AK, Whiteside DM, Combs D. Executive function, impulsivity, and risky behaviors in young adults. Neuropsychology. 33(2),212-221 (2019). 

2. Ferguson, H.J., Brunsdon, V.E.A. & Bradford, E.E.F. The developmental trajectories of executive function from adolescence to old age. Sci Rep 11, 1382 (2021).

3. Seabra S, Vaz M, Almeida-Antunes N and López-Caneda E. How Alcohol Affects the Adolescent Mind. Front. Young Minds. 11,1146560 (2023). 

4. Marquez-Ramos F, Alarcon D, Amian JG, Fernandez-Portero C, Arenilla-Villalba MJ, Sanchez-Medina J. Risk Decision Making and Executive Function among Adolescents and Young Adults. Behav Sci (Basel). 13(2),142 (2023).

5. Gogtay, N., Giedd, J. N., Lusk, L., Hayashi, K. M., Greenstein, D., Vaituzis, A. C., et al. Dynamic mapping of human cortical development during childhood through early adulthood. Proc. National Acad. Sci. 101,8174–9 (2024). 

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
41 วินาทีที่แล้ว
ฟักข้าว 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้