เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ปลาดิบไม่มีพยาธิ (จริงหรือ ?)


อาจารย์ ดร. ภก. จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล และ ภก. สุเมธ จงรุจิโรจน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 350,797 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 28/08/2554
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปลาดิบเป็นอาหารญี่ปุ่นประเภทหนึ่งที่คนไทยหันมาบริโภคมากขึ้นตามกระแสนิยม คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยรูปลักษณ์ รสชาติ และความแปลกใหม่ของอาหารญี่ปุ่น ทำให้หลายคนไม่ละโอกาสที่จะได้ลิ้มลองความสดใหม่ของปลาดิบ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าปลาทะเลมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีความปลอดภัยสูงในการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อว่าไม่พบพยาธิในปลาซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำทะเลเค็มๆ อย่างแน่นอน จะพบพยาธิก็แต่เฉพาะปลาน้ำจืดเท่านั้น ดังนั้นจึงรับประทานปลาดิบได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องหวาดกลัวอะไรทั้งสิ้น (นอกจากราคาที่อาจจะแพงอยู่สักหน่อย) แต่หลังจากอ่านบทความนี้แล้วคงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ปลาน้ำเค็ม ที่นำมาทำปลาดิบนั้น ก็อาจมีพยาธิได้!!!!! ดังข่าวที่แพร่กระจายในสังคมออนไลน์เมืองไทยช่วงเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาว่าพบพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งในปลาดิบที่ขายอยู่ตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป โดยเจ้าพยาธิที่ว่านี้มีชื่อว่า อะนิซาคิส หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anisakis simplex เจ้าพยาธิชนิดนี้คืออะไร?? มาจากไหน?? และจะมีอันตรายแค่ไหน?? บางคนอาจจะคุ้นๆ หลายคนอาจเคยได้ยินเป็นครั้งแรก เราไปทำความรู้จักกับพยาธิ Anisakis simplex กันดีกว่า

ลักษณะและวงจรชีวิตของพยาธิอะนิซาคิส
พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex) พบในปลาทะเลที่วางขายในประเทศ โดยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลาหลาย ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ลักษณะของมันเป็นพยาธิตัวกลม มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวโตเต็มวัยมีความยาวถึงประมาณ 2-5 ซม. พบอยู่ในกระเพาะของปลาโลมา ปลาวาฬ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลชนิดอื่นๆ ไข่ของพยาธิจะปนออกมากับอุจจาระ เจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในทะเล มีพาหะเป็นพวกกุ้ง ปลาน้ำเค็มตัวเล็กๆ และเมื่อสัตว์เหล่านี้ถูกกินด้วยปลาตัวอื่น พยาธิก็จะฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อของปลาเหล่านั้น ซึ่งคนที่รับประทานปลาดิบที่มีพยาธินี้อยู่ก็จะติดเชื้อพยาธิได้ จากนั้นพยาธิจะถูกปลดปล่อยออกมาจากเนื้อปลาที่รับประทานเข้าไป โดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร หรืออาจจะถูกขับออกมาจากกระเพาะอาหารเสียก่อนโดยการอาเจียน ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดโรค แต่ในกรณีที่พยาธิไม่ถูกขับออกไป พยาธิอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหาร แล้วอยู่ในลำไส้ และอยู่นอกลำไส้ภายในช่องท้องก็ได้ 
ในระหว่างปี พ.ศ. 2508-2530 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 4000 ราย ซึ่งพบการเกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหารมากที่สุด พบก้อนทูมบางที่ที่ลำไส้และในช่องท้อง ถ้าตัดก้อนทูม จะพบพยาธิอยู่ภายในก้อนทูม การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด พ.ศ. 2538 มีรายงานพบผู้ป่วยในญี่ปุ่นประมาณ 2000 ราย ในสหรัฐอเมริกามีรายงานการพบผู้ป่วยประมาณ 500 รายต่อปี ในยุโรปมีประมาณ 500 ราย สำหรับประเทศไทยก็มีรายงานการพบผู้ป่วยครั้งแรกจากพยาธิชนิดนี้ในชาวประมงทางภาคใต้ และยังมีรายงานว่าพบผู้ที่เกิดอาการแพ้ต่อพยาธิตัวนี้ทำให้เกิดผื่นลมพิษ ซึ่งในประเทศสเปนมีรายงานว่าบางรายเกิดอาการแพ้ชนิดเฉียบพลันด้วย แต่อย่างไรก็ตามก็พบผู้ป่วยจากพยาธิชนิดนี้เป็นจำนวนน้อยมากต่อปี

อาการและการรักษา
อาการของโรคคือ ภายหลังจากได้รับพยาธิ 1 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการคล้ายๆ ไส้ติ่งอักเสบ อาจจะทำให้วินิจฉัยผิดพลาดเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบได้ บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ภายใน 1-5 วัน ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนออกมาเป็นตัวพยาธิ หรืออาจจะพบพยาธิเมื่อส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหาร เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถเจริญและวางไข่ในคนได้ ดังนั้นการ ตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิชนิดนี้จึงไม่ช่วยในการวินิจฉัย การรักษามีทางเดียวคือการเอาตัวพยาธิออกมาจากผนังกระเพาะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่พยาธิเข้าไปฝังตัวอยู่ โดยการผ่าตัด เพราะยาฆ่าพยาธิใช้ไม่ได้ผล

การป้องกัน 
เมื่อจำเป็นต้องรับประทานเนื้อปลาทะเล ควรทำให้สุกด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ถ้าเป็นเนื้อปลาสดควรเก็บที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 ชั่วโมง จะทำให้พยาธิ Anisakis simplex ตายได้ ดังนั้นการรับประทานปลาดิบ อาหารอันเลื่องชื่อของแดนอาทิตย์อุทัย เราจึงต้องให้ความระมัดระวัง อย่างน้อยให้สังเกตดูลักษณะของเนื้อปลาก่อนรับประทานว่ามี ตัวอ่อนของพยาธิปะปนอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและความอร่อยที่ไร้อันตรายแอบแฝง




 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Audicana M T, Ansotegui I J, et al. Anisakis simplex: dangerous-dead and alive?. Trends in Parasitology 2002; 18:20-25.
  2. Ishikura H. Kikuchi k, Nagasawa K. et al. Anisakidae and Anisakidosis. Prog Clin Parasitol 1993; 3:43-102.
  3. Kagei N, Orikasa H, Hori E,et al. A case of hepatic anisakiasis with a literal survey for extra-intestinal anisakiasis. Jpn J Parasitol 1995; 44: 346-51.
  4. http://dpd.cdc.gov/dpdx
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สัตว์เลี้ยงกับยา 2 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้