เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้องแมวนำโรค!! ทาสแมวต้องระวัง


อ.ดร.ภก.ธีรวิชญ์ อัชฌาศัย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 12,035 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/12/2565
อ่านล่าสุด 11 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ในสังคมสมัยใหม่นี้ปฏิเสธไม่ได้เลยที่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัข กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากจากความน่ารักและความขี้เล่นของพวกน้อง ๆ แต่ก็เหมือนในมนุษย์ แมวของเรานั้นสามารถเป็นโรคติดเชื้อได้มากมายหลายชนิดซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อเพียงแค่จากแมวสู่แมวเท่านั้น หากแต่ว่าโรคติดเชื้อที่เกิดในแมวบางประเภทก็สามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้ด้วย บทความนี้จะกล่าวถึงโรคติดเชื้อจากแมวสู่คนที่พบได้บ่อย และวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคเหล่านี้ให้ผู้รักน้องแมวได้ทราบ 


 

โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย

  1. โรคแมวข่วน (cat scratch disease) 
    คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Bartonella henselae ซึ่งสามารถพบได้ในน้ำลายของแมวที่เป็นพาหะ ตามชื่อโรค โรคแมวข่วนติดต่อสู่คนได้จากการข่วนเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังติดต่อผ่านการกัด หรือถูกแมวพาหะเลียบริเวณที่เป็นแผลได้เช่นกัน เชื้อ B. henselae ยังพบได้ในหมัดแมว และติดต่อสู่คนได้จากการกัดของหมัดที่มีเชื้ออยู่อีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคแมวข่วนโดยทั่วไปจะพบผื่นแดง หรือตุ่มพองบริเวณที่โดนข่วน ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้จุดที่โดนข่วนมีขนาดใหญ่ขึ้นและอาจรู้สึกปวด ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยทั่วไป โรคนี้หายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดการทำงานของภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส HIV อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ตัวโรคจะลุกลามก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท หรือหัวใจได้ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ อาทิ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides เช่น azithromycin, หรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม fluoroquinolones เช่น ciprofloxacin เพื่อฆ่าเชื้อก่อนที่ตัวเชื้อจะลุกลามไปได้ การป้องกันการเกิดโรคแมวข่วน ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการโดนกัด ข่วน ล้างมือหลังเล่นกับแมว กำจัดหมัดที่เป็นพาหะ และการเลี้ยงแมวแบบระบบปิด (เลี้ยงไว้ภายในบ้าน) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแมวข่วนได้
     
  2. โรคเซลล์ผิวหนังอักเสบจากแผลแมวกัด (cat bite cellulitis) 
    คือโรคติดเชื้อบริเวณแผลที่เกิดจากแมวกัด โดยในบริเวณช่องปากของแมวมีจุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) หลากหลายชนิด ซึ่งบางประเภทก่อโรคในคนได้หากถูกส่งต่อจากแมวสู่คนผ่านการกัด เชื้อโรคที่พบได้บ่อยที่สุดจากแผลแมวกัดคือ Pasteurella multocida ซึ่งพบได้ถึง 75% ของแผลติดเชื้อจากแมวกัดทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า 60% ของการติดเชื้อจากแผลแมวกัดเกิดจากแบคทีเรียโดยเฉลี่ย 5 ชนิดในแผลเดียว โดยพบได้ทั้งเชื้อที่ใช้และไม่ใช้ออกซิเจนในการเติบโต (aerobe และ anaerobe bacteria) อาทิ เชื้อโรคกลุ่ม Streptococcus, Staphylococcus, Moraxella, Fusobacterium, Porphyromonas เป็นต้น แผลที่เกิดการอักเสบติดเชื้อจากแมวกัดจะมีลักษณะบวม แดง และปวดบริเวณแผลภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังโดนกัด โดย 85% ของแผลที่ติดเชื้อจากแมวกัดจะเกิดขึ้นในแผลที่เกิดการเจาะของเขี้ยวแมวจนเลือดออก นอกจากนี้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นหากทิ้งแผลไว้โดยไม่ทำความสะอาดแผลทันที การปฏิบัติตัวหลังจากถูกแมวกัด ควรทำการล้างแผล ตกแต่งแผล และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยักและโรคพิษสุนัขบ้าโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่ถูกแมวกัดเป็นแผลเจาะ และเลือดออกทุกคนควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กล่าวมาข้างต้น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกรณีนี้ได้แก่ amoxicillin-clavulanate หรือ azithromycin หรือ ยากลุ่ม quinolones ร่วมกับ clindamycin เป็นระยะเวลา 10-14 วัน
     
  3. โรคท้องเสียจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonellosis) 
    เกิดจากการที่ผู้เลี้ยงแมวรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อในกลุ่ม Salmonella แบคทีเรียในกลุ่มนี้ยังพบได้ในแมวที่กินอาหารดิบหรือล่าอาหารกินเอง โดยหลังจากรับเชื้อแมวจะกลายเป็นพาหะ และสามารถส่งต่อเชื้อโรคผ่านอุจจาระของมัน และอาจปนเปื้อนสู่อาหารของคน หรือปนเปื้อนที่มือของผู้เลี้ยงขณะกำลังทำความสะอาดกระบะทรายได้ ดังนั้นการเลี้ยงแมวด้วยระบบปิด และให้อาหารเม็ดหรืออาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้ ในคนที่ท้องเสียจากเชื้อ Salmonella ปกติจะหายได้เองโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หากแต่ควรได้รับน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากการถ่ายท้อง

 

โรคติดเชื้อจากพยาธิและโปรโตซัว

  1. โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (cutaneous larva migrans) 
    คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิปากขอระยะตัวอ่อน ที่พบได้บ่อยสุดคือ Ancylostoma braziliense ซึ่งเป็นพยาธิปากขอที่มีแมวเป็นพาหะ ตัวอ่อนของ A. braziliense เข้าสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางอุจจาระแมว ซึ่งตัวอ่อนนี้มีชีวิตอยู่ได้ในทรายหลายวัน หากคนไม่ได้ใส่รองเท้าเดินเหยียบบนผิวทรายที่มีอุจจาระซึ่งมีพยาธินี้อยู่ ตัวอ่อนพยาธิจะชอนไชผ่านผิวหนังชั้นนอกเข้ามาสู่ชั้นหนังกำพร้า ทำให้พบผื่นอักเสบในบริเวณที่ตัวอ่อนเข้ามาได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นพยาธิตัวอ่อนจะเคลื่อนที่แบบไม่มีเป้าหมายภายในบริเวณชั้นหนังกำพร้า ทำให้บริเวณที่พยาธิเคลื่อนที่ไปนั้นเกิดเป็นผื่นนูนสีแดงคดเคี้ยวไปตามเส้นทางที่ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไป โดยตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร และก่อให้เกิดอาการคันอย่างมาก การเกาบริเวณผื่นสามารถทำให้เกิดแผล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้ การป้องกันพยาธิชอนไชผิวหนัง ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นทรายหรือดินร่วนแฉะที่อาจมีอุจจาระของแมวปนเปื้อนอยู่ การให้แมวที่เลี้ยงกินยาถ่ายพยาธิสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนไม่ใช่เจ้าบ้าน (host) ตามธรรมชาติของพยาธิชนิดนี้ ทำให้พยาธิตัวอ่อนไม่สามารถเจริญไปเป็นระยะตัวแก่ในคนได้ ท้ายสุดพยาธิจะตายจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของคน อย่างไรก็ตามโรคนี้รักษาให้หายได้เร็วขึ้น ด้วยยาต้านพยาธิ อาทิ ivermectin รับประทานครั้งเดียว หรือ ยาทา thiabendazole ทาที่ผื่น 2 สัปดาห์
     
  2. โรคตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนที่ผ่านอวัยวะภายใน (visceral larva migrans) 
    คือโรคที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิตัวกลมผ่านอวัยวะภายในร่างกายคน โดยหนึ่งในพยาธิที่ก่อโรคนี้คือ Toxocara cati ซึ่งพบได้ในอุจจาระของแมวที่เป็นพาหะ ติดต่อสู่คนโดยการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีพยาธิชนิดนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เป็นวัยเล่นดินและทรายและอาจเผลอเอามือที่เปื้อนดินทรายเข้าปาก เมื่อเข้าสู่ร่างกาย พยาธิไม่สามารถเจริญจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงชอนไชอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย อาการแสดงของโรคจึงเกิดขึ้นอย่างไม่จำเพาะ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนพยาธิชอนไชไป เช่น อาการปวดท้องจากตัวอ่อนที่ชอนไชอวัยวะในช่องท้อง โดยทั่วไปโรคนี้หายได้เองภายใน 5-6 สัปดาห์ แต่หากตัวอ่อนพยาธิชอนไชในอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท หรือตา ควรได้รับยากำจัดพยาธิ T. cati ก่อนที่อวัยวะนั้น ๆ จะได้รับความเสียหาย เช่น albendazole, mebendazole การป้องกันพยาธิชนิดนี้ทำได้โดยการล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากที่สัมผัสดินหรือทรายที่เป็นที่ขับถ่ายของแมว
     
  3. โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสหรือโรคไข้ขี้แมว (toxoplasmosis) 
    คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii แมวได้รับเชื้อและเป็นพาหะจากการรับประทานหนูหรือนกที่เป็นพาหะของเชื้อนี้ โดยตัวเชื้อเติบโตและเพิ่มจำนวนในลำไส้เล็กของแมว และปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยปนเปื้อนมากับอุจจาระของแมว ตัวเชื้อระยะโอโอซิสต์ (oocysts) ที่ปนเปื้อนมาในอุจจาระต้องใช้เวลา 1-5 วันจึงจะติดต่อสู่คนได้ ซึ่งมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกและมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ หรือหากเจ้าของแมวไปสัมผัสอุจจาระหรือเล่นกับแมวที่ปนเปื้อนไข่หรือโอโอซิสต์ของเชื้อ และไม่ได้ล้างมือก่อนรับประทานอาหารก็สามารถนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยทั่วไปร้อยละ 90 ของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงเมื่อได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้อ่อน ๆ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย แต่หากเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการอาจพัฒนารุนแรงตามอวัยวะที่ตัวเชื้อรุกราน เช่น เกิดโรคไข้สมองอักเสบ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังจากการติดเชื้อ T. gondii คือ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ ตัวเชื้อสามารถแพร่สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดาจะพบอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงทำให้ขนาดตัวเล็ก ศีรษะโต มีความบกพร่องทางสติปัญญา และมีโอกาสรุนแรงถึงขั้นแท้งได้

ในส่วนการรักษา คนที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อฆ่าเชื้อ แต่ถ้าเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือหญิงตั้งครรภ์ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น pyrimethamine-leucovorin, sulfadiazine เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาคือ ยาบางตัวที่ใช้ฆ่าเชื้อนี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชทุกครั้งเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง 

ในส่วนของการป้องกัน ทำได้ง่ายโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ทำความสะอาดกระบะทรายแมวบ่อย ๆ เพื่อกำจัดตัวเชื้อและควรสวมถุงมือทุกครั้งขณะทำความสะอาด นอกจากนี้การเลี้ยงแมวในบ้านด้วยอาหารเม็ดหรืออาหารปรุงสุก ช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้ 
 

โรคติดเชื้อจากเชื้อรา 

  1. โรคกลากจากแมว (dermatophytosis) 
    เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเชื้อราที่ก่อโรคในแมวและติดต่อสู่คนได้นี้คือ Microsporum canis ซึ่งมักพบบ่อยในลูกแมว แมวที่มีขนยาว และแมวที่มาจากสถานที่เลี้ยงที่แออัด อาการของแมวที่ติดเชื้อราสังเกตได้จากผิวหนังที่แห้ง แดง หรือลอกเป็นขุยสีขาว-เทา และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย โดยเชื้อราที่พบบนผิวหนังแมวแพร่กระจายสู่คนได้ผ่านการสัมผัส การติดเชื้อรานี้ในคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกัน อายุ สุขภาพ พื้นที่ที่สัมผัส สุขลักษณะของผู้สัมผัสแมว เป็นต้น อาการของโรคกลากจากแมวมีลักษณะคล้ายคลึงโรคกลากทั่วไป ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นเป็นวงตามร่างกาย มีขุยขึ้นบริเวณรอบ ๆ ผื่นแดง และมีอาการคันที่ผื่นแดง สามารถรักษาได้ด้วยยาทาต้านเชื้อรา เช่น clotrimazole cream ทาต่อเนื่องนาน 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากพบผื่นแดงเป็นจำนวนมาก หรือติดเชื้อที่หนังศีรษะ เพื่อประเมินการให้ยาต้านเชื้อราแบบรับประทานร่วมด้วย การป้องกันโรคกลากจากแมวทำได้โดยอาบน้ำให้แมวอย่างสม่ำเสมอและเป่าขนแมวให้แห้งสนิททุกครั้ง หมั่นทำความสะอาดพื้นที่อยู่ของแมวและบริเวณบ้าน และทำความสะอาดมือหรือผิวหนังที่สัมผัสแมว 


จะเห็นได้ว่ามีโรคติดเชื้อหลายชนิดที่สามารถติดต่อได้จากแมวสู่คน แต่ผู้รักน้องแมวไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะโรคส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเล่นกับน้องแมว นอกจากนั้นยังลดอัตราการเกิดโรคได้หากเลี้ยงแมวในระบบปิด และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของน้องแมวบ่อย ๆ อีกทั้งโรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักหายได้เองในคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ว่าจากยาหรือโรคอื่น ๆ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษจากการติดโรคเหล่านี้จากแมวที่เรารัก และหากสงสัยว่าตนเองติดโรคเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Chomel BB, Sun B. Zoonoses in the bedroom. Emerg Infect Dis 2011;17(2):167-72.
  2. Gerhold RW, Jessup DA. Zoonotic diseases associated with free-roaming cats. Zoonoses Public Health 2013;60(3):189-95.
  3. Goldstein EJC, Abrahamian FM. Diseases Transmitted by Cats. Microbiol Spectr 2015 Oct;3(5).
  4. Kravetz JD, Federman DG. Cat-associated zoonoses. Arch Intern Med 2002;162(17):1945-52.
  5. Pleyer U, Gross U, Schlüter D, Wilking H, Seeber F. Toxoplasmosis in Germany. Dtsch Arztebl Int 2019;116(25):435-444.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ว่านชักมดลูก 4 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้