ในสังคมสมัยใหม่นี้ปฏิเสธไม่ได้เลยที่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น แมวและสุนัข กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากจากความน่ารักและความขี้เล่นของพวกน้อง ๆ แต่ก็เหมือนในมนุษย์ แมวของเรานั้นสามารถเป็นโรคติดเชื้อได้มากมายหลายชนิดซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อเพียงแค่จากแมวสู่แมวเท่านั้น หากแต่ว่าโรคติดเชื้อที่เกิดในแมวบางประเภทก็สามารถติดต่อจากแมวสู่คนได้ด้วย บทความนี้จะกล่าวถึงโรคติดเชื้อจากแมวสู่คนที่พบได้บ่อย และวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคเหล่านี้ให้ผู้รักน้องแมวได้ทราบ
โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย
- โรคแมวข่วน (cat scratch disease)
คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Bartonella henselae ซึ่งสามารถพบได้ในน้ำลายของแมวที่เป็นพาหะ ตามชื่อโรค โรคแมวข่วนติดต่อสู่คนได้จากการข่วนเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังติดต่อผ่านการกัด หรือถูกแมวพาหะเลียบริเวณที่เป็นแผลได้เช่นกัน เชื้อ B. henselae ยังพบได้ในหมัดแมว และติดต่อสู่คนได้จากการกัดของหมัดที่มีเชื้ออยู่อีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคแมวข่วนโดยทั่วไปจะพบผื่นแดง หรือตุ่มพองบริเวณที่โดนข่วน ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้จุดที่โดนข่วนมีขนาดใหญ่ขึ้นและอาจรู้สึกปวด ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยทั่วไป โรคนี้หายเองได้ภายใน 4-8 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดการทำงานของภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องจากไวรัส HIV อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ตัวโรคจะลุกลามก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท หรือหัวใจได้ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ อาทิ ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides เช่น azithromycin, หรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม fluoroquinolones เช่น ciprofloxacin เพื่อฆ่าเชื้อก่อนที่ตัวเชื้อจะลุกลามไปได้ การป้องกันการเกิดโรคแมวข่วน ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการโดนกัด ข่วน ล้างมือหลังเล่นกับแมว กำจัดหมัดที่เป็นพาหะ และการเลี้ยงแมวแบบระบบปิด (เลี้ยงไว้ภายในบ้าน) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแมวข่วนได้
- โรคเซลล์ผิวหนังอักเสบจากแผลแมวกัด (cat bite cellulitis)
คือโรคติดเชื้อบริเวณแผลที่เกิดจากแมวกัด โดยในบริเวณช่องปากของแมวมีจุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) หลากหลายชนิด ซึ่งบางประเภทก่อโรคในคนได้หากถูกส่งต่อจากแมวสู่คนผ่านการกัด เชื้อโรคที่พบได้บ่อยที่สุดจากแผลแมวกัดคือ Pasteurella multocida ซึ่งพบได้ถึง 75% ของแผลติดเชื้อจากแมวกัดทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า 60% ของการติดเชื้อจากแผลแมวกัดเกิดจากแบคทีเรียโดยเฉลี่ย 5 ชนิดในแผลเดียว โดยพบได้ทั้งเชื้อที่ใช้และไม่ใช้ออกซิเจนในการเติบโต (aerobe และ anaerobe bacteria) อาทิ เชื้อโรคกลุ่ม Streptococcus, Staphylococcus, Moraxella, Fusobacterium, Porphyromonas เป็นต้น แผลที่เกิดการอักเสบติดเชื้อจากแมวกัดจะมีลักษณะบวม แดง และปวดบริเวณแผลภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังโดนกัด โดย 85% ของแผลที่ติดเชื้อจากแมวกัดจะเกิดขึ้นในแผลที่เกิดการเจาะของเขี้ยวแมวจนเลือดออก นอกจากนี้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นหากทิ้งแผลไว้โดยไม่ทำความสะอาดแผลทันที การปฏิบัติตัวหลังจากถูกแมวกัด ควรทำการล้างแผล ตกแต่งแผล และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดบาดทะยักและโรคพิษสุนัขบ้าโดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่ถูกแมวกัดเป็นแผลเจาะ และเลือดออกทุกคนควรได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กล่าวมาข้างต้น โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกรณีนี้ได้แก่ amoxicillin-clavulanate หรือ azithromycin หรือ ยากลุ่ม quinolones ร่วมกับ clindamycin เป็นระยะเวลา 10-14 วัน
- โรคท้องเสียจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonellosis)
เกิดจากการที่ผู้เลี้ยงแมวรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อในกลุ่ม Salmonella แบคทีเรียในกลุ่มนี้ยังพบได้ในแมวที่กินอาหารดิบหรือล่าอาหารกินเอง โดยหลังจากรับเชื้อแมวจะกลายเป็นพาหะ และสามารถส่งต่อเชื้อโรคผ่านอุจจาระของมัน และอาจปนเปื้อนสู่อาหารของคน หรือปนเปื้อนที่มือของผู้เลี้ยงขณะกำลังทำความสะอาดกระบะทรายได้ ดังนั้นการเลี้ยงแมวด้วยระบบปิด และให้อาหารเม็ดหรืออาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้ ในคนที่ท้องเสียจากเชื้อ Salmonella ปกติจะหายได้เองโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หากแต่ควรได้รับน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากการถ่ายท้อง
โรคติดเชื้อจากพยาธิและโปรโตซัว
- โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (cutaneous larva migrans)
คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิปากขอระยะตัวอ่อน ที่พบได้บ่อยสุดคือ Ancylostoma braziliense ซึ่งเป็นพยาธิปากขอที่มีแมวเป็นพาหะ ตัวอ่อนของ A. braziliense เข้าสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางอุจจาระแมว ซึ่งตัวอ่อนนี้มีชีวิตอยู่ได้ในทรายหลายวัน หากคนไม่ได้ใส่รองเท้าเดินเหยียบบนผิวทรายที่มีอุจจาระซึ่งมีพยาธินี้อยู่ ตัวอ่อนพยาธิจะชอนไชผ่านผิวหนังชั้นนอกเข้ามาสู่ชั้นหนังกำพร้า ทำให้พบผื่นอักเสบในบริเวณที่ตัวอ่อนเข้ามาได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นพยาธิตัวอ่อนจะเคลื่อนที่แบบไม่มีเป้าหมายภายในบริเวณชั้นหนังกำพร้า ทำให้บริเวณที่พยาธิเคลื่อนที่ไปนั้นเกิดเป็นผื่นนูนสีแดงคดเคี้ยวไปตามเส้นทางที่ตัวอ่อนเคลื่อนที่ไป โดยตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร และก่อให้เกิดอาการคันอย่างมาก การเกาบริเวณผื่นสามารถทำให้เกิดแผล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังได้ การป้องกันพยาธิชอนไชผิวหนัง ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในพื้นทรายหรือดินร่วนแฉะที่อาจมีอุจจาระของแมวปนเปื้อนอยู่ การให้แมวที่เลี้ยงกินยาถ่ายพยาธิสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนไม่ใช่เจ้าบ้าน (host) ตามธรรมชาติของพยาธิชนิดนี้ ทำให้พยาธิตัวอ่อนไม่สามารถเจริญไปเป็นระยะตัวแก่ในคนได้ ท้ายสุดพยาธิจะตายจากการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของคน อย่างไรก็ตามโรคนี้รักษาให้หายได้เร็วขึ้น ด้วยยาต้านพยาธิ อาทิ ivermectin รับประทานครั้งเดียว หรือ ยาทา thiabendazole ทาที่ผื่น 2 สัปดาห์
- โรคตัวอ่อนพยาธิเคลื่อนที่ผ่านอวัยวะภายใน (visceral larva migrans)
คือโรคที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของตัวอ่อนพยาธิตัวกลมผ่านอวัยวะภายในร่างกายคน โดยหนึ่งในพยาธิที่ก่อโรคนี้คือ Toxocara cati ซึ่งพบได้ในอุจจาระของแมวที่เป็นพาหะ ติดต่อสู่คนโดยการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีพยาธิชนิดนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่เป็นวัยเล่นดินและทรายและอาจเผลอเอามือที่เปื้อนดินทรายเข้าปาก เมื่อเข้าสู่ร่างกาย พยาธิไม่สามารถเจริญจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงชอนไชอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย อาการแสดงของโรคจึงเกิดขึ้นอย่างไม่จำเพาะ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ตัวอ่อนพยาธิชอนไชไป เช่น อาการปวดท้องจากตัวอ่อนที่ชอนไชอวัยวะในช่องท้อง โดยทั่วไปโรคนี้หายได้เองภายใน 5-6 สัปดาห์ แต่หากตัวอ่อนพยาธิชอนไชในอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท หรือตา ควรได้รับยากำจัดพยาธิ T. cati ก่อนที่อวัยวะนั้น ๆ จะได้รับความเสียหาย เช่น albendazole, mebendazole การป้องกันพยาธิชนิดนี้ทำได้โดยการล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากที่สัมผัสดินหรือทรายที่เป็นที่ขับถ่ายของแมว
- โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสหรือโรคไข้ขี้แมว (toxoplasmosis)
คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Toxoplasma gondii แมวได้รับเชื้อและเป็นพาหะจากการรับประทานหนูหรือนกที่เป็นพาหะของเชื้อนี้ โดยตัวเชื้อเติบโตและเพิ่มจำนวนในลำไส้เล็กของแมว และปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยปนเปื้อนมากับอุจจาระของแมว ตัวเชื้อระยะโอโอซิสต์ (oocysts) ที่ปนเปื้อนมาในอุจจาระต้องใช้เวลา 1-5 วันจึงจะติดต่อสู่คนได้ ซึ่งมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกและมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ หรือหากเจ้าของแมวไปสัมผัสอุจจาระหรือเล่นกับแมวที่ปนเปื้อนไข่หรือโอโอซิสต์ของเชื้อ และไม่ได้ล้างมือก่อนรับประทานอาหารก็สามารถนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยทั่วไปร้อยละ 90 ของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงเมื่อได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้อ่อน ๆ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย แต่หากเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการอาจพัฒนารุนแรงตามอวัยวะที่ตัวเชื้อรุกราน เช่น เกิดโรคไข้สมองอักเสบ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังจากการติดเชื้อ T. gondii คือ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ ตัวเชื้อสามารถแพร่สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดาจะพบอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงทำให้ขนาดตัวเล็ก ศีรษะโต มีความบกพร่องทางสติปัญญา และมีโอกาสรุนแรงถึงขั้นแท้งได้
ในส่วนการรักษา คนที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อฆ่าเชื้อ แต่ถ้าเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือหญิงตั้งครรภ์ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น pyrimethamine-leucovorin, sulfadiazine เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในหญิงตั้งครรภ์ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาคือ ยาบางตัวที่ใช้ฆ่าเชื้อนี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชทุกครั้งเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
ในส่วนของการป้องกัน ทำได้ง่ายโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ทำความสะอาดกระบะทรายแมวบ่อย ๆ เพื่อกำจัดตัวเชื้อและควรสวมถุงมือทุกครั้งขณะทำความสะอาด นอกจากนี้การเลี้ยงแมวในบ้านด้วยอาหารเม็ดหรืออาหารปรุงสุก ช่วยลดอัตราการเกิดโรคนี้ได้
โรคติดเชื้อจากเชื้อรา
- โรคกลากจากแมว (dermatophytosis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเชื้อราที่ก่อโรคในแมวและติดต่อสู่คนได้นี้คือ Microsporum canis ซึ่งมักพบบ่อยในลูกแมว แมวที่มีขนยาว และแมวที่มาจากสถานที่เลี้ยงที่แออัด อาการของแมวที่ติดเชื้อราสังเกตได้จากผิวหนังที่แห้ง แดง หรือลอกเป็นขุยสีขาว-เทา และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย โดยเชื้อราที่พบบนผิวหนังแมวแพร่กระจายสู่คนได้ผ่านการสัมผัส การติดเชื้อรานี้ในคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิคุ้มกัน อายุ สุขภาพ พื้นที่ที่สัมผัส สุขลักษณะของผู้สัมผัสแมว เป็นต้น อาการของโรคกลากจากแมวมีลักษณะคล้ายคลึงโรคกลากทั่วไป ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นเป็นวงตามร่างกาย มีขุยขึ้นบริเวณรอบ ๆ ผื่นแดง และมีอาการคันที่ผื่นแดง สามารถรักษาได้ด้วยยาทาต้านเชื้อรา เช่น clotrimazole cream ทาต่อเนื่องนาน 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากพบผื่นแดงเป็นจำนวนมาก หรือติดเชื้อที่หนังศีรษะ เพื่อประเมินการให้ยาต้านเชื้อราแบบรับประทานร่วมด้วย การป้องกันโรคกลากจากแมวทำได้โดยอาบน้ำให้แมวอย่างสม่ำเสมอและเป่าขนแมวให้แห้งสนิททุกครั้ง หมั่นทำความสะอาดพื้นที่อยู่ของแมวและบริเวณบ้าน และทำความสะอาดมือหรือผิวหนังที่สัมผัสแมว
จะเห็นได้ว่ามีโรคติดเชื้อหลายชนิดที่สามารถติดต่อได้จากแมวสู่คน แต่ผู้รักน้องแมวไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะโรคส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังเล่นกับน้องแมว นอกจากนั้นยังลดอัตราการเกิดโรคได้หากเลี้ยงแมวในระบบปิด และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของน้องแมวบ่อย ๆ อีกทั้งโรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักหายได้เองในคนที่มีร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ว่าจากยาหรือโรคอื่น ๆ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษจากการติดโรคเหล่านี้จากแมวที่เรารัก และหากสงสัยว่าตนเองติดโรคเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที