เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://domf5oio6qrcr.cloudfront.net/medialibrary/9404/iStock-505820296.jpg
อ่านแล้ว 47,727 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/10/2565
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/2cj64a5e
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/2cj64a5e
 


วิตามินมีความสำคัญต่อร่างกายทุกช่วงอายุ ช่วยการทำงานของทุกระบบในร่างกาย ทุกคนจึงต้องได้รับวิตามินอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับวิตามินมาจากอาหาร มีเป็นส่วนน้อยที่ร่างกายสร้างได้ ผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับวิตามินไม่เพียงพอควรบริโภควิตามินเสริม มีผลิตภัณฑ์ประเภทวิตามินชนิดที่ให้เสริมอาหารออกวางจำหน่ายมากมาย ผู้บริโภคอาจได้รับวิตามินซ้ำซ้อนจนมากเกินและเกิดอันตราย โดยเฉพาะวิตามินชนิดที่ละลายได้ในไขมัน ในบทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มและชื่อเรียกวิตามิน (ช่วยให้เกิดความเข้าใจและลดความซ้ำซ้อนในการบริโภค), ความสำคัญของวิตามินและปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ, สาเหตุของการบริโภควิตามินมากเกิน, อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน และข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภควิตามินมากเกินจนเกิดอันตราย

การแบ่งกลุ่มและชื่อเรียกวิตามิน

วิตามินมีมากมาย ชื่อเรียกที่ต่างกันอาจเป็นวิตามินชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดกันแต่มีฤทธิ์รวมถึงผลเสียที่เหมือนกัน การรู้ถึงชื่อเรียกวิตามินชนิดต่าง ๆ ช่วยให้เกิดความเข้าใจและลดความซ้ำซ้อนในการบริโภควิตามินชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันแต่มีฤทธิ์ที่เหมือนกัน วิตามินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้

1. กลุ่มวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน (fat-soluble vitamins) ได้แก่ วิตามินเอ (vitamin A) ซึ่งครอบคลุมถึงเรตินอล (retinol), เรตินาล (retinal), เรตินิลเอสเทอร์ (retinyl esters), เรติโนอิกแอซิด หรือกรดเรติโนอิก หรือกรดวิตามินเอ (retinoic acid) และยังอาจครอบคลุมถึงสารกลุ่มที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ (provitamin A) คือกลุ่มแคโรทินอยด์ (carotenoids) เช่น เบตาแคโรทีน (beta-carotene) สารเหล่านี้จัดเป็นพวกวิตามินเอและมีฤทธิ์เหมือนกัน หากบริโภคซ้ำซ้อนจะทำให้ได้รับมากเกินและเป็นอันตรายได้, วิตามินดี (vitamin D) หรือชื่ออื่นคือกลุ่มแคลซิเฟอรอล (calciferols) ซึ่งครอบคลุมถึงวิตามินดี 2 (vitamin D2) หรือชื่ออื่นคือเออร์โกแคลซิเฟอรอล (ergocalciferol) ที่ได้จากอาหาร และวิตามินดี 3 (vitamin D3) หรือชื่ออื่นคือโคเลแคลซิเฟอรอล (cholecalciferol) ที่ได้จากอาหารและสร้างที่ผิวหนังเมื่อได้รับแสงแดด, วิตามินอี (vitamin E) ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงสารพวกโทโคฟีรอล (tocopherols) เช่น แอลฟา-โทโคฟีรอล (alpha-tocopherol) และวิตามินเค (vitamin K) ซึ่งในธรรมชาติอยู่ในรูปวิตามินเค 1 (vitamin K1) หรือชื่ออื่นคือฟิลโลควิโนน (phylloquinone) ได้จากผักใบเขียว และวิตามินเค 2 (vitamin K2) หรือชื่ออื่นคือเมนาควิโนน (menaquinone) ได้จากอาหารที่มาจากสัตว์ อาหารหมัก และสร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้

2. กลุ่มวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ (water-soluble vitamins) ได้แก่ กลุ่มวิตามินบีรวม (vitamin B complex) ซึ่งมีมากมาย ได้แก่ วิตามินบี 1 (vitamin B1) หรือชื่ออื่นคือไทอะมีน (thiamine) หรือไทอะมิน (thiamin), วิตามินบี 2 (vitamin B2) หรือชื่ออื่นคือไรโบฟลาวิน (riboflavin), วิตามินบี 3 (vitamin B3) ซึ่งครอบคลุมถึงไนอะซิน (niacin) หรือชื่ออื่นคือนิโคตินิกแอซิดหรือกรดนิโคตินิก (nicotinic acid), ไนอะซินาไมด์ (niacinamide) หรือชื่ออื่นคือนิโคตินาไมด์ (nicotinamide) และมีสารอื่นอีก, วิตามินบี 5 (vitamin B5) หรือชื่ออื่นคือแพนโททินิกแอซิดหรือกรดแพนโททินิก (pantothenic acid), วิตามินบี 6 (vitamin B6) ในธรรมชาติพบในรูปไพริดอกซีน (pyridoxine) หรือชื่ออื่นคือไพริดอกซอล (pyridoxol ซึ่งมีโครงสร้างเป็นแอลกอฮอล์), ไพริดอกซามีน (pyridoxamine ซึ่งมีโครงสร้างเป็นอะมีน) และไพริดอกซาล (pyridoxal ซึ่งมีโครงสร้างเป็นอัลดีไฮด์), วิตามินบี 7 (vitamin B7) หรือชื่ออื่นที่คุ้นเคยคือไบโอติน (biotin), วิตามินบี 9 (vitamin B9) ซึ่งครอบคลุมถึงโฟเลต (folate) พบในธรรมชาติ และโฟลิกแอซิดหรือกรดโฟลิก (folic acid) เป็นสารสังเคราะห์เพื่อใช้แทนโฟเลต, วิตามินบี 12 (vitamin B12) หรือชื่ออื่นคือไซยาโนโคบาลามิน (cyanocobalamin), และวิตามินซี (vitamin C) หรือชื่ออื่นคือแอสคอร์บิกแอซิดหรือกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid)
ความสำคัญของวิตามินและปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ

วิตามินมีความสำคัญต่อร่างกายทุกช่วงอายุ ปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันอาจแตกต่างกันตามเพศและวัย วิตามินช่วยการทำงานของทุกระบบในร่างกาย รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน วิตามินดียังทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ควบคุมกระบวนการแมแทบอลิซึมของกระดูก และช่วยในการเจริญเติบโต ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับวิตามินมาจากอาหาร มีเป็นส่วนน้อยที่ร่างกายสร้างได้ (ปริมาณวิตามินในอาหารประเภทต่าง ๆ สามารถค้นข้อมูลได้จากแหล่งอื่น ไม่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้) วิตามินในอาหารสลายไปบางส่วนเมื่อถูกความร้อนขณะปรุงอาหารโดยเฉพาะวิตามินกลุ่มที่ละลายได้ในน้ำ อาหารที่มาจากธรรมชาติหากเก็บไว้นานปริมาณวิตามินลดลงได้ หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องการสารอาหารซึ่งรวมถึงวิตามินมากกว่าคนทั่วไป ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารได้น้อยอีกทั้งทางเดินอาหารดูดซึมสารอาหารได้ลดลงจึงอาจเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินไม่เพียงพอ ผลกระทบที่เกิดจากการบริโภควิตามินไม่เพียงพอมีได้แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของวิตามิน โดยรวมแล้วจะทำให้เจริญเติบโตช้า (กรณีที่เป็นเด็ก) ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานโรคลดลง สุขภาพผิวหนังและเส้นผมไม่ดี การมองเห็นบกพร่อง ระบบประสาททำงานผิดปกติ เป็นต้น การขาดวิตามินอย่างรุนแรงทำให้เกิดโรค เช่น การขาดวิตามินบี 1 ทำให้เกิดโรคเหน็บชา (beriberi), การขาดวิตามินบี 3 ทำให้เกิดโรคเพลแลกรา (pellagra), การขาดวิตามินซีทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด (scurvy), การขาดวิตามินดีทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (rickets) ผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับวิตามินไม่เพียงพอจึงควรบริโภควิตามินเสริม ปริมาณวิตามินที่ควรได้รับในแต่ละวันดูได้จากดูตาราง



สาเหตุของการบริโภควิตามินมากเกิน

การบริโภควิตามินมากเกินอาจมีสาเหตุมาจากสิ่งที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้

1. ผลิตภัณฑ์ประเภทวิตามินชนิดที่ให้เสริม จัดเป็นสาเหตุสำคัญของการบริโภควิตามินมากเกินที่พบในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีจำหน่ายมากมายและหาซื้อได้สะดวก มีทั้งชนิดที่เป็นวิตามินรวม (multivitamins) และวิตามินผสมแร่ธาตุ (vitamins and minerals) ไม่ควรบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริมโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์หรือนักโภชนาการ และไม่ควรบริโภคเกินขนาดที่แนะนำ ชื่อวิตามินที่ระบุไว้ต่างกันอาจเป็นวิตามินชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดกันแต่มีฤทธิ์เหมือนกัน หากบริโภคซ้ำซ้อนอาจได้รับวิตามินมากเกิน เช่น “วิตามินเอ (vitamin A)” ซ้ำซ้อนกับ “เรตินอล (retinol)”, “วิตามินบี 3 (vitamin B3)” ซ้ำซ้อนกับ “ไนอะซิน (niacin)” และซ้ำซ้อนกับ “นิโคตินิกแอซิด (nicotinic acid)”, “วิตามินดี (vitamin D)” ซ้ำซ้อนกับ “เออร์โกแคลซิเฟอรอล (ergocalciferol)” และซ้ำซ้อนกับ “โคเลแคลซิเฟอรอล (cholecalciferol)” ดูชื่อวิตามินเพิ่มเติมในหัวข้อ การแบ่งกลุ่มและชื่อเรียกวิตามิน นอกจากนี้การบริโภคตามกระแสความเชื่อโดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้มาสนับสนุนทำให้เกิดการบริโภคมากเกินได้เช่นกัน

2. วิตามินที่ใช้เป็นยา เป็นสาเหตุของการบริโภควิตามินมากเกินได้แม้พบไม่บ่อยเท่าการบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริม เช่น วิตามินดีที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน การบริโภคยาเป็นเวลานานและในปริมาณสูงทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง และภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง ทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แม้ว่าระดับวิตามินดีในเลือดอาจไม่สูง หรือผู้ที่ใช้ยาไอโซเทรทิโนอิน (isotretinoin) ซึ่งเป็นยารักษาสิวชนิดรับประทาน ยานี้เป็นอนุพันธ์วิตามินเอ การบริโภคยาดังกล่าวเป็นเวลานานอาจเกิดความเป็นพิษคล้ายกับการได้รับวิตามินเอมากเกิน ผู้ที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการบริโภควิตามินเอเสริม

3. อาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยการเติมสารอาหาร (fortified foods) ซึ่งสารอาหารที่เติมมีหลายอย่างรวมถึงวิตามิน อาหารมีทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทนม, โยเกิร์ต, นมถั่วเหลือง, ขนมปัง, ผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืชที่รับประทานเป็นอาหารเช้า เป็นต้น การบริโภคอาหารประเภทนี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการบริโภควิตามินมากเกินหากรับประทานร่วมกับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่มีวิตามิน

4. อาหารที่มีปริมาณวิตามินสูงมาก โดยทั่วไปการบริโภควิตามินในอาหารที่มาจากธรรมชาติไม่เป็นสาเหตุของการได้รับวิตามินมากเกิน ยกเว้นการบริโภคตับปลาบางชนิดในปริมาณมาก เช่น มีรายงานถึงการเกิดภาวะที่มีวิตามินเอในเลือดสูงจนเกิดอาการพิษในผู้ที่บริโภคตับปลาทะเลปริมาณมากในคราวเดียว (ตับปลา 1 กิโลกรัมร่วมกันบริโภค 3 คน เกิดอาการผิดปกติหลังการบริโภค 2 ขั่วโมง) หรือผู้บริโภคตับปลาถี่เกิน (ครั้งละประมาณ 100 กรัม จำนวน 4 ครั้งในช่วง 15 วัน) ส่วนการบริโภคอาหารที่มีเบตาแคโรทีนปริมาณสูงจนสภาพผิวหนังชั้นนอกสุดเป็นสีเหลืองส้ม (carotenodermia หรือ carotenosis) นั้นไม่เป็นอันตรายและกลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดบริโภค


อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน

วิตามินที่มาจากธรรมชาติมักไม่พบการบริโภคจนมากเกินหรือการสะสมจนเกิดเป็นอันตราย (อาจพบได้บ้างเป็นส่วนน้อยในกรณีที่บริโภคตับปลาบางชนิดในปริมาณมากหรือบริโภคบ่อยเกินตามที่กล่าวข้างต้น) ส่วนใหญ่การบริโภควิตามินมากเกินที่เป็นปัญหาและพบได้ทั่วโลกเกิดจากวิตามินชนิดที่ให้เสริม แม้ว่าการตรวจวัดระดับวิตามินในเลือดและพบภาวะวิตามินในเลือดสูง (hypervitaminosis) จะช่วยยืนยันว่ามีการบริโภคมากเกินและเสี่ยงต่อความเป็นพิษ แต่บางครั้งความเป็นพิษเกิดได้โดยไม่พบภาวะวิตามินในเลือดสูง วิตามินที่ละลายได้ในไขมันมีโอกาสเกิดความเป็นพิษมากกว่าวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ เนื่องจากมีการสะสมในเนื้อเยื่อ เช่น ที่ตับ ไต หัวใจ และอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อเหล่านั้น การบริโภควิตามินที่ละลายได้ในน้ำในปริมาณมากจนเกิดอันตรายพบได้น้อย เนื่องจากวิตามินที่มากเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะและบางชนิดถูกขับออกทางอุจจาระได้ด้วย ปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้โดยไม่เป็นอันตรายของวิตามินบางชนิดมีระบุไว้ในตาราง อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกินอาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือเกิดแบบเรื้อรังดังกล่าวข้างล่างนี้

อันตรายที่เกิดแบบเฉียบพลัน อันตรายหรืออาการพิษที่เกิดแบบเฉียบพลันจากการบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริมนั้นยังไม่มีข้อมูล การใช้วิตามินเป็นยารักษาโรคและใช้เกินขนาดทำให้เกิดอาการพิษแบบเฉียบพลันได้ ซึ่งมีโอกาสเกิดเช่นเดียวกับยารักษาโรคชนิดอื่นทั่วไป และมีโอกาสเกิดได้ไม่ว่าจะเป็นวิตามินชนิดละลายได้ในไขมันหรือวิตามินชนิดละลายได้ในน้ำ โดยเฉพาะหากให้ยาโดยการฉีดและให้เกินขนาด อาการพิษแบบเฉียบพลันเกิดได้แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของวิตามิน แต่มีอาการโดยทั่วไปที่คล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไม่รู้สึกตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่าย สับสน

อันตรายที่เกิดแบบเรื้อรัง พบได้มากเมื่อบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริม เกิดจากการบริโภคมากเกินเป็นเวลานาน ผู้บริโภคมักซื้อผลิตภัณฑ์มาบริโภคเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์หรือนักโภชนาการ และส่วนใหญ่ผู้บริโภคไม่ทราบถึงปริมาณวิตามินที่ควรได้รับต่อวัน ตลอดจนไม่ทราบถึงปริมาณที่บริโภคไปในแต่ละวัน ทำให้บริโภคมากเกินจนเกิดความเป็นพิษเรื้อรังได้ อาการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามชนิดของวิตามินที่บริโภคมากเกิน (ดูรายละเอียดในตาราง) แต่มีอาการโดยทั่วไปที่คล้ายกัน เช่น ร่างกายอ่อนแอลง ทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง ออกกำลังกายไม่ไหว อ่อนล้า เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้

วิตามินชนิดที่ละลายได้ในไขมัน ความเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากวิตามินเอและวิตามินดี พบการสะสมที่เนื้อเยื่อบางแห่ง เช่น ตับ ไต หัวใจ ส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะเหล่านั้น อาจเกิดรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ในกรณีที่บริโภควิตามินดีมากเกินจนเกิดความเป็นพิษนั้นเกิดจากการที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง และภาวะแคลเซียมในปัสสาวะสูง พบการสะสมแคลเซียมที่เนื้อเยื่อไตและการเกิดนิ่วแคลเซียมที่ไต แม้ว่าระดับวิตามินดีในเลือดอาจไม่สูง

วิตามินชนิดที่ละลายได้ในน้ำ พบรายงานการเกิดความเป็นพิษได้น้อยกว่าวิตามินเอและวิตามินดี วิตามินในกลุ่มนี้ที่มีรายงานถึงการบริโภคมากเกินจนเกิดอันตราย เช่น วิตามินบี 6 ทำอันตรายต่อประสาทส่วนปลาย ทำให้รู้สึกเสียวแปลบ แสบร้อน หรือชา มักเกิดที่มือหรือเท้า อาจทำอันตรายต่อประสาทส่วนปลายที่อื่นได้ด้วย เช่น ที่กระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดปัญหาในการขับถ่าย หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้าและยังคงบริโภควิตามินบี 6 มากเกินอาจทำให้ประสาทส่วนปลายเสียหายมากขึ้นและเซลล์ประสาทอาจถูกทำลายอย่างถาวร สำหรับวิตามินบี 12 แม้เป็นชนิดที่ละลายได้ในน้ำแต่การบริโภคปริมาณมากเป็นเวลานาน พบการสะสมที่ตับและเกิดภาวะวิตามินบี 12 ในเลือดสูงได้ ส่วนวิตามินซีหากบริโภคปริมาณมากเป็นเวลานานแม้ไม่พบผลเสียที่รุนแรง แต่อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เวียนศีรษะ มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ปวดท้อง กระตุ้นการสะสมสารออกซาเลต (oxalates) ทำให้เกิดนิ่วที่เนื้อเยื่อไตและในถุงน้ำดี


ข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภควิตามินมากเกินจนเกิดอันตราย

วิตามินเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายจึงควรได้รับอย่างเพียงพอ แต่บางคนอาจบริโภคมากเกินจนอาจเกิดอันตราย จึงมีข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภควิตามินมากเกินไว้ดังนี้
  1. วิตามินที่ได้รับจากอาหารมักไม่ใช่สาเหตุของการบริโภควิตามินมากเกิน ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่และในปริมาณที่เพียงพอเพื่อลดการบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริม
  2. การบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อมาบริโภคเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์หรือนักโภชนาการ และควรบริโภคตามขนาดที่ระบุไว้บนฉลาก หรือตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์หรือนักโภชนาการ
  3. ไม่บริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริมตามกระแสความเชื่อ โดยที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน เพราะอาจนำไปสู่การบริโภควิตามินมากเกินจนเกิดอันตราย
  4. มีผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีส่วนผสมของวิตามินวางจำหน่ายมากมาย มีทั้งผลิตภัณฑ์วิตามินรวม วิตามินผสมแร่ธาตุ อาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยการเติมสารอาหารรวมถึงวิตามิน (fortified foods) เป็นต้น หากบริโภคหลายผลิตภัณฑ์ร่วมกันอาจได้รับวิตามินมากเกินจนเกิดอันตราย
  5. ชื่อวิตามินบนฉลากแม้ระบุต่างกัน อาจเป็นวิตามินชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดกันแต่มีฤทธิ์รวมถึงผลเสียที่เหมือนกัน ผู้บริโภคควรทำความเข้าใจกับชื่อเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดการบริโภคซ้ำซ้อน (ดูชื่อวิตามินต่าง ๆ ในหัวข้อ การแบ่งกลุ่มและชื่อเรียกวิตามิน)
  6. ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินและใช้บริโภคเพื่อการให้เสริม มักไม่กำหนดขนาดบริโภคที่เหมาะสมและไม่มีคำเตือน ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคควรใส่ใจทั้งชนิดและปริมาณของวิตามินในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดการบริโภคมากเกิน (ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณวิตามินที่ควรได้รับและปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ ดูในตาราง)
  7. ยาบางชนิดแม้ไม่ใช่วิตามิน เช่น ยารักษาสิวไอโซเทรทิโนอิน (isotretinoin) แต่มีโครงสร้างคล้ายวิตามินเอและทำให้เกิดอาการพิษได้เหมือนกัน จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ที่ใช้ยานี้หลีกเลี่ยงการบริโภควิตามินเอเสริม
  8. วิตามินมีความสำคัญต่อหญิงมีครรภ์และบางชนิดควรได้รับมากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตามไม่ควรซื้อวิตามินมาบริโภคเอง อีกทั้งไม่ควรบริโภคเกินขนาดที่แนะนำ นอกจากนี้การบริโภควิตามินเอขนาดสูงอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการรุนแรง
  9. ผู้ที่เป็นโรคตับ ผู้ที่ดื่มสุรา ตลอดจนผู้ที่ใช้ยาที่อาจเป็นพิษต่อตับ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภควิตามินชนิดที่ให้เสริม เนื่องจากวิตามินที่ละลายได้ในไขมันและวิตามินบี 12 สะสมที่ตับ จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อตับได้มากกว่าคนทั่วไป
  10. อันตรายที่เกิดจากการบริโภควิตามินมากเกินแสดงออกได้หลายอย่างขึ้นกับชนิดของวิตามิน หากพบว่าร่างกายอ่อนแอลง อ่อนล้า เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกระดูก ปลายประสาทอักเสบ (รู้สึกเสียวแปลบ แสบร้อน หรือชา ซึ่งมักเกิดที่มือหรือเท้า) มีอาการการเดินเซ หรือเกิดอาการผิดปกติอย่างอื่นที่สงสัยว่าเกิดจากวิตามินที่บริโภค ควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ หากเกิดจากวิตามินเมื่อหยุดบริโภคอาการต่าง ๆ จะหายไป เว้นแต่ว่าจะปล่อยไว้นานจนเซลล์หรือเนื้อเยื่อเกิดความเสียหายแบบถาวร
เอกสารอ้างอิง
  1. Saljoughian M. Hypervitaminosis: a global concern. US Pharm 2021; 46(10):47-50.
  2. A?kÏn Ö, Uzunçakmak TKÜ, Altunkalem N, Tüzün Y. Vitamin deficiencies/hypervitaminosis and the skin. Clin Dermatol 2021; 39:847-57.
  3. Fox R, Stace N, Wood K, French C. Liver toxicity from vitamin A. JGH Open 2020; 4:287-8.
  4. Olson JM, Ameer MA, Goyal A. Vitamin A toxicity, updated: August 8, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK532916/. Accessed: October 15, 2022.
  5. Schmitt C, Domangé B, Torrents R, de Haro L, Simon N. Hypervitaminosis A following the ingestion of fish liver: report on 3 cases from the poison control center in marseille. Wilderness Environ Med 2020; 31:454-6.
  6. Sy AM, Kumar SR, Steinberg J, Garcia-Buitrago MT, Arosemena Benitez LR. Liver damage due to hypervitaminosis. ACG Case Rep J 2020. doi: 10.14309/crj.0000000000000431. Accessed: October 15, 2022.
  7. Lanska DJ. Pyridoxine deficiency and toxicity, updated: May 28, 2022. https://www.medlink.com/articles/pyridoxine-deficiency-and-toxicity. Accessed: October 15, 2022.
  8. Hadtstein F, Vrolijk M. Vitamin B-6-induced neuropathy: exploring the mechanisms of pyridoxine toxicity. Adv Nutr 2021; 12:1911-29.
  9. Van den Broeck T, Crul B, Heesakkers JP. Neurogenic voiding dysfunction induced by vitamin B6 overdose. Continence Reports 2022. doi.org/10.1016/j.contre.2022.100004. Accessed: October 15, 2022.
  10. Peripheral neuropathy with supplementary vitamin B6 (pyridoxine), published: October 4, 2022. https://www.tga.gov.au/news/safety-updates/peripheral-neuropathy-supplementary-vitamin-b6-pyridoxine. Accessed: October 15, 2022.
  11. Mudryj A, De Groh M, Aukema H, Yu N. Folate intakes from diet and supplements may place certain Canadians at risk for folic acid toxicity. Br J Nutr 2016: 116:1236-45.
  12. Koprivica M, Bjelanovic J. Hypervitaminosis B12. Med čas 2021; 55:139-43.
  13. Vitamin C, fact sheet for health professionals. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/. Accessed: October 15, 2022.
  14. Doseděl M, Jirkovský E, Macáková K, Krčmová LK, Javorská L, Pourová J, et al. Vitamin C-sources, physiological role, kinetics, deficiency, use, toxicity, and determination. Nutrients 2021. doi: 10.3390/nu13020615. Accessed: October 15, 2022.
  15. Haridas K, Holick MF, Burmeister LA. Hypercalcemia, nephrolithiasis, and hypervitaminosis D precipitated by supplementation in a susceptible individual. Nutrition 2020. doi: 10.1016/j.nut.2020.110754. Accessed: October 15, 2022.
  16. Razzaque MS. Can adverse effects of excessive vitamin D supplementation occur without developing hypervitaminosis D? J Steroid Biochem Mol Biol 2018; 180:81-6.
  17. Bhat JR, Geelani SA, Khan AA, Roshan R, Rathod SG. Vitamin D toxicity due to self-prescription: A case report. J Family Med Prim Care 2022; 11:1561-3.
  18. Houghton CC, Lew SQ. Long-term hypervitaminosis D-induced hypercalcaemia treated with glucocorticoids and bisphosphonates. BMJ Case Rep 2020. doi: 10.1136/bcr-2019-233853. Accessed: October 15, 2022.
  19. Batman A, Altuntas Y. Risk of hypercalcemia in elderly patients with hypervitaminosis D and intoxication. Acta Endocrinol 2021; 17:200-6.
  20. Sharma N, Landsberg E, Kumar V, Gambhir HSS. A curious case of hypervitaminosis D. Cureus 2020. doi: 10.7759/cureus.8515. Accessed: October 15, 2022.
  21. Alkundi A, Momoh R, Musa A, Nwafor N. Vitamin D intoxication and severe hypercalcaemia complicating nutritional supplements misuse. BMJ Case Rep 2022. doi: 10.1136/bcr-2022-250553. Accessed: October 15, 2022.
  22. Owen KN, Dewald O. Vitamin E toxicity, updated: June 19, 2022. In: StatPearls. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2022 Jan-. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK564373/. Accessed: October 15, 2022.
  23. Mladěnka P, Macáková K, Kujovská Krčmová L, Javorská L, Mrštná K, Carazo A, et al. Vitamin K - sources, physiological role, kinetics, deficiency, detection, therapeutic use, and toxicity. Nutr Rev 2022; 80:677-98.
  24. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้