เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ส้นเท้าแตก....การดูแลและป้องกัน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. บุญธิดา มระกูล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://denielfootandanklecenter.com/wp-...dheels.jpg
อ่านแล้ว 63,985 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/01/2565
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ส้นเท้าแตกเป็นภาวะที่เกิดรอยแยกหรือรอยแตกในผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้า เกิดจากภาวะผิวขาดน้ำและอาจเกิดร่วมกับภาวะเคราตินมากเกินไป ในช่วงแรกรอยแตกของผิวหนังเหล่านี้จะเกิดเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ บริเวณเท้าซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับความกดดันและการเสียดสีจากการเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลทำให้รอยแตกลึกขึ้นจนถึงชั้นผิวหนังแท้ เริ่มมีเลือดออก และเกิดความเจ็บปวดตามน้ำหนักตัวและกิจกรรมที่ทำ รอยแตกเหล่านี้ถือเป็นแผลที่ผิวหนังซึ่งควรได้รับการดูแล ถึงแม้ในกรณีส่วนใหญ่รอยแห้งแตกเหล่านี้เพียงแค่ก่อความรำคาญและทำให้ไม่สวยงาม อย่างไรก็ตามหากปล่อยทิ้งไว้จนรอยแตกขยายไปถึงชั้นผิวหนังแท้ การยืน เดิน หรือแม้แต่นอนอยู่บนเตียงอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดได้ รอยแตกดังกล่าวทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น เกิดเป็นแผลพุพอง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานและโรคหลอดเลือดส่วนปลาย1 นอกจากผู้ป่วยเบาหวานแล้วโรคอื่นๆที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแห้งแตกของส้นเท้าได้มากเช่น ผู้มีภาวะ พร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคหนังแข็ง เป็นต้น 


ภาพจาก : https://images.tv9bangla.com/wp-content/uploads/2022/01/1280720-41.jpg?w=480&dpr=2.6  

การดูแลรักษาส้นเท้าแตก

การดูแลรักษาภาวะส้นเท้าแตกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีหลักพื้นฐานที่ควรคำนึงถึง ดังนี้

  1. การป้องกันความแห้งแตกของผิวบริเวณส้นเท้า
  2. การใช้แผ่นรองส้นเท้า เพื่อลดแรงกดดันและการเสียดสี
  3. การรักษาภาวะหนาตัวผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก (hyperkeratosis) โดยการใช้ยา
  4. การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสบริเวณที่เกิดแผลเปิด ด้วยยาที่เหมาะสม

สำหรับภาวะส้นเท้าแตกที่รอยโรคยังอยู่ตื้นสามารถรักษาโดยการลดการเกิดความหนาตัวผิดปกติของผิวหนังชั้นนอกด้วยการขัดผิว ตะไบผิว หรือใช้สารที่มีฤทธิ์เร่งผลัดเซลล์ผิว ร่วมกับการให้สารเพิ่มความชุ่มชื้นและฟื้นฟูเกราะป้องกันผิว2 ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการรักษา โดยปกติเซลล์ผิวในชั้น stratum corneum ทำหน้าที่ในการรักษาความชุ่มชื้นของน้ำในผิวโดยทำงานร่วมกับสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (natural moisturizing factor) ได้แก่ ยูเรียและไขมันนอกเซลล์ซึ่งมีหน้าที่ประสานระหว่างเซลล์เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิว เมื่อเกราะป้องกันเหล่านี้เกิดการทำงานที่บกพร่องจะทำให้ผิวเกิดภาวะขาดน้ำ เกิดผิวชรา และการอักเสบของผิวหนัง 

สารให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว (emollients) 
เป็นสารที่มีส่วนประกอบจากไขมัน ช่วยทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น ปกคลุมผิวชั้นนอกป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิว อาจอยู่ในรูปแบบของขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น เจล และสเปรย์ โดยวิธีการใช้สารเหล่านี้สามารถใช้เป็นทั้งสารทดแทนสบู่เพื่อทำความสะอาดผิว และใช้ทาผิวทิ้งไว้เพื่อเป็นมอยส์เจอไรเซอร์หลังการล้าง สาร emollients มีคุณสมบัติทำให้พื้นผิวมีความลื่นจึงควรทาในตอนกลางคืนก่อนการเข้านอนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม และพบว่าการทำให้ผิวอยู่ในสภาวะปิดหลังการทาโดยการใส่ถุงเท้าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความชุ่มชื้นของผิวได้ดียิ่งขึ้น3 

สารดูดซับความชุ่มชื้นให้ผิว (humectant) 
เช่น ยูเรีย กรดแลคติก และกลีเซอรีน ทำหน้าที่เป็นสารช่วยเสริมการรักษาความชุ่มชื้นผิวร่วมกับสาร emollients และช่วยดูดความชุ่มชื้นจากผิวชั้นหนังแท้เข้าสู่ชั้นหนังกำพร้า ช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิวชั้นในสู่ชั้นนอกของผิวชั้นหนังกำพร้า โดยพบว่ายูเรียที่ความเข้มข้น 10% และ 25% มีฤทธิ์ในการเร่งผลัดเซลล์ผิว ลดการลอกเป็นขุยของผิวชั้นหนังกำพร้าได้ โดยความเข้มข้นของยูเรียที่ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับความรุนแรงของรอยโรค 

แนวทางการรักษา NICE guideline (2004)4 
แนะนำการใช้สาร emollients ผสมสารดูดซับความชุ่มชื้นยูเรียเป็นประจำสำหรับการดูแลเท้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การใช้สารดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ความยืดหยุ่น และการเกิดสะเก็ดบนผิวชั้น stratum corneum ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผล ป้องกันการเกิดรอยแตกและผิวหนังด้าน สาร emollients เป็นสารที่ถือว่ามีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่ำ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้ emollients ที่ผสมกับยูเรียความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดการแสบผิวหรือไม่สบายผิว ซึ่งการลดปริมาณความเข้มข้นของยูเรียลงจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ 

สำหรับภาวะส้นเท้าแตกที่มีรอยโรคลึกและเป็นแผล เมื่อเกิดรอยแตกและผิวหนังด้านควรดำเนินการรักษาโดยปิดรอยแตกที่เกิดขึ้นทันทีเพื่อป้องกันการเจ็บปวดและการติดเชื้อที่อาจตามมา กาวติดผิว cyanoacrylate เป็นสารยึดติดผิวหนังอาจถูกใช้เป็นทางเลือกเสริมในการรักษาภาวะส้นเท้าแตกเป็นแผลสำหรับการรักษาในระยะสั้น ช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการรักษาบาดแผลและช่วยป้องกันการติดเชื้อจุลชีพ ร่วมกับการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ซึ่งเหมาะสมกับชนิดของเชื้อเมื่อเกิดการติดเชื้อ และการลดรอยแตกของผิวโดยการให้ความชุ่มชื้น กำจัดผิวที่มีเคราตินมากเกิน และการฟื้นฟูผิว5 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Pavicic T, Korting HC. Xerosis and callus formation as a key to the diabetic foot syndrome: dermatological view of the problem and its management. J Dtsch Dermatol Ges. 2006; 4(11): 935-941.
  2. Hashmi F, Nester C, Wright C, Newton V, Lam S. Characterising the biophysical properties of normal and hyperkeratotic foot skin. J Foot Ankle Res. 2015; 12(8): 35.
  3. Springett K, Deane M, Dancaster P. Treatment of corns, calluses and heel fissures with a hydrocolloid dressing. J Br Podiatr Med. 2001; 52(7): 102-104.
  4. National Institute of Health and Care Excellence. Type-2 Diabetes: Prevention and management of foot problems. Clinical guideline 10, January 2004. NICE, London. Available at: https://www.nice.org.uk/guidance/cg10?unlid=93368616920162723333 
  5. Longhurst B, Steele C. Dry heel fissures: treatment and prevention. Dermatological Nursing. 2016; 15(3): 46-49.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้