เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (เบาหวานขึ้นตา)


อาจารย์ ดร.ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่รวบรวมข้อมูล: 26 เมษายน พ.ศ. 2564


ภาพประกอบจาก: https://www.modernretina.com/view/review...etinopathy
อ่านแล้ว 9,383 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 06/05/2564
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


โรคเบาหวาน เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มีการคาดการณ์ว่า จะมีคนเป็นโรคเบาหวาน 642 ล้านคนในปี ค.ศ. 2040 ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา (diabetic retinopathy) หรือที่เรียกว่า “เบาหวานขึ้นตา” ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยประมาณว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีเบาหวานขึ้นตา และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตาจะมีปัญหาด้านการมองเห็นด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2006 ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีเบาหวานขึ้นตาร่วมด้วย ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวสัมพันธ์กับระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน ระดับ HbA1C ที่สูง โรคความดันโลหิตสูง และภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน 
 
ภาพจาก : https://www.aoa.org/AOA/Images/Patients/Eye%20Conditions/Male_Computer_Vision_Syndrome_Dry_Eye_Tired_AdobeStock_261825553.jpg 
ภาวะเบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่มาจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี และระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวานที่ค่อนข้างนาน ทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาเกิดความผิดปกติ เสื่อมลง หรือมีเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงมาด้วยอาการตามัว ซึ่งระดับของอาการตามัว ขึ้นกับระยะความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นตา และบริเวณที่มีความผิดปกติในจอประสาทตา หากเส้นเลือดไปเลี้ยงเกิดความผิดปกติ หรือมีจุดเลือดออกบริเวณจุดรับภาพ (macula) จุดรับภาพมีภาวะบวม รวมทั้งจอประสาทตาลอกจากผนังด้านในลูกตา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวมากได้ 
ระยะความรุนแรงของภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา แบ่งหลัก ๆ เป็น 2 ระยะ คือ

  1. ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาที่ยังไม่มีการสร้างเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่
  2. เบาหวานเข้าจอประสาทตาที่มีการสร้างเส้นเลือดขนาดเล็กใหม่

การแบ่งระยะจะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกวิธีการรักษา และการนัดติดตามอาการโดยจักษุแพทย์ ซึ่งมีแนวทางการรักษาดังนี้

  1. การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยแนะนำว่า ควรควบคุมให้ระดับน้ำตาลสะสม (ระดับ HbA1C น้อยกว่าร้อยละ 7)
  2. การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา ซึ่งอาจใช้เพื่อลดการสร้างเส้นเลือดใหม่
  3. การผ่าตัด ในระยะที่ผู้ป่วยมีเลือดออกในตามาก จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น จอประสาทตาลอก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาการทางสายตาดังนี้

  1. ควรหมั่นดูแลสุขภาพ ควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน ระดับความดันโลหิต
  2. หากยังไม่เป็นภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา แนะนำให้ตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี และหากตั้งครรภ์ควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ซึ่งแพทย์จะนัดตรวจถี่ขึ้นตามความเหมาะสม
  3. สังเกตตนเอง หากมีอาการตามัวลง หรือมีอาการผิดปกติอื่นให้รีบมาพบแพทย์

สุดท้ายนี้หากมีปัญหาทางสายตา และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับท่านเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ยา และอย่าลืมว่า "มีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ" 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. American Academy of Ophthalmology. 2019. 2019-2020 BCSC: Basic and Clinical Science Course. American Academy of Ophthalmology.
  2. Chetthakul, Thanya et al. 2006. "Thailand Diabetes Registry Project: Prevalence of Diabetic Retinopathy and Associated Factors in Type 2 Diabetes Mellitus." Journal of the Medical Association of Thailand 89(SUPPL. 1): S27-36.
  3. Chumley, Heidi S, and Mary Kelly Green. 2019. "Diabetic Retinopathy." In The Color Atlas and Synopsis of Family Medicine, 3e, eds. Richard P Usatine, Mindy A Smith, Jr. Mayeaux E.J., and Heidi S Chumley. New York, NY: McGraw-Hill Education.
  4. Das, Arup. 2016. "Diabetic Retinopathy: Battling the Global Epidemic." Investigative Ophthalmology and Visual Science 57(15): 6669–82.
  5. Horton, Jonathan C. 2018. "Disorders of the Eye." In Harrison's Principles of Internal Medicine, 20e, eds. J Larry Jameson et al. New York, NY: McGraw-Hill Education.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้