เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://contraception-basel.com/wp-content/uploads/2020/05/implant.png
อ่านแล้ว 199,584 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/02/2564
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/ybur6ccz
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ybur6ccz
 


การคุมกำเนิดมีทั้งแบบถาวร ได้แก่ การผ่าตัดทำหมัน และแบบชั่วคราว การคุมกำเนิดชั่วคราวมีหลายวิธี เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ซึ่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวระยะสั้น ส่วนการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นที่กล่าวข้างต้นถือเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังยังเป็นที่นิยมไม่มากนักแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงยาคุมกำเนิดชนิดฝังในด้านต่าง ๆ เช่น ตัวยาสำคัญและรูปแบบ การออกฤทธิ์และประสิทธิภาพในป้องกันการตั้งครรภ์ ผลไม่พึงประสงค์ ข้อดีและข้อเสีย พร้อมทั้งข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาสำคัญและรูปแบบของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (implantable contraceptive หรือ contraceptive implant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (long-acting reversible contraceptive) สำหรับใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนัง (subdermal use) มีใช้มานานเกือบ 40 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983) ตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย ตัวยาที่ใช้กันมาก คือ เลโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) และเอโทโนเจสเตรล (etonogestrel) ในบทความนี้จึงกล่าวถึงยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาสำคัญทั้งสองชนิดนี้

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีลักษณะเป็นแท่งยาวขนาดเล็กประมาณเท่าก้านไม้ขีด สำหรับใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนังบริเวณด้านในของแขนท่อนบนข้างที่ไม่ถนัด (รูปที่ 1) แท่งยาคุมกำเนิดจะปล่อยตัวยาสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ออกฤทธิ์คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ อาจจำแนกยาคุมกำเนิดชนิดฝังตามจำนวนแท่งยาออกเป็น 3 แบบดังนี้

  1. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 6 แท่ง ลักษณะเป็นแคปซูลซิลิโคนขนาด 2.4 มิลลิเมตร x 34 มิลลิเมตร แต่ละแท่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล 36 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี การฝังแท่งยาและการเอาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก ยาคุมกำเนิดชนิดนี้เลิกใช้ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2008
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 2 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งซิลิโคนขนาด 2.5 มิลลิเมตร x 43 มิลลิเมตร แต่ละแท่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรล 75 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ การฝังแท่งยาและการเอาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็กเช่นเดียวกัน
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 แท่ง ลักษณะเป็นแท่งเอทิลีนไวนิลอะซีเตด (ethylene vinyl acetate copolymer) ที่บิดงอได้ ขนาด 2 มิลลิเมตร x 40 มิลลิเมตร มีตัวยาเอโทโนเจสเตรล 68 มิลลิกรัม พร้อมอุปกรณ์สำหรับการฝังแท่งยา ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี มีการเติมสารทึบรังสีซึ่งเป็นแบเรียมซัลเฟต (barium sulfate) เพื่อง่ายในการตรวจหาตำแหน่งด้วยวิธีเอ็กซเรย์ (X-ray) หรือการตรวจสแกนด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography scan หรือ CT scan) เมื่อแท่งยามีการเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่ฝัง การฝังแท่งยาทำคล้ายการฉีดยาโดยผ่านอุปกรณ์ ไม่ต้องมีรอยแผลผ่า แต่ตอนนำแท่งยาออกจะมีรอยแผลผ่าขนาดเล็ก
ยาคุมกำเนิดชนิดฝังเหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใช้ได้กับสตรีทุกรายที่ประสงค์จะคุมกำเนิดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรมาแล้ว 1 หรือ 2 คน และในอนาคตประสงค์จะมีบุตรอีก ทั้งนี้ต้องไม่เข้าข่ายเป็นผู้ห้ามใช้ที่จะกล่าวถึงข้างล่างนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดฝังใช้ได้แม้ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน (แต่ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดอาจไม่เท่ากับคนที่ไม่อ้วน เนื่องจากมีระดับยาในเลือดต่ำกว่าคนที่ไม่อ้วน) หรือผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน (โดยให้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด) หรือผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่สามารถควบคุมได้ (โดยให้ติดตามระดับความดันโลหิต)

ห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังในผู้หญิงเหล่านี้
  • ตั้งครรภ์ (ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน)
  • เป็นโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะมีประวัติว่าเคยเป็นหรือกำลังเป็น และผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่ไวต่อโพรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโพรเจสเตอโรน
  • เป็นโรคตับรุนแรงที่ยังตรวจพบความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการ
  • เป็นโรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับมีลิ่มเลือด (thrombophlebitis) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (thromboembolic disorders)


เริ่มฝังยาคุมกำเนิดได้เมื่อไร?

การฝังแท่งยาคุมกำเนิดและการเอาแท่งยาออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ หากฝังแท่งยาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท การฝังแท่งยาจะฝังตื้นใต้ผิวหนังซึ่งคลำแท่งยาได้ภายหลังการฝัง การฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกจะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตำแหน่งอื่นและอาจเป็นอันตรายได้ การฝังแท่งยาคุมกำเนิดสามารถทำได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดในข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันดังนี้
  1. วันใด ๆ ที่ต้องการ แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์และผ่านการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว หลังการฝังยาให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลา 7 วัน
  2. วันแรกของการมีประจำเดือนหรือวันใด ๆ ภายใน 5 วันนับจากวันเริ่มมีประจำเดือน การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  3. ทันทีหรือภายใน 5 วันหลังการแท้งบุตร ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าใด การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  4. ทันทีหรือภายใน 21 วันหลังการคลอด ในผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตร การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  5. หลังคลอดยังไม่ถึง 6 เดือน ไม่มีประจำเดือนมาเลยและให้นมบุตรสม่ำเสมอตลอดมา ซึ่งช่วงนี้โดยทั่วไปยังไม่มีไข่ตกจึงไม่ตั้งครรภ์ การฝังยาคุมกำเนิดในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่มั่นใจและเพื่อความปลอดภัยควรตรวจแล้วว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ก่อนการฝังยา และให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยในช่วง 7 วันภายหลังการฝังยา ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่รบกวนปริมาณและคุณภาพน้ำนม
  6. ฝังยาทันทีถัดจากวันที่รับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดสุดท้ายที่เป็นตัวยา หรืออย่างช้าวันถัดจากวันที่รับประทานเม็ดแป้งเม็ดสุดท้าย การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  7. ฝังยาทันทีในวันที่นำวงแหวนคุมกำเนิดชนิดสอดช่องคลอด (contraceptive vaginal ring) หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด (contraceptive patch) หรือห่วงอนามัยคุมกำเนิด (intrauterine device หรือ IUD) ออก การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
  8. วันที่ถึงกำหนดนัดฉีดยาคุมกำเนิด แต่ต้องการเปลี่ยนมาใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง การฝังยาในช่วงนี้ไม่ต้องเสริมด้วยการคุมกำเนิดวิธีอื่น
การออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ตัวยาสำคัญไม่ว่าจะเป็นเลโวนอร์เจสเตรลหรือเอโทโนเจสเตรลที่ปล่อยจากแท่งยาอย่างต่อเนื่องจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยายังออกฤทธิ์ลดปริมาณมูกปากมดลูกและทำให้มูกปากมดลูกข้นหนืดจึงขัดขวางการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ ลดการโบกพัดของขนอ่อนในท่อนำไข่ ลดขนาดและลดจำนวนต่อมซึ่งทำหน้าที่สร้างสารคัดหลั่งที่เยื่อบุมดลูก ตลอดจนทำให้คอร์พัสลูเทียม (corpus luteum) ในรังไข่ (หากมีการตกไข่เกิดขึ้น) สลายเร็วเกินโดยยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เยื่อบุมดลูกฝ่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้สภาวะภายในมดลูกไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว (หากสามารถปฏิสนธิได้) จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่ว่าตัวยาจะเป็นยาเลโวนอร์เจสเตรลหรือเอโทโนเจสเตรลล้วนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ มีอัตราความล้มเหลว (เกิดการตั้งครรภ์) เพียง 0.05-0.1% (เกิดการตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 1,000 คน ใน 1 ปีแรก) คนเป็นโรคอ้วนมีระดับยาต่ำกว่าคนที่ไม่อ้วนจึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงโดยเฉพาะในปีสุดท้าย ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงอัตราความล้มเหลวของยาคุมกำเนิดชนิดฝังเมื่อใช้ในคนที่เป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ผ่านมาอัตราความล้มเหลวของยาคุมกำเนิดชนิดฝังในผู้ที่ใช้ยาทั้งหมดซึ่งรวมถึงผู้ที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนพบว่ามีอัตราต่ำ ในกรณีที่เกิดความล้มเหลวแล้วตั้งครรภ์ ไม่พบความพิการแต่กำเนิดในทารกที่คลอดมา

ฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ล่าช้าได้เพียงใด?

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังแบบ 2 แท่งที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรลแท่งละ 75 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3-5 ปี (ขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์) หากเป็นชนิดแท่งเดียวที่มีตัวยาเอโทโนเจสเตรล 68 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี ระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้จะสั้นกว่าระยะเวลาที่ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ได้มีการวัดระดับเอโทโนเจสเตรลที่เวลาต่าง ๆ ตลอดช่วง 3 ปี (36 เดือน) พบว่าหลังจากฝังยาราว 8 ชั่วโมงมีระดับยาสูงกว่า 90 พิโคกรัม/มิลลิลิตร (เป็นระดับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่) ซึ่งแสดงว่ายามีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ตั้งแต่วันแรกที่ฝังยา จากนั้นระดับยาสูงขึ้นรวดเร็วจนเกิน 1,000 พิโคกรัม/มิลลิลิตร เล็กน้อย จากนั้นระดับยาจะลดลงค่อนข้างเร็วในเวลาประมาณ 4-6 เดือนหลังการฝังยา ต่อจากนั้นระดับยาจะลดลงเพียงเล็กน้อยอย่างช้า ๆ และเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 ยังมีระดับยาเกินกว่า 100 พิโคกรัม/มิลลิลิตร เล็กน้อย (รูปที่ 2) ในบางการศึกษารายงานว่าที่เวลา 5 ปียังพบค่ากลาง (median) ของระดับเอโทโนเจสเตรลอยู่ที่ 153.0 พิโคกรัม/มิลลิลิตร โดยมีช่วงอยู่ที่ 72.1-538.8 พิโคกรัม/มิลลิลิตร แสดงถึงระดับยาที่แปรปรวนมากในผู้หญิงแต่ละคน ซึ่งบางคนมีระดับยาต่ำจนไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ จึงไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ควรทำการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตามกำหนดเวลา



สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาเป็นเลโวนอร์เจสเตรลซึ่งใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปีนั้น ระดับยาในพลาสมาเกิดคล้ายคลึงกับเอโทโนเจสเตรล กล่าวคือ ภายหลังการฝังยาไม่นานมีระดับสูงกว่า 180 พิโคกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งเกินกว่าระดับยาในการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ระดับยาขึ้นสูงสุดในสัปดาห์แรกหลังการฝังยา จากนั้นระดับยาจะลดลงโดยในช่วงแรกลดลงเร็วกว่าช่วงหลัง ระดับยาหลังจากปีที่ 3 ไปจนถึงปีที่ 5 เกือบคงที่ สำหรับยาคุมกำเนิดชนิดฝังที่มีตัวยาเป็นเลโวนอร์เจสเตรลซึ่งใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปีนั้น มีผู้ทำการศึกษาระดับยาในพลาสมาเช่นเดียวกัน และพบว่าเมื่อครบกำหนดแล้วยังคงมีระดับยาเพียงพอในการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ไปอีกเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามมีความแปรปรวนในระดับยาเกิดขึ้นได้มากในผู้หญิงแต่ละคน ด้วยเหตุนี้ควรทำการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตามเวลาที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์

นำแท่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังออกได้เมื่อไร?

การนำแท่งยาคุมกำเนิดชนิดฝังออกทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ซึ่งสามารถนำออกได้ในกรณีดังต่อไปนี้
  1. ต้องการยุติการคุมกำเนิดหรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น สามารถนำแท่งยาคุมออกได้ในวันใด ๆ
  2. เมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาในการคุมกำเนิด อาจเป็น 3, 4 หรือ 5 ปี ซึ่งขึ้นกับแต่ละผลิตภัณฑ์ และฝังแท่งใหม่ทดแทนในกรณีที่ประสงค์จะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังต่อไปอีก (ดูหัวข้อ การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่)
  3. แท่งยาคุมชำรุด การหักของแท่งยาคุมเกิดขึ้นได้ยากโดยเฉพาะชนิดที่มีตัวยาเอโทโนเจสเตรลซึ่งแท่งยาบิดงอได้ การหักของแท่งยาโดยเฉพาะชนิดที่มีตัวยาเลโวนอร์เจสเตรลอาจทำให้ยาปลดปล่อยออกมาเร็วเกินจนเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงควรเปลี่ยนยาแท่งใหม่
  4. เมื่อเกิดผลไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น เกิดโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) หรือสมองขาดเลือด (stroke) หลังการฝังยา, การเกิดเหตุการณ์ที่แสดงถึงภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ (venous thromboembolism) ทั้งภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำลึก (deep vein thrombosis) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism), ความดันโลหิตสูงจนควบคุมไม่ได้, โรคดีซ่านหรือภาวะเหลือง (jaundice), โรคไมเกรนที่มีอาการเตือน (migraine with aura), ภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน
  5. แท่งยาคุมกำเนิดเคลื่อนที่จนคลำไม่ได้ ให้ทำการตรวจหาตำแหน่งที่ชัดเจน (ด้วยวิธีอัลตราซาวน์ เอ็กซเรย์ การตรวจสแกนร่างกายด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือวิธีการอื่น) แล้วนำแท่งยาออก เพื่อเปลี่ยนแท่งใหม่และฝังที่ใหม่ เนื่องจากแท่งยาที่เปลี่ยนตำแหน่งไปทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้นจนอาจเหลือยาไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเนื่องจากแท่งยานั้น
การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังสามารถใช้ได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ การฝังแท่งใหม่จะฝังแทนที่แท่งเก่าโดยใช้รอยเปิดเดิม ในกรณีที่ไม่สามารถฝังตรงตำแหน่งเดิมได้อาจฝังที่แขนอีกข้างหนึ่ง การฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่ตรงตามกำหนดเวลาไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเสริม

ในกรณีที่ฝังแท่งใหม่ล่าช้า ช่วงที่ล่าช้านั้นแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และเมื่อฝังแท่งใหม่แล้วช่วง 7 วันแรกแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย แต่ถ้าช่วงที่ล่าช้านั้นไม่ได้ใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น ก่อนฝังแท่งใหม่ให้ทดสอบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และเมื่อฝังยาแท่งใหม่แล้วช่วง 7 วันแรกแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย พร้อมทั้งให้ทดสอบการตั้งครรภ์อีกครั้งในช่วง 21-28 วันหลังการฝังยาแท่งใหม่นั้น

หยุดฝังยาคุมกำเนิดแล้วจะกลับมาตั้งครรภ์ได้เมื่อไร?

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝังจะอยู่จนถึงวันที่เอาแท่งยาออกภายในกำหนดเวลา ไม่ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเกิดขึ้นเมื่อไรก่อนหน้านั้น เมื่อนำแท่งยาออกรังไข่จะกลับมาทำงานได้ตามปกติเกือบทันที การมีเพศสัมพันธ์ภายหลังเอาแท่งยาออกแล้วต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น การนำแท่งยาชนิดที่มีเอโทโนเจสเตรลออกพบว่าในวันที่ 4 เหลือยาในพลาสมาต่ำกว่าระดับที่จะวัดได้ (คือต่ำกว่า 20 พิโคกรัม/มิลลิลิตร) ซึ่งระดับยาดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ผู้หญิงมากกว่า 90% มีการตกไข่กลับมาภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนำแท่งยาออก การกลับมาตั้งครรภ์ใช้เวลาไม่ต่างจากการคุมกำเนิดแบบชั่วคราววิธีอื่น (ยกเว้นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดซึ่งอาจจะต้องรอเกือบ 1 ปีหรือนานกว่านี้) ด้วยเหตุนี้หากไม่ประสงค์ที่จะตั้งครรภ์เมื่อเอาแท่งยาออกต้องมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นโดยทันที

ผลไม่พึงประสงค์ของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

เมื่อฝังยาคุมกำเนิดอาจมีผลไม่พึงประสงค์ตรงบริเวณที่ฝังแท่งยาและผลต่อระบบทั่วร่างกายได้ดังนี้
  1. ผลไม่พึงประสงค์ตรงบริเวณที่ฝังแท่งยา เช่น เจ็บ บวม คัน ระคายผิว รอยช้ำ เกิดการติดเชื้อและแผลเป็น ผิวหนังฝ่อ เกิดพังผืดรอบแท่งยาโดยเฉพาะหากมีการติดเชื้อ นอกจากนี้หากฝังแท่งยาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท การฝังแท่งยาตื้นเกินไปอาจทำให้รู้สึกเจ็บ รบกวนการรับความรู้สึกที่ผิวหนังบริเวณที่ฝังแท่งยาและเกิดผิวหนังอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ ส่วนการฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกจะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยาไปตำแหน่งอื่น ทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้นและยังเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากแท่งยาได้
  2. ผลไม่พึงประสงค์อื่น ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (ยาเลโวนอร์เจสเตรลและเอโทโนเจสเตรล) ไม่มีฮอร์โมนพวกเอสโตรเจน ผลไม่พึงประสงค์ในช่วงแรกซึ่งมีระดับยาในเลือดสูงจะเกิดมากกว่าช่วงหลัง ผลไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น มีเลือดประจำเดือนมาผิดปกติโดยเฉพาะช่วงแรก แต่ต่อมาประจำเดือนจะค่อย ๆ น้อยลงและจะหายไปโดยไม่มีอีกเลยตลอดช่วงที่ฝังยา (ทำให้ผู้ใช้กังวลว่าอาจตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว เกิดความไม่ชอบหรือเลิกใช้ จึงควรทำความเข้าใจก่อนการฝังยา) แต่บางราย (พบได้น้อย) อาจมีประจำเดือนมาบ่อยและมานานขึ้น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคัดเต้านม คลื่นไส้ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า รบกวนความรู้สึกทางเพศ ช่องคลอดอักเสบและแห้ง เกิดฝ้า สิว สะสมน้ำจนอาจเกิดบวมน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่ม (คนที่อ้วนง่ายอาจไม่ชอบ) ผมอาจบางลง หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ การใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density) ลดลงเล็กน้อยซึ่งกลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ และไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก เนื่องจากยาคุมกำเนิดนี้ไม่ได้กดการทำงานของรังไข่อย่างสมบูรณ์ รังไข่ยังสร้างและหลั่งเอสตราไดออล (estradiol) ได้ (เอสตราไดออลเป็นฮอร์โมนประเภทเอสโตรเจนชนิดสำคัญในร่างกายผู้หญิง) ส่วนการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมีประวัติว่าเคยเป็นจะห้ามใช้
  3. การเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น การใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีฤทธิ์เพิ่มการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (เลโวนอร์เจสเตรลและเอโทโนเจสเตรลเป็นยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน) ไปเป็นสารอื่นที่ไม่มีฤทธิ์ จะทำให้ระดับยาในเลือดลดลงได้ อาจรบกวนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ เช่น การใช้ร่วมกับยาต้านจุลชีพ (หรือที่มักเรียกกันว่า “ยาฆ่าเชื้อ”) ในกลุ่มไรฟาไมซิน (rifamycins) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไรแฟมพิซิน (rifampicin) หรือชื่ออื่นคือไรแฟมพิน (rifampin) นอกจากนี้ยังมียาอื่นที่รบกวนประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน แม้จะมีข้อมูลสนับสนุนน้อยหรือข้อมูลไม่ชัดเจนแต่ควรระมัดระวังโดยเฉพาะหากต้องใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานาน เช่น ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs) ที่ใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV หรือ human immunodeficiency virus) ตัวอย่าง ได้แก่ เอฟาวิเรนซ์ (efavirenz), เอทราวิรีน (etravirine); ยาต้านชัก (antiepileptic drugs) ตัวอย่าง ได้แก่ เฟนิโทอิน (phenytoin), คาร์บามาเซพีน (carbamazepine), ออกซ์คาร์บาเซพีน (oxcarbazepine); ยาสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's wort)
ข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังเป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง ออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี ทำให้สะดวกเนื่องจากไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน หรือฉีดยาทุก 3 เดือน ยาคุมกำเนิดชนิดฝังมีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน ไม่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจนจึงปลอดจากผลไม่พึงประสงค์ของเอสโตรเจน แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้ อีกทั้งไม่สามารถเริ่มใช้หรือหยุดใช้ด้วยตนเอง ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการฝังแท่งยาและการนำแท่งยาออก นอกจากยังมีข้อดีและข้อเสียอื่น ๆ ดังแสดงในตารางที่ 1



ข้อควรคำนึงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง

ข้อควรคำนึงบางประการสำหรับผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดมีดังนี้
  1. ก่อนการฝังยาควรเข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง
  2. ก่อนการฝังยาต้องมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ กรณีที่ไม่มั่นใจต้องตรวจการตั้งครรภ์
  3. ยาคุมกำเนิดชนิดฝังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต่างจากถุงยางอนามัยซึ่งช่วยป้องกันได้
  4. ยาคุมกำเนิดชนิดฝังช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ตามกำหนดเวลาที่ฝังยา สามารถเอาออกก่อนกำหนดได้หากต้องการยุติการคุมกำเนิด และสามารถคุมกำเนิดต่อเนื่องไปได้ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์โดยการฝังยาคุมกำเนิดแท่งใหม่แทนแท่งเดิมตามกำหนดเวลา
  5. เมื่อฝังแท่งยาคุมกำเนิดแล้วต้องสามารถคลำพบได้ หากคลำไม่พบแสดงว่าแท่งยาเกิดการเคลื่อนที่ ต้องนำแท่งยานั้นออกและฝังแท่งใหม่แทน
  6. การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยแต่กลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ
เอกสารอ้างอิง
  1. Horvath S, Schreiber CA, Sonalkar S. Contraception. In: Feingold KR, Anawalt B, Boyce A, Chrousos G, de Herder WW, Dungan K, et al., editors. Endotext. South Dartmouth (MA): MDText.com, updated January 17, 2018. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279148/#contraception.toc-progestin-only-implants. Accessed: February 8, 2021.
  2. Rowlands S, Searle S. Contraceptive implants: current perspectives. Open Access J Contracept 2014; 5:73-84. Accessed: February 8, 2021.
  3. The Family Planning Association (FPA), the sexual health company. Your guide to long-acting reversible contraception (LARC) (December 2020). https://www.fpa.org.uk/sites/default/files/pdf/FPA-Long-acting-(LARC)-leaflet-1015.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  4. The Family Planning Association (FPA), the sexual health company. Your guide to the contraceptive implant (July 2017). https://www.fpa.org.uk/sites/default/files/pdf/FPA%20Contraceptive%20Implant%201011.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  5. Implanon NXT--Summary of product characteristics. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/021529s018lbl.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  6. Jadelle (levonorgestrel implants) for subdermal use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4030537, revised: 12/2016. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/020544s010lbl.pdf. Accessed: February 8, 2021.
  7. Che Y, Taylor D, Luo D, Maldonado LY, Wang M, Wevill S, et al. Cohort study to evaluate efficacy, safety and acceptability of a two-rod contraceptive implant during third, fourth and fifth year of product use in China. Contracept X 2019. doi: 10.1016/j.conx.2019.100008. Accessed: February 8, 2021.
  8. World Health Organization Department of Reproductive Health and Research (WHO/RHR) and Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health/Center for Communication Programs (CCP), Knowledge for Health Project. Family Planning: A Global Handbook for Providers (2018 update). Baltimore and Geneva: CCP and WHO, 2018. Accessed: February 8, 2021.
  9. Amico J, Kumar B, Rosenstein H, Gold M. The contraceptive implant: an updated review of the evidence. Curr Obstet Gynecol Rep 2015; 4:79-88.
  10. Ramdhan RC, Simonds E, Wilson C, Loukas M, Oskouian RJ, Tubbs RS. Complications of subcutaneous contraception: a review. Cureus 2018. doi: 10.7759/cureus.2132. Accessed: February 8, 2021.
  11. Moray KV, Chaurasia H, Sachin O, Joshi B. A systematic review on clinical effectiveness, side-effect profile and meta-analysis on continuation rate of etonogestrel contraceptive implant. Reprod Health 2021. doi: 10.1186/s12978-020-01054-y. Accessed: February 8, 2021.

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง 1 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 2 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้