Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก. ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะโลหิตจาง (anemia) หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า ภาวะเลือดจางนั้น คือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ1 พบมากทั้งในเด็ก สตรีวัยเจริญพันธุ์ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ2 ซึ่งผู้ที่มีภาวะโลหิตจางอาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการโดยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย ซีด วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ได้น้อยลง โดยภาวะโลหิตจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ3 เช่น
ภาพจาก : https://img.webmd.com/dtmcms/live/webmd/consumer_assets/site_images/article_thumbnails/video/incremental_understanding_anemia_video/650x350_incremental_understanding_anemia_video.jpg
อนึ่ง การได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการของภาวะโลหิตจาง จึงไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ด้วยตนเอง หรือซื้อไปฝากผู้อื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้อาจไม่ตรงกับสาเหตุ หรือใช้ในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ธาตุเหล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะโลหิตจางได้ทุกประเภทและไม่มีอันตรายใดๆ
อนึ่ง การได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจค่าทางห้องปฏิบัติการ จะช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการของภาวะโลหิตจาง จึงไม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ด้วยตนเอง หรือซื้อไปฝากผู้อื่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้อาจไม่ตรงกับสาเหตุ หรือใช้ในขนาดไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ธาตุเหล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะโลหิตจางได้ทุกประเภทและไม่มีอันตรายใดๆ
ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กที่มีในประเทศไทยนั้นมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด ซึ่งโดยมากแพทย์จะเลือกชนิดรับประทานก่อนเนื่องจากมีความสะดวกและเหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือผู้ป่วยไตวายเรื้องรังที่มีภาวะโลหิตจางและ/หรือจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอีพีโอ4-6 (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหัวข้อ “โลหิตจาง กับยาฉีดอีพีโอ (EPO)”) ดังนั้นหากผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากสาเหตุอื่นๆ เช่น มีภาวะขาดวิตามินบี12 หรือ ภาวะขาดกรดโฟลิก การรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้อาการของภาวะโลหิตจางดีขึ้น หรือในกรณีที่อันตรายไปกว่านั้นคือ หากผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงของโรคในระดับรุนแรงมากหรือปานกลางซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กอยู่แล้ว7 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) กินอย่างไรให้เหมาะสม”) และได้รับธาตุเหล็กเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กในเลือดสูงและเกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน หรือหัวใจ ได้
โดยทั่วไป ปริมาณธาตุเหล็กที่แนะนำในผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กคือ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน (คิดตามปริมาณธาตุเหล็ก)4 โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจเลือกใช้ธาตุเหล็กรูปแบบเกลือที่ต่างกันซึ่งจะให้ปริมาณธาตุเหล็กที่ไม่เท่ากัน และเมื่อเริ่มการรักษาไปแล้ว ควรได้รับการติดตามผลการรักษาเมื่อรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับขนาดการรับประทาน
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากการรับประทานธาตุเหล็ก8 ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ดังนั้นหากมีอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจลองรับประทานธาตุเหล็กพร้อมหรือหลังมื้ออาหารทันที หากอาการข้างเคียงไม่ลดลงควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนการรักษา นอกจากนี้การรับประทานธาตุเหล็กอาจทำให้การดูดซึมยาปฏิชีวนะบางชนิดลดลงได้ ดังนั้นควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่ากำลังรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กทุกครั้งที่เข้ารับบริการหรือได้รับยาใดๆ เพิ่มเติม
โดยสรุป การรับประทานธาตุเหล็กเพื่อแก้ภาวะโลหิตจางใช้ได้กับผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และใช้เสริมกับยาอื่นเพื่อแก้ภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้องรังที่มีภาวะโลหิตจางและ/หรือจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอีพีโอ เท่านั้น