Eng |
นศภ. อริสา เจนจิตศิริ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สอบทานความสมบูรณ์และถูกต้อง : อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย)
การแพ้ยา เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายที่มีต่อยา เมื่อร่างกายมองว่ายาคือสิ่งแปลกปลอมจึงต้องการกำจัด แต่หากมีการตอบสนองที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียตามมา โดยอาการแพ้ยาบางครั้งอาจรุนแรงปานกลาง เช่น มีผื่นคันตามผิวหนัง ริมฝีปากบวม เปลือกตาบวม จนถึงอาการแพ้ที่รุนแรงมาก เช่น มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ผิวหนังหลุดลอก เยื่อบุอักเสบ และเกิดความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต[1] ปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมของมนุษย์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก จนสามารถพบยีนที่มีความสัมพันธ์กับอาการแพ้รุนแรงจากยาบางชนิด กล่าวคือ หากตรวจพบยีนชนิดนี้ในผู้ป่วย แพทย์มักหลีกเลี่ยงการสั่งจ่ายยาที่อาจทำให้เกิดการแพ้รุนแรงด้วยกลไกนี้
ยีนแพ้ยาคืออะไร
ยีน มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ดีเอ็นเอ (DNA = deoxyribonucleic acid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมภายในเซลล์ โดยยีนทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่งให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายน้อยกว่าปกติ เช่น มีการเสียเลือด หรือเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะเหนี่ยวนำให้ไตหลั่งฮอร์โมนชื่อว่า “อีริโทรโพอิติน (erythropoietin)” ไปกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดภายในไขกระดูก (แหล่งสร้างเซลล์เม็ดเลือด) ให้มีการทำงานของยีนหลายชนิดภายในเซลล์ แล้วควบคุมให้เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้น เพื่อชดเชยการสูญเสียเลือด เป็นต้น[2]
แม้ว่าสารพันธุกรรมในมนุษย์มีความเหมือนกันถึงร้อยละ 99.5 แต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยที่เรียกว่า “ความหลากหลายทางพันธุกรรม” ทำให้แต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน รวมถึงอาจส่งผลให้มีประชากรบางส่วนสามารถเกิดการแพ้ยารุนแรงได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เกิดอาการเหล่านี้ จากงานวิจัย พบว่า การกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด เช่น ยีนที่ชื่อ “เอช-แอล-เอ-บี (HLA-B = Human Leukocyte Antigen-B)” ซึ่งทำหน้าที่สร้างโปรตีน HLA-B บนเซลล์ภูมิคุ้มกัน (เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว) โดยปกติโปรตีน HLA-B จะจับกับสิ่งแปลกปลอมที่เรียกรวม ๆ ว่า “แอนติเจน (antigen)” แต่หากมีการกลายพันธุ์ของยีนเป็น HLA-B*1502 ทำให้ได้โปรตีน HLA-B ที่แตกต่างออกไป ซึ่งสามารถจับกับยาหรือสารเคมีบางชนิด แล้วเป็นสาเหตุให้มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมากกว่าปกติจนเกิดภาวะภูมิไวเกิน (ดังแสดงในรูปภาพ)[3-4]
ทำไมต้องตรวจหายีนแพ้ยา
ในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2527-2553 พบผู้ป่วยแพ้ยาชนิดรุนแรงประมาณ 6,965 ราย และเสียชีวิต 260 ราย โดยรายการยาที่สงสัยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อ “โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole)” ยากันชัก “คาร์บามาซีพีน (carbamazepine)” และยาลดกรดยูริกสำหรับรักษาโรคเกาต์ “อัลโลพูรินอล (allopurinol)”[5-6]
โดยส่วนใหญ่ แนวทางป้องกันการแพ้ยา คือ ต้องทราบก่อนว่าผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาชนิดใด แล้วอาจทำนายโอกาสการแพ้ยาตัวอื่นจากโครงสร้างของยาที่คล้ายกัน อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าผู้ป่วยแพ้ต่อโครงสร้างส่วนใดของยา และไม่สามารถทำนายหรือป้องกันการแพ้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานั้นเป็นครั้งแรก จึงทำได้เพียงติดตามผลระหว่างใช้ยาและทำการรักษาเมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น ซึ่งหากอาการแพ้มีความรุนแรงมาก (เช่น กรณียาคาร์บามาซีพีน) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา[6-7]
จากการศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมในปัจจุบัน พบว่า ผู้ที่มียีน HLA-B*1502 เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรงจากยาคาร์บามาซีพีน มากกว่าปกติ 55 เท่า ซึ่งเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับกลไกดังที่กล่าวมาแล้ว (แสดงในรูปภาพ) นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่มียีน HLA-B*5801 เสี่ยงต่อการแพ้ชนิดรุนแรงจากยาอัลโลพูรินอล มากกว่าปกติถึง 348 เท่า เป็นต้น ซึ่งการตรวจหายีนแพ้ยาเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันการแพ้ยารุนแรงได้ตั้งแต่การใช้ยาครั้งแรก จึงมีประโยชน์ทั้งด้านความปลอดภัยและลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากการรักษาอาการแพ้ยาอีกด้วย[6-7]
จำเป็นต้องตรวจยีนแพ้ยาในผู้ป่วยทุกคนหรือไม่
การตรวจหายีนแพ้ยาไม่สามารถทำได้กับยาทุกชนิด แต่ควรทำเมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาที่ทราบข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับการแพ้ยารุนแรง โดยปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนให้ตรวจยีนที่พบว่ามีความคุ้มค่าทางการแพทย์ ได้แก่ ยีน HLA-B*1502 ในผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีพีน โดยเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยแล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางชีวโมเลกุลและเครื่องถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งประชาชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ[7] และยีน HLA-B*5801 ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ที่ได้รับยาอัลโลพูรินอล ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ในผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ[8] โดยผู้ป่วยรายใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยได้รับยาหรือได้รับยาไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากอาการแพ้ยาสามารถเกิดได้ทั้งแบบฉับพลัน (ภายในนาทีหรือชั่วโมงหลังจากสัมผัสยา) และแบบช้า (อาการเกิดขึ้นหลังจากได้รับยา 1-6 สัปดาห์)[9-10] ซึ่งอาการแพ้รุนแรงจากยาคาร์บามาซีพีน และยาอัลโลพูรินอล มักเกิดช้า[11-12]
จากข้อมูลเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าการตรวจหายีนแพ้ยาสามารถช่วยป้องกันการแพ้ยารุนแรงในผู้ป่วยรายใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของยีนและการแพ้ยาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยหากมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นร่วมกับมีการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ ในอนาคตประชาชนอาจได้รับสิทธิการตรวจหายีนแพ้ยาตัวอื่น ๆ ตามมา เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย