เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กาแฟ…ระวังในโรคใด?


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : https://cdn.shopify.com/s/files/1/0835/4099/files/coffee-bp_large.jpg?v=1478547623
อ่านแล้ว 114,338 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/04/2563
อ่านล่าสุด 0 วินาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/ybhlton3
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/ybhlton3
 


กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่บริโภคกันแพร่หลาย ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างทั้งชนิดที่ให้ผลดีและชนิดที่ให้ผลเสียต่อร่างกาย สารสำคัญที่รู้จักกันดีคือคาเฟอีน ทำให้สมองตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ทำให้บางคนนอนไม่หลับ ใจสั่นและความดันโลหิตเพิ่มชั่วขณะ นอกจากนี้ในกาแฟยังมีสารที่ส่งผลรบกวนระดับไขมันในเลือด ด้วยเหตุนี้การดื่มกาแฟโดยเฉพาะในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่เป็นโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามในกาแฟมีสารประเภทแอนติออกซิแดนต์ (antioxidants) ซึ่งช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง ในบทความนี้นอกเหนือจากการให้ข้อมูลถึงข้อควรระวังในการบริโภคกาแฟที่อาจส่งผลกระทบต่อโรคบางอย่างแล้ว ยังให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับสารสำคัญในกาแฟ การแสดงฤทธิ์ของสารสำคัญต่อร่างกาย และผลต่อสุขภาพ

กาแฟมีสารใดบ้าง?

ในกาแฟมีสารหลายอย่างมากกว่า 1,000 ชนิด ตัวอย่างสารสำคัญ เช่น คาเฟอีน (caffeine) มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง; สารกลุ่มไดเทอร์พีน (diterpenes) เช่น คาเฟสทอล (cafestol) คาเวออล (kahweol) เพิ่มโคเลสเตอรอล (และไตรกลีเซอไรด์) ในเลือด; สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenols) เช่น กรดคลอโรจินิก (chlorogenic acid) กรดคาเฟอิก (caffeic acid), กลุ่มเมลานอยด์ (melanoids), กลุ่มควิไนด์ (quinides), กลุ่มลิกแนน (lignans) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทริโกเนลลีน (trigonelline) และแมกนีเซียมซึ่งเป็นแอนติออกซิแดนต์ด้วย แอนติออกซิแดนต์เหล่านี้ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ปริมาณสารต่าง ๆ ในเมล็ดกาแฟ อาจมีมากหรือน้อยขึ้นกับชนิด แหล่งที่มา และระยะเวลาในการคั่ว การกรองกาแฟก่อนดื่มจะลดปริมาณคาเฟสทอลและคาเวออล ส่วนกาแฟผงสำเร็จรูปไม่พบคาเฟสทอลและคาเวออล กาแฟที่ผ่านการกรองและกาแฟผงสำเร็จรูปอาจมีปริมาณสารอื่นลดลงด้วย

กาแฟมีคาเฟอีนมากน้อยเพียงใด?

ในเครื่องดื่มกาแฟ 1 แก้วมีปริมาณคาเฟอีนมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของผงกาแฟที่ใช้ รูปแบบการชงและความนิยมในการบริโภค โดยทั่วไปในปริมาตร 1 แก้ว (ขนาด 240-250 มิลลิลิตร) มีคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม กาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออก (decaffeinated coffee) ยังคงมีคาเฟอีนเหลืออยู่เล็กน้อย โดยในเครื่องดื่ม 1 แก้วอาจมีปริมาณคาเฟอีนราว 3 มิลลิกรัม

สารสำคัญในกาแฟมีผลต่อร่างกายอย่างไร?

ในกาแฟมีสารสำคัญมากมายซึ่งแสดงฤทธิ์แตกต่างกันไป ส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น
  1. คาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและนอนไม่หลับ คาเฟอีนยังกระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (adrenaline) ทำให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น (หัวใจเต้นเร็วและเต้นแรงขึ้น) และหลอดเลือดหดตัว จึงส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น คาเฟอีนยังทำให้หลอดลมขยาย ต้านฤทธิ์อินซูลิน (ความไวต่ออินซูลินลดลงซึ่งส่งผลเสียต่อโรคเบาหวาน) เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ (ส่งผลเสียต่อโรคกระดูกพรุน) ผู้บริโภคกาแฟมีความไวต่อคาเฟอีนต่างกันได้ขึ้นกับพันธุกรรม ทำให้มีความแตกต่างกันของตัวรับคาเฟอีน (เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของคาเฟอีน) และความสามารถของเอนไซม์ที่กำจัดคาเฟอีน (โดยการเปลี่ยนคาเฟอีนไปเป็นสารอื่น)
  2. สารกลุ่มไดเทอร์พีน (ดูหัวข้อ "กาแฟมีสารใดบ้าง?") แม้ในเมล็ดกาแฟไม่มีโคเลสเตอรอล แต่สารในกลุ่มนี้ทำให้โคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้น จึงอาจรบกวนการคุมระดับไขมันในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  3. สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ (ดูหัวข้อ "กาแฟมีสารใดบ้าง?") มีฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบและการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้สารบางชนิดยังทำให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ให้ผลดีต่อร่างกาย


กาแฟกับสุขภาพ

ในกาแฟมีสารสำคัญหลายอย่างที่ให้ผลต่อร่างกายแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น การดื่มกาแฟมีทั้งให้ผลดีและผลเสียต่อร่างกาย (ดูรูป) ในด้านผลดีนั้นคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ในกาแฟมีสารพวกแอนติออกซิแดนต์หลายอย่าง สารเหล่านี้ลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบ ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดี ผลการศึกษาด้านระบาดวิทยา (epidemiological study) หลายการศึกษาพบว่า ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้งและรวมทั้งวันประมาณ 400 มิลลิกรัม (ปริมาณวันละ 3-4 แก้ว) ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง (ยกเว้นในผู้ที่สูบบุหรี่) โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) โรคเบาหวาน โรคความจำบกพร่องรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และยังทำให้อัตราการตายจากสาเหตุโดยรวมลดลง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวนำมาจากหลากหลายการศึกษาและส่วนใหญ่เป็นการศึกษาด้านระบาดวิทยา ซึ่งผลการศึกษาอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยกวนบางอย่าง เช่น กิจวัตรในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบที่มีการควบคุมปัจจัยกวนต่าง ๆ อย่างดีพอและน่าเชื่อถือ

ในด้านผลเสียนั้นกาแฟเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เป็นผลมาจากคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจและทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสารกลุ่มไดเทอร์พีนรบกวนระดับไขมันในเลือด การดื่มกาแฟปริมาณมากในคราวเดียว อาจทำให้เกิดใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ คาเฟอีนยังต้านฤทธิ์อินซูลินได้จึงอาจรบกวนการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ในขณะที่สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ในกาแฟให้ผลดีต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด) นอกจากนี้การที่คาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ผู้หญิงที่ดื่มกาแฟปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ผู้หญิงมีครรภ์ที่ดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามในคนที่มีสุขภาพดีโดยทั่วไปการดื่มกาแฟในชีวิตประจำวันไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย การดื่มกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกทำให้ได้รับผลเสียเกิดจากคาเฟอีนลดลง ส่วนการกรองกาแฟหรือการดื่มกาแฟผงสำเร็จรูปทำให้ลดผลกระทบจากสารที่เพิ่มโคเลสเตอรอล แต่อาจทำให้สารพวกแอนติออกซิแดนต์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดลงด้วย นอกจากนี้หากจะดื่มกาแฟควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลและครีม

กาแฟ..ระวังในโรคใด?

แม้ว่าผลการศึกษาด้านระบาดวิทยาที่ผ่านมาจะพบว่า การบริโภคกาแฟในคนสุขภาพดีทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งการบริโภคในปริมาณปานกลางอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อโรคบางอย่าง อย่างไรก็ตามผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวข้างล่างนี้ ควรระมัดระวังการบริโภคกาแฟ เพราะอาจได้รับผลกระทบจากฤทธิ์ของคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีนในกาแฟได้
  1. โรคนอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟก่อนเข้านอน
  2. โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมอาการไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟปริมาณมากในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังการดื่มและอาจเพิ่มอยู่นาน 3 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่คุมความดันโลหิตได้ดีอาจไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
  3. โรคไขมันในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟสดหรือกาแฟต้มที่ไม่ผ่านการกรอง เพราะอาจทำให้คุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้ไม่ดี
  4. โรคกระดูกพรุน เนื่องจากคาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ อาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย แม้ไม่ถึงระดับที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
สำหรับผู้หญิงมีครรภ์หากดื่มกาแฟปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือคลอดก่อนกำหนด บางการศึกษายังกล่าวถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ส่วนผู้หญิงที่ให้นมบุตรหากดื่มกาแฟจะมีคาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ ซึ่งแม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกแต่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของทารกอันเกิดจากฤทธิ์คาเฟอีนที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น นอนน้อยลง ตื่นง่าย กระสับกระส่าย งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง คาเฟอีนในน้ำนมแม่...มีผลอย่างไรต่อทารก?)

เอกสารอ้างอิง
  1. Bonyata K. Breastfeeding and caffeine [updated: January 13, 2018]. https://kellymom.com/bf/can-i-breastfeed/lifestyle/caffeine/. Accessed: January 2020.
  2. Hu GL, Wang X, Zhang L, Qiu MH. The sources and mechanisms of bioactive ingredients in coffee. Food Funct 2019; 10:3113-26.
  3. Hirakawa Y. Coffee drinking and risk of all-cause mortality and cardiovascular diseases. Circ J 2019; 83:711-2.
  4. Navarro AM, Martinez-Gonzalez MA, Gea A, Ramallal R, Ruiz-Canela M, Toledo E. Coffee consumption and risk of hypertension in the SUN Project. Clin Nutr 2019; 38:389-97.
  5. O'Keefe JH, DiNicolantonio JJ, Lavie CJ. Coffee for cardioprotection and longevity. Prog Cardiovasc Dis 2018; 61:38-42.
  6. Poole R, Kennedy OJ, Roderick P, Fallowfield JA, Hayes PC, Parkes J. Coffee consumption and health: umbrella review of meta-analyses of multiple health outcomes. BMJ 2017. doi:10.1136/bmj.j5024. Accessed: February 2020.
  7. Hallström H, Byberg L, Glynn A, Lemming EW, Wolk A, Michaëlsson K. Long-term coffee consumption in relation to fracture risk and bone mineral density in women. Am J Epidemiol 2013; 178:898-909.
  8. Nehlig A. Effects of coffee/caffeine on brain health and disease: What should I tell my patients? Pract Neurol 2016; 16:89-95.
  9. Rodríguez-Artalejo F, López-García E. Coffee consumption and cardiovascular disease: a condensed review of epidemiological evidence and mechanisms. J Agric Food Chem 2018; 66:5257-63.
  10. Baspinar B, Eskici G, Ozcelik AO. How coffee affects metabolic syndrome and its components. Food Funct 2017; 8:2089-101.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กาแฟ…ระวังในโรคใด? 1 วินาทีที่แล้ว
ขยะอาหาร (Food Waste) 8 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้