เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคเกาต์กับเกาต์เทียม ต่างกันอย่างไร


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิลาสินี หิรัญพานิช ซาโตะ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://thearabhospital.com/wp-content/up...2/Gout.jpg
อ่านแล้ว 77,388 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/08/2562
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


โรคเกาต์ (gout) และโรคเกาต์เทียม (pseudogout) เป็นชนิดของโรคข้ออักเสบ (inflammatory arthritis diseases) ซึ่งเกิดมีสาเหตุจากผลึกเกลือ (crystal-induced arthritis) ที่ก่อให้เกิดอาการปวด บวม ร้อนแดง ที่บริเวณข้อของร่างกาย โดยเมื่อพิจารณาจากเฉพาะอาการปวดแล้วอาจไม่สามารถจำแนกชนิดของโรคได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคทั้งสองชนิดมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นหากวินิจฉัยโรคได้ไม่ถูกต้องจะทำให้รักษาไม่ถูกต้องตามไปด้วย 
1. 1. โรคเกาต์และโรคเกาต์เทียมเกิดจากสาเหตุใด" 
สาเหตุหลักของโรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งหมายถึงภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือด (serum uric acid, SUA) สูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือ "โมโนโซเดียมยูเรต" (monosodium urate; MSU) บริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะระยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ และ เท้า ทั้งอาจทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) บริเวณข้อ เนื้อเยื่อผิวหนัง และท่อไตซึ่งอาจนําไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute renal failure) ได้ และการสะสมของผลึก MSU นี้ จัดเป็นสิ่งระคายเคืองต่อร่างกายที่จะกระตุ้นกระบวนการอักเสบ (inflammatory response) ทําให้เกิดภาวะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute arthritis) ขึ้น1 
ขณะที่โรคเกาต์เทียมเกิดจากการสะสมผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท "calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD)" โดยมักจะเกิดพยาธิสภาพขึ้นในข้อบริเวณใหญ่ๆ ของร่างกายและมักจะสะสมบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท้านั้น ต่างจากโรคเกาต์ที่จะเกิดการตกผลึกเกลือ MSU ในบริเวณข้อและอวัยวะต่างๆ ได้หลายระบบ ผลึกเกลือชนิดดังกล่าวจะมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการปวด บวม และอักเสบตามมา 
2. โรคทั้งสองชนิดทำให้เกิดอาการข้ออักเสบเหมือนกันหรือไม่ 
โรคทั้งสองชนิดก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบได้เหมือนกัน โดยโรคเกาต์จะก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน บริเวณหัวมือเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าแรก (first metatarsophalangeal joint (MTP1) หรือ podagra) นอกจากนั้นพบอาการปวดได้ที่บริเวณข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น ขณะที่โรคเกาต์เทียมมักจะก่อให้เกิดอาการปวดที่บริเวณข้อใหญ่ ๆ เช่น หัวเข่า (พบมากที่สุด) ข้อเข่า ข้อมือ และข้อไหล่ เป็นต้น 
3. อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเกาต์และเกาต์เทียม 
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเกาต์และเกาต์เทียมสรุปดังตารางที่ 1 
 
4. อะไรเป็นสิ่งที่ใช้วินิจฉัยแยกโรคทั้งสองชนิดได้ 
การวินิจฉัยที่แน่ชัดและถูกต้องที่สุดคือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเจาะดูดน้ำไขข้อ (joint aspiration) และตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งหากเป็นโรคเกาต์จะพบผลึกเกลือชนิด MSU ซึ่งมีลักษณะรูปคล้ายเข็ม (needle-like) และหากเป็นโรคเกาต์เทียมจะพบเป็นผลึกเกลือชนิด CPPD ซึ่งมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมคางหมู (rhomboid) (รูปที่ 1) 
 
อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถเจาะน้ำไขข้อตรวจหาผลึกเกลือได้ สามารถพิจารณาความแตกต่างของโรคทั้งสองชนิดง่ายๆจากอาการปวด โดยผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีอาการปวดเจ็บข้อแบบเฉียบพลันและเกิดขึ้นทันทีทันใดและหายภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียม จะการเกิดข้ออักเสบแบบเริ่มปวดอย่างช้าๆ และอาจใช้เวลาหลาย วัน ก่อนที่จะมีเกิดอาการปวดเต็มที่ และปวดนานราว 5-12 วัน 
5. การรักษาโรคเกาต์และเกาต์เทียมเหมือนกันหรือไม่ 
เนื่องจากโรคทั้งสองชนิดเกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ดังนั้นการรักษาโรคเกาต์และเกาต์เทียมจะใช้ยารักษาที่ต่างกันด้วย ในการรักษาโรคเกาต์ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงนั้นการรักษาจะใช้ยาที่มีฤทธิ์ลดระดับกรดยูริกในเลือด เช่น ยาอัลโลพูรินอล (allopurinol) เป็นต้น และใช้ยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบของข้อขณะเกิดอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน เช่น ยาคลอจิซีน (colchicine) กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และ กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เป็นต้น ร่วมกับการใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่อักเสบ 
ขณะที่ในผู้ป่วยโรคเกาต์เทียม ซึ่งมีสาเหตุจากการสะสมผลึกเกลือ CPPD นั้นในปัจจุบันยังไม่มียาที่มีฤทธิ์ลดการสะสมผลึกเกลือ CPPD ดังนั้นในการรักษาโรคเกาต์เทียมนั้นจะใช้เฉพาะยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและอักเสบเท่านั้นขณะเกิดอาการปวดเท่านั้น โดยสามารถใช้ยาระงับปวดที่ใช้รักษาอาการปวดขณะเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันชนิดเดียวกับโรคเกาต์ เช่น ยากลุ่ม NSIADs และยาคลอจิซีน เป็นต้น 
6. จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคเกาต์และเกาต์เทียมอย่างไร 
การป้องกันการเกิดโรคเกาต์สามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงการสะสมผลึกเกลือยูเรต เช่น ควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงยาที่มีผลเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด เป็นต้น 
ขณะที่ในโรคเกาต์เทียมยังไม่มีวิธีที่ป้องกันสะสมผลึกเกลือ CPPD ได้ นอกจากแก้ไขที่สาเหตุของโรคที่ชักนำการสร้าง CPDD เช่น การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น แต่หากเกิดอาการปวดบ่อยๆ สามารถใช้ยาระงับปวดต้านอักเสบ เช่น ยาคลอจิซีน ยากลุ่ม NSAIDs ช่วยป้องกันการปวดอักเสบได้ นอกจากนั้นควรรักษาโรคเป็นสาเหตุของพยาธิสภาพโรคเกาต์เทียมดังแสดงในตารางที่ 1 เช่น ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง และฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำ เป็นต้น 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ (Guideline for Management of Gout พ.ศ. 2555 [cited 2018 July 9] Available from: http://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2016/08/Guideline-for-Management-of-Gout.pdf.
  2. Richette P, Doherty M, Pascual E, Barskova V, Becce F, Casta?eda-Sanabria J, et al. 2016 updated EULAR evidence-based recommendations for the management of gout. Ann Rheum Dis 2017;76(1):29-42.
  3. Tagoe CE, Raza Y. Differences in acute phase reactants between gout and pseudogout. International Journal of Clinical Medicine. 2013 Dec 27;4(12):13.
  4. Accessed on July 29,2019, Cited at https://www.reddit.com/r/medicalschool/comments/647y6f/gout_and_pseudogout/
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


7 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้