เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คอนแทคเลนส์


เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 170,112 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/02/2554
อ่านล่าสุด 11 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาเลนส์สัมผัส หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “คอนแทคเลนส์” (Contact Lens) ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น เพื่อนำมาใช้ในเรื่องความสวยความงาม ตัวอย่างเช่น เปลี่ยนสีดวงตา ทำให้ตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ เป็นต้น โดยคอนแทคเลนส์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้า หรือแม้แต่กระทั่งตามแผงลอยทั่วไป

 

 

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

 

 

เลนส์สัมผัส (Contact Lens) หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโพลีเมอร์ หรือวัสดุอื่น

มีลักษณะเป็นแผ่นใช้ครอบบนกระจกตา (Cornea)

เพื่อแก้ไขความผิดปกตของสายตา รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับตา ความสวยงาม หรือวัตถุประสงค์อื่น

 

และได้มีการกำหนดให้เลนส์สัมผัสเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เคยกำหนดให้เลนส์สัมผัสที่ใช้เพื่อการปรับสายตาเท่านั้นเป็นเครื่องมือแพทย์ ส่งผลให้มาตรการในการควบคุมดูแลนั้นเข้มงวดมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

ประเภทของคอนแทคเลนส์

แบ่งตามเนื้อวัสดุที่นำมาใช้ผลิต ดังนี้

1. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ที่ก๊าซสามารถซึมผ่านได้ (Rigid Gas Permeableหรือ RGP Contact Lenses)

ทำจากวัสดุพลาสติกชนิดพิเศษที่สามารถทำให้ออกซิเจนจากอากาศซึมผ่านตัวเลนส์ไปสู่กระจกตาได้ในปริมาณสูงจะทำให้เห็นภาพชัด ละเอียดขึ้น มีราคาถูกกว่าชนิดนิ่ม เนื่องจากใช้ได้นานกว่าและจะมีความคงทนต่อการเกิดรอยขูดขีดและเกาะติดของคราบมากกว่า แต่ในระยะแรกจะรู้สึกไม่สะดวกสบายในการสวมใส่เท่ากับชนิดนิ่ม ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการสวมใส่

2. คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lenses)

ทำจากแผ่นพลาสติกจำเพาะอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะนิ่ม บิดงอได้ ซึ่งเป็นผลให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้ากระจกตาได้ มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูงกว่าชนิดแข็ง คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ใช้ง่าย และสะดวกสบายกว่าชนิดแข็ง ปัจจุบันมีการนำวัสดุประเภทซิลิโคน ไฮโดรเยล (Silicone hydrogels)มาใช้ เพื่อให้ออกซิเจนผ่านเข้าสู่ตามากขึ้นในขณะที่สวมใส่อยู่

คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มสามารถแบ่งตามรูปแบบการใช้งานได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

1) คอนแทคเลนส์รายวัน - ใส่ ถอด และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ทุกวัน

2) คอนแทคเลนส์รายสัปดาห์ - ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ทุก 1-2 สัปดาห์

3) คอนแทคเลนส์รายเดือน - ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ทุก 1 เดือน

4) คอนแทคเลนส์รายปี - ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ใหม่ทุกปี ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากการดูแลทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ค่อนข้างยุ่งยากและต้องเข้มงวดกว่า 3 แบบแรก

5) คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ต่อเนื่อง - ใส่ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ จากนั้นจึงเปลี่ยนใหม่ ซึ่งโดยปกติไม่แนะนำการใช้คอนแทคเลนส์รูปแบบนี้ เนื่องจากพบอัตราการติดเชื้อที่กระจกตาได้สูงกว่าการใช้แบบใส่และถอดออกทุก วันอย่างมาก

 

ภาวะผิดปกติหรือโรคที่อาจเกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์

1. อาการตาแห้ง ซึ่งเกิดจากการแพ้ พบในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์นาน 2-3 ปี นอกจากนี้การใส่คอนแทคเลนส์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของน้ำตาเปลี่ยนแปลงไปทำให้การไหลเวียนของน้ำตาที่กระจกตาลดลง

2. การอักเสบของกระจกตาและเยื่อบุตา จะพบมีเยื่อบุตาแดงเคืองตาขี้ตาเหนียวน้ำตามีเศษโปรตีนหรือมีเศษโปรตีนติดที่คอนแทคเลนส์มีการเลื่อนตำแหน่งของคอนแทคเลนส์จากกระจกตาอย่างมากซึ่งทำให้เกิดภาพมัว

3. การเกิดตุ่มอักเสบที่เปลือกตาด้านใน พบมากในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม เกิดจากการระคายเคือง อาการที่เกิดคือ ภาวะหนังตาตก ตาแดง ระคายเคือง มีการสร้างสารจำพวกโปรตีนที่ละลายได้ มองภาพไม่ชัด มีน้ำตา ตาไม่สู้แสง

4. การอักเสบที่เยื่อบุผิวของกระจกตา ลักษณะเป็นจุดเล็กๆ เนื่องจากเกิดบาดแผลหรือการช้ำที่เยื่อตา ตาแห้ง มีอาการแพ้ หรือขาดออกซิเจน ซึ่งแผลจุดเล็กๆอาจมารวมกันเข้าเป็นบริเวณใหญ่และเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยหยุดการใช้คอนแทคเลนส์จนกว่าแผลจะหายเสียก่อน

5. การติดเชื้อที่กระจกตา เป็นอาการของโรคที่เกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่เป็นอันตรายที่สุด เนื่องจากอาจส่งผลให้ตาบอดถาวรได้ สาเหตุเป็นได้ทั้งจากตัวผู้ใช้เอง น้ำยาที่ใช้กับเลนส์ หรือภาชนะบรรจุเลนส์ จากการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า ในกลุ่มผู้ใช้คอนแทคเลนส์ที่มีอาการติดเชื้อที่กระจกตา มีสูงถึง 67 เปอร์เซ็นต์ที่มีประวัติการใส่เลนส์ขณะนอนหลับในเวลากลางคืน 34 เปอร์เซ็นต์พบว่าขั้นตอนในการดูแลรักษาเลนส์สัมผัสไม่ได้มาตรฐาน และชนิดของคอนแทคเลนส์ที่พบว่ามีการใช้มากที่สุดเป็นแบบนิ่มชนิดเปลี่ยนเป็นระยะ ส่วนการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่กระจกตาของผู้ที่ใส่เลนส์ข้ามคืนสูงถึง 5.4 เท่า ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ชนิดใดก็ตาม และแม้ว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อจะไม่ลดลงในการใช้คอนแทคเลนส์แบบนิ่มชนิดเปลี่ยนทุกวันและซิลิโคน ไฮโดรเยล แต่ความเสี่ยงในการสูญเสียของสายตาของกลุ่มคอนแทคเลนส์แบบนิ่มชนิดเปลี่ยนทุกวันมีน้อยกว่าชนิดเปลี่ยนเป็นระยะ

นอกจากนี้หลายการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การเกิดภาวะผิดปกติหรือโรคเหล่านี้มักเกิดในผู้ใช้ที่ซื้อคอนแทคเลนส์จากแหล่งที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นการเลือกซื้อคอนแทคเลนส์จึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน

 

สิ่งที่ผู้บริโภคควรสังเกตก่อนตัดสินใจซื้อคอนแทคเลนส์

บนฉลากของบรรจุภัณฑ์ ได้แก่

1. ชื่อคอนแทคเลนส์และวัสดุที่ใช้ผลิตคอนแทคเลนส์

2. พารามิเตอร์ของคอนแทคเลนส์ (contact lens parameter) เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง รัศมีความโค้ง เป็นต้น

3. ระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็งที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน มีการระบุเดือน ปีที่หมดอายุ โดยสังเกตที่คำว่า “หมดอายุ” หรือ “ต้องใช้ก่อน” หรือข้อความ “เดือนปีที่หมดอายุให้ดูที่” แล้วตามด้วยคำภาษาอังกฤษหรือสัญลักษณ์ที่ระบุเดือนปีที่หมดอายุบนภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุ

4. เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์

ส่วนเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ต้องเป็นภาษาไทยที่อ่านได้ชัดเจน

 

ข้อห้ามในการใช้คอนแทคเลนส์

1. ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับบุคคลอื่น

2. ห้ามใส่คอนแทคเลนส์เกินระยะเวลาใช้งานที่กำหนด

3. ห้ามใช้คอนแทคเลนส์ถ้าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพชำรุดหรือถูกเปิดก่อนใช้งาน

 

ข้อควรระวังในการใช้คอนแทคเลนส์

1. การใช้คอนแทคเลนส์ควรได้รับการสั่งใช้และตรวจติดตามทุกปีโดยจักษุแพทย์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์เท่านั้น

2. ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น ต้อเนื้อ ต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง กระพริบตาไม่เต็มที่ ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์

3. ควรใช้น้ำยาล้างเลนส์สัมผัสที่ใหม่ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับเลนส์สัมผัสทุกครั้งที่แช่เลนส์สัมผัส และแม้ไม่ใส่เลนส์สัมผัส ควรเปลี่ยนน้ำยาใหม่ในตลับทุกวัน

4. ควรเปลี่ยนตลับใส่คอนแทคเลนส์ทุกสามเดือน

5. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสเลนส์

6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ทุกชนิดเวลานอน ถึงแม้จะเป็นชนิดใส่นอนได้ก็ตาม

7. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้

8. หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาเป็นอย่างมากร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัว น้ำตาไหลมากหรือตาแดง ให้หยุดใช้คอนแทคเลนส์ทันที และรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

 

References

  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 120 ง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เลนส์สัมผัส วันที่ 14 ตุลาคม 2553
  • สุภมาศ วัยอุดมวุฒิ.รู้จัก “คอนแทคเลนส์ กันอีกสักนิด”. Fact Sheet หมวดเครื่องมือแพทย์ 2550;7: 1-4.
  • Preechawat P, Ratananikom U, Lerdvitayasakul R, Kunavisarut S. Contact Lens - Related Microbial Keratitis. J Med Assoc Thai 2007; 90(4): 737-43.
  • Steinemann TL, Pinninti U, Szczotka LB, Eiferman RA, Price FW Jr. Ocular Complications Associated with the Use of Cosmetic Contact Lenses from Unlicensed Vendors. Eye&Contact Lens 2003; 29(4): 196–200.
  • Steinemann TL, Fletcher M, Bonny AE, et al. Over-the-Counter Decorative Contact Lenses: Cosmetic or Medical Devices? A Case Series. Eye&Contact Lens 2005; 31(5): 194–200.
  • Dart JKG, Radford CF, Minassian D, et al. Risk Factors for Microbial Keratitis with Contemporary Contact Lenses. Ophthalmology 2008; 115(10): 1647-54.
  • อรทัย ชาญสันติ. ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์. ศูนย์แว่นตาไอซอพติก[Online]; 2009. Available form: http://www.isoptik.com/isoptik/datas/eyecare1/8-7_12.php [Accessed 2011 Jan 10]
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


คอนแทคเลนส์ 1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้