เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ห่อตัวทารกอย่างไร ปลอดภัยจากโรคไหลตาย


อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.allbabyneeds.co.uk/Shop/swadd..._2897.html
อ่านแล้ว 59,099 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/05/2559
อ่านล่าสุด 14 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

(บทความสืบเนื่องจาก "โรคไหลตายในทารก!! ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม")
ตลอดระยะเวลาเก้าเดือนที่ทารกน้อยได้รับการปกป้องดูแลอย่างดีภายในร่างกายของคุณแม่ ทารกจะลอยตัวอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ทำให้ทารกรู้สึกสบาย ทารกใช้โลกใบน้อยแห่งนี้เป็นที่หลับนอน ผลิกตัวเล่นซน ทานอาหาร ขับถ่าย ถุงน้ำคร่ำจึงเปรียบเหมือนเกราะคุ้มภัยที่แข็งแรงแต่อ่อนนุ่ม แต่เมื่อทารกครบกำหนดคลอดจากครรภ์ของมารดามาเผชิญกับโลกภายนอกอันกว้างใหญ่ มีเสียงดังสับสน บางครั้งทารกมิอาจปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกได้ นอกจากนี้สภาวะอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงระหว่างวันมีความแตกต่างจากถุงน้ำคร่ำที่ให้ความอบอุ่น ทารกจึงเกิดความกลัว ความหวาดระแวงและรู้สึกไม่ปลอดภัย ทารกจะแสดงออกด้วยการร้องไห้ เพื่อทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น การห่อตัวทารก ถือเป็นหนทางที่ดีในการปลอบโยนทารกแรกคลอด อย่างไรก็ตามการห่อตัวทารกอาจไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัยสำหรับทารกอีกต่อไป เพราะจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Pediatrics ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 พบว่า การห่อตัวทารกอาจมีความเสี่ยงกับโรคไหลตาย โดยการศึกษานี้อาศัยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ภาพจาก : https://cdn.adenandanais.com/content/files/images/
productimages/large/2053_3-swaddle-muslin-baby-pink-
blue-stripe-icon.jpg

เพื่อเป็นการเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดการห่อตัวทารกน้อยและปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายของทารกดังนี้
การห่อตัวทารกแรกคลอดมีประโยชน์อย่างไร ?
เมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว จะได้รับการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นคุณพี่พยาบาลจะห่อตัวทารกน้อยก่อนนำมามอบให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ชื่นชม บางครั้งคุณพ่อกับคุณแม่อาจเข้าใจว่าการห่อตัวลูกน้อยเป็นเพียงการช่วยพยุงทารกในระหว่างการฝึกอุ้มเด็กอ่อนหรือเพื่อความสะดวกในการให้นม แต่แท้ที่จริงแล้วการห่อทารกในช่วงหลังคลอดเป็นการช่วยทารกในการปรับตัวให้เคยชินกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง กระชับแขนขา ลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดัง รักษาความอบอุ่นทำให้ทารกไม่รู้สึกหนาว นอนหลับได้นานขึ้น ระยะเวลาในการห่อตัวทารกนั้นไม่มีข้อกำหนดที่แน่ชัด คือตั้งแต่ 3 วันหลังคลอดจนถึง 1 เดือน หรือบางครั้งอาจพิจารณาเลิกห่อตัวเมื่อทารกเริ่มผลิกกลับตัวได้เอง
การห่อตัวทารกแรกคลอดมีกี่วิธี อย่างไรบ้าง ?
การห่อตัวทารกเป็นวิธีพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะได้เรียนรู้จากพี่พยาบาลภายหลังคลอดทารกน้อย การห่อตัวทารกหมายถึงการนำผ้าฝ้ายหรือผ้าขนหนูห่อตัวทารก การห่อตัวเด็กมีอยู่ 3 วิธีคือ 1. ห่อผ้าบริเวณตัวและปกคลุมส่วนศีรษะของทารกโดยเว้นบริเวณใบหน้า 2. ห่อผ้าบริเวณตัวและคลุมถึงส่วนคอของทารก 3. ห่อผ้าครึ่งตัวของทารก บางครั้งวิธีการห่อตัวทารกมีความแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและวัฒนธรรม การห่อตัวทารกควรเลือกคุณลักษณะของผ้าให้เหมาะกับสภาวะอากาศ เช่น หากในวันที่มีสภาพอากาศร้อนควรเลือกใช้ผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือ ในวันที่มีอากาศเย็นควรเลือกผ้าที่หนาพอจะรักษาความอบอุ่นให้ทารก
เพราะเหตุใดการห่อตัวทารกแรกคลอดอาจเสี่ยงต่อโรคไหลตาย ?
แม้ว่าการห่อตัวทารกน้อยจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายได้ สาเหตุพื้นฐานที่สามารถอธิบายได้คือ เมื่อทารกน้อยเริ่มพลิกตัวนอนคว่ำในขณะได้รับการห่อตัวอาจทำให้ขาดอากาศหายใจเนื่องจากการคว่ำหน้าลงบนวัสดุรองนอน ทารกน้อยจะไม่สามารถผลิกตัวกลับมานอนหงายได้เอง เนื่องจากแขนขาถูกห่อไว้ นอกจากนี้การศึกษาในต่างประเทศพบว่าทารกที่ได้รับการห่อตัวในขณะหลับจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับการห่อตัวหลังได้รับการกระตุ้นด้วยเสียงดัง ถ้าหากทารกน้อยมีความบกพร่องในการควบคุมการทำงานของหัวใจและไม่สามารถปลุกให้ตื่นจากการนอนหลับ อาจนำไปสู่การลดการตอบสนองของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ก่อให้เกิดโรคไหลตายในทารกหรือ sudden infant death syndrome (SIDS) นอกเหนือจากภาวะเสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารกแล้ว การห่อตัวทารกอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจริญพัฒนาของสะโพกที่ผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน ปอดบวม หรืออาจเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน
คุณพ่อคุณแม่จะห่อตัวลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย?
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ให้คำแนะนำในการห่อตัวทารกน้อยเพื่อความปลอดภัยในการนอนของทารกในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนไว้ดังนี้
  1. ให้ทารกนอนหลับในท่านอนหงาย เฝ้าติดตามดูลูกน้อยเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าตัวน้อยไม่ผลิกตัวนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้าง ในระหว่างที่ห่อตัวทารกไว้ขณะนอนหลับ
  2. จัดผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนบนเตียงของลูกน้อยให้ตึงอยู่เสมอ เนื่องจากผ้าปูที่นอนหรือวัสดุรองนอนที่หย่อนรวมถึงผ้าห่อตัวทารกที่ห่อไว้หลวมๆ อาจหลุดออกจากเตียงหรือตัวของทารกน้อยและอาจเป็นสาเหตุทำให้อุดปากหรือจมูกขัดขวางทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศได้
  3. วัสดุรองนอนของทารกต้องปราศจากแผ่นรองนอนที่นิ่มจนบุ่มลงเป็นแอ่ง ปราศจากของเล่นชนิดต่างๆ หมอนและเครื่องนอนอื่นๆ ควรแยกที่นอนของทารกออกจากที่นอนหลักของพ่อแม่เพื่อลดความสูญเสียทารกจากการนอนทับหรืออุบัติเหตุอันไม่คาดคิด
  4. การห่อตัวอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายของทารกสูงกว่าปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตร่างกายของทารกน้อยอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการห่อตัว อาการที่บ่งบอกถึงสภาพของทารกที่ร้อนกว่าปกติ เช่น มีเหงื่อออกตามตัว ผมเปียกชื้น แก้มแดงกว่าปกติ มีผื่นขึ้นจากความร้อน หายใจเร็ว เป็นต้น
  5. พิจารณาใช้จุกนมหลอกสำหรับให้ทารกดูดจะช่วยให้ทารกหลับสนิทได้ดีในระหว่างวัน บริเวณที่นอนของทารกต้องปราศจากควันหรือสารพิษอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราศจากควันบุหรี่
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่านเมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้อาจเกิดความวิตกกังวลในการเลือกพิจารณาว่าควรจะห่อตัวลูกน้อยหรือไม่และจะห่อตัวทารกน้อยเป็นเวลานานเท่าใด ควรเลิกห่อตัวน้อยทันทีเลยหรือไม่ เพื่อลดความเสียงของการเกิดโรคไหลตาย ผู้เขียนขออธิบายว่าการห่อตัวเด็กแรกเกิดยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปรับทารกน้อยให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่หลังการคลอด ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงของการเกิดโรคไหลตายในทารกที่ได้รับการห่อตัวเป็นเพียงข้อมูลงานวิจัยจากต่างประเทศและต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาสาระของบทความนี้จะจุดประกายให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ติดตามวิทยาการ ความก้าวหน้าใหม่ๆ ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทารกและเด็กในวัยต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาศักยภาพของลูกหลานท่านในอนาคต "สวัสดีครับ"
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://th.theasianparent.com
  2. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/diapers-clothing/Pages/Swaddling-Is-it-Safe.aspx
  3. Clarke NM. Swaddling and hip dysplasia: an orthopaedic perspective. Arch Dis Child. 2014;99(1):5-6.
  4. Franco P, Scaillet S, Groswasser J, Kahn A. Increased cardiac autonomic responses to auditory challenges in swaddled infants. Sleep. 2004;27(8):1527-32.
  5. Harper RM, Kinney HC. Potential Mechanisms of Failure in the Sudden Infant Death Syndrome. Curr Pediatr Rev. 2010;6(1):39-47.
  6. Oden RP, Powell C, Sims A, Weisman J, Joyner BL, Moon RY. Swaddling: will it get babies onto their backs for sleep? Clin Pediatr (Phila). 2012;51(3):254-9.
  7. Pease AS, Fleming PJ, Hauck FR, Moon RY, Horne RSC, L’Hoir MP, et al. Swaddling and the Risk of Sudden Infant Death Syndrome: A Meta-analysis. Pediatrics. 2016.
  8. Richardson HL, Walker AM, Horne RS. Influence of swaddling experience on spontaneous arousal patterns and autonomic control in sleeping infants. J Pediatr. 2010;157(1):85-91.
  9. Yurdakok K, Yavuz T, Taylor CE. Swaddling and acute respiratory infections. Am J Public Health. 1990;80(7):873-5.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
26 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 27 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้