เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคไหลตายในทารก!! ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม


อาจารย์ ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก: http://www.dramitbang.com/wp-content/upl...eeping.jpg
อ่านแล้ว 68,975 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/05/2559
อ่านล่าสุด 6 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เก้าเดือนหลังการตั้งครรภ์คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ย่อมมีความปลาบปลื้มใจที่จะได้เลี้ยงทารกน้อยที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาดูโลก สำหรับคู่สามีภรรยาที่ประสบปัญหาการมีบุตรยากด้วยแล้ว ลูกคนแรกนี้ย่อมเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ การเลี้ยงเด็กทารกคนแรกอาจเป็นภาระที่สำคัญสำหรับพ่อแม่มือใหม่ เนื่องจากทั้งคู่ยังขาดประสบการณ์และสืบเนื่องจากสภาพสังคมเมืองในปัจจุบันคู่สามีภรรยาต้องเลี้ยงทารกเพียงลำพังโดยปราศจากความช่วยเหลือของ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลที่มีประสบการณ์ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับพ่อแม่มือใหม่ ผู้เขียนขอแนะนำโรคที่อาจมาพรากทารกไปจากอ้อมอกของพ่อแม่อย่างไม่คาดฝัน โรคที่จะกล่าวถึงคือ โรคไหลตายในทารกในฐานะภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม
โรคไหลตายในทารกคืออะไร ?
โรคไหลตายในทารกหรืออาการหลับไม่ตื่นในทารก มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) อาจเรียกว่า cot death หรือ crib death เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตลูกน้อยมากกว่าสามพันคนต่อปี โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันเตรียมใจกับการสูญเสียครั้งนี้ เนื่องจากโรคไหลตายในเด็กสามารถเกิดขึ้นในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงและอาจเกิดขึ้นขณะพ่อแม่นำลูกเข้านอนและเมื่อตื่นมาพบว่าปลุกลูกไม่ตื่นอีกเลย เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุและสามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา โดยทั่วไปแล้วจะเกิดกับทารกที่อายุตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ ช่วงเวลาที่เกิดคือเที่ยงถึงสามโมงเช้าของวันใหม่ โรคไหลตายในทารกจะเกิดในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนประมาณร้อยละ 90 โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นก่อนเสียชีวิต ในประเทศที่กำลังพัฒนาอัตราการเกิดโรคไหลตายในเด็กจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า พบทารกเสียชีวิต 10 คน ในทารกเกิดใหม่ 1000 คน

โรคไหลตายในทารกเกิดจากสาเหตุอะไร ?
ปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค SIDS อย่างแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าทารกน้อยจะหยุดหายใจขณะหลับและไม่สามารถตื่นขึ้นมาหายใจได้อีก สาเหตุของโรคไหลตายในทารกอาจเกิดจากหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นพัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่นการให้ทารกนอนคว่ำ อยู่ในสภาพอากาศร้อน ได้รับควันบุหรี่ ขาดอากาศหายใจการกดทับขณะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ หรืออาจมีวัตถุนิ่มๆ หรือผ้าไปอุดทางเดินหายใจเนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการคลื่นไหวของศีรษะได้ดี ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย นอกจากนั้นภาวะการติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรมและโรคหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 80
ในฐานะพ่อแม่เราจะป้องกันทารกน้อยจากโรคไหลตายได้อย่างไร ?
เพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิตของทารกน้อยคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้
  1. ควรให้เด็กทารกนอนหงายหรือนอนตะแคง เพราะทารกจะหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ดีกว่าท่านอนคว่ำ ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อว่าการนอนคว่ำจะลดอัตราการสำลักน้ำลายขณะหลับ
  2. ควรแยกที่นอนทารกออกจากที่นอนของพ่อแม่ วัสดุรองนอนของทารกต้องแข็งแรงและไม่อ่อนยวบเมื่อวางตัวทารกลงไปเพราะอาจเป็นสาเหตุของการอุดทางเดินหายระหว่างหลับได้ ไม่นำตุ๊กตาหรือของเล่นวางไว้บนที่นอนของทารก การห่มผ้าควรเลือกเฉพาะผ้าห่มที่สามารถหายใจผ่านได้ ไม่ควรใช้ผ้าห่มนวมหนาในการห่มตัวทารก วัสดุที่ใช้กันขอบเตียงควรใช้ผ้าทอรูปร่างคล้ายตาข่ายที่สามารถหายใจผ่านได้สะดวกและห้ามมีรอยต่อระหว่างเตียงนอนของทารกเพราะเด็กอาจพลิกตัวคว่ำหน้าลงไปในรอยต่อนั้นได้
  3. อุณหภูมิของห้องนอนทารกไม่ควรอุ่นหรือเย็นเกินไป เนื่องจากอากาศที่ร้อนทำให้ทารกไม่สบายตัว หายใจลำบากมากขึ้น ส่วนอากาศที่เย็นเกินไปอาจทำให้ทารกป่วยได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกคือ 25-26 องศาเซลเซียส
  4. หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมของควันไฟโดยเฉพาะควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุหลักของการหายใจที่ผิดปกติของทารกอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือหลอดลมตีบเฉียบพลัน
  5. คุณพ่อคุณแม่อาจใช้จุกนมปลอมให้ทารกดูดเพื่อให้ทารกหลับสบายขึ้น เพราะการดูดจุกนมมีส่วนช่วยให้ทารกหายใจได้สม่ำเสมอ
  6. ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่านมแม่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไหลตายในทารกได้หรือไม่ แต่การศึกษาวิจัยพบว่านมแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไหลตายในทารกได้ นอกจากนั้นนมแม่ยังอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันจากแม่และเป็นสายใยรักของแม่ส่งผ่านสู่ทารกโดยตรงอีกด้วย
ถ้าปกป้องทารกทุกทางแล้วยังจะมีโอกาสไหลตายได้อีกหรือไม่ ? ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะป้องกันสาเหตุการเกิดโรคไหลตายของทารกได้ดีเพียงใด แต่สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงการลดปัจจัยเสี่ยงให้น้อยลงเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรค SIDS เสมอ ปัจจุบันวิทยาการการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมากสามารถตรวจสอบการเกิดโรคในระดับยีนหรือสารพันธุกรรม เรามีความคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจค้นพบสาเหตุการเกิดโรคไหลตายในทารกและวินิจฉัยได้ทันก่อนที่ความสูญเสียจะเกิดขึ้น
ทารกน้อยหนึ่งชีวิตที่เกิดมาแล้วย่อมเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคู่ครับ บางคู่อาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้กำเนิดในกรณีที่มีบุตรยากและเมื่อทารกคลอดออกมาแล้วนั่นหมายถึงภาระอันยิ่งใหญ่ที่ต้องดูแลลูกน้อยจนเติบโตสมวัยในอนาคต เราจะเข้าใจความห่วงหาอาทรของพ่อแม่ก็ต่อเมื่อมีลูกเป็นของตนเอง ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคในเด็กหรือทารกน้อยย่อมเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่ควรมองข้ามครับ นอกจากภาระหลักในการประกอบสัมมาอาชีพแล้ว สุขภาพของทารกน้อยย่อมเป็นส่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม พบกันครั้งหน้าผู้เขียนจะขอเล่าถึง “ความเสี่ยงการเกิดโรคไหลตายจากการห่อตัวทารกแรกเกิด” สวัสดีครับ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://th.theasianparent.com
  2. Caraballo M, Shimasaki S, Johnston K, Tung G, Albright K, Halbower AC. Knowledge, Attitudes, and Risk for Sudden Unexpected Infant Death in Children of Adolescent Mothers: A Qualitative Study. The Journal of pediatrics. 2016.
  3. Cullen D, Vodde CR, Williams KJ, Stiffler D, Luna G. Infant Co-Bedding: Practices and Teaching Strategies. Journal for specialists in pediatric nursing : JSPN. 2016;21(2):54-63.
  4. Erck Lambert AB, Parks SE, Camperlengo L, Cottengim C, Anderson RL, Covington TM, et al. Death Scene Investigation and Autopsy Practices in Sudden Unexpected Infant Deaths. The Journal of pediatrics. 2016.
  5. Sarquella-Brugada G, Campuzano O, Cesar S, Iglesias A, Fernandez A, Brugada J, et al. Sudden infant death syndrome caused by cardiac arrhythmias: only a matter of genes encoding ion channels? International journal of legal medicine. 2016;130(2):415-20.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


พยาธิในเนื้อหมู 17 วินาทีที่แล้ว
แก้วมังกร 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้