เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


พยาธิในเนื้อหมู


อ. ดร. ภก. สุเมธ จงรุจิโรจน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://chestofbooks.com/health/disease/P...Peiper.jpg
อ่านแล้ว 47,034 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/04/2559
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “โรคพยาธิ” ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งก็เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ที่ยังนิยมกินอาหารปรุงไม่สุก กินเนื้อสัตว์กึ่งสุก กึ่งดิบ ทั้งจากเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อปลา หอย เช่น ลาบ หลู้ น้ำตก แหนม รวมถึงผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่ามีอัตราการติดโรคพยาธิมากกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศไทย อีกทั้งการพบพยาธิในอาหารก็ยังเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น ข่าวการพบพยาธิลักษณะลำตัวกลมยาวในเนื้อหมูของร้านอาหารแห่งหนึ่ง จึงทำให้เกิดความตื่นตัว วิจารณ์ว่าเป็นไปได้หรือ ใช่พยาธิรึไม่ บางส่วนก็บอกว่าไม่น่าจะเป็นพยาธิ แต่เป็นเส้นเลือดของหมู ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องพยาธิในเนื้อหมูกัน ในความเป็นจริงเราอาจพบพยาธิในเนื้อหมูได้ ซึ่งพยาธิที่อาจพบแทรกอยู่ในเนื้อหมูมีอยู่ 2 ชนิด คือ พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) และพยาธิทริคิเนลลา สไปราลิส (Trichinella spiralis) โดยลักษณะของพยาธิทั้งสองตัวที่พบในเนื้อหมูก็จะมีลักษณะเป็นถุงซีสต์ (cyst) ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวกลมยาวแต่อย่างใด ในประเทศไทยสามารถพบพยาธินี้ได้ทั้งสองชนิด แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะพยาธิตืดหมูที่พบได้บ่อย 
 
ลักษณะและวงจรชีวิต 
พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบน พบได้ทั่วโลก พบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนา รวมถึงประเทศที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้พบผู้ป่วยเป็นโรคพยาธิตืดหมูได้ในทุกอายุ และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย พยาธิตืดหมูมีลักษณะตัวแบน สีขาวขุ่น อาจยาวได้ถึง 2 – 7 เมตร ประกอบด้วย 1)ส่วนหัว (Scolex) รูปร่างกลม มีอวัยวะที่ใช้ดูด (Sucker) และมีขอเกี่ยว (Hooker) ใช้ในการยึดเกาะ 2)ส่วนคอ (Neck) และ 3)ส่วนปล้อง (Segment) มีลักษณะเป็นปล้องๆ ต่อกันยาว เมื่อปล้องแก่ ก็จะหลุดปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งมีไข่บรรจุอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจแตกที่ลำไส้ใหญ่ทำให้สามารถตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระผู้ป่วยได้ โดยพบพยาธิตัวเต็มวัยเฉพาะในลำไส้ของมนุษย์เท่านั้น ไม่พบพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้ของหมู ดังนั้นมนุษย์เป็นโฮสต์เฉพาะ (Definitive host) และหมูเป็นโฮสต์กลาง (Intermediate host) ของพยาธิตืดหมู เมื่อหมูกินไข่พยาธิเข้าไปเปลือกไข่จะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารปล่อยตัวอ่อนพยาธิ (Cysticercus) ออกมา ซึ่งตัวอ่อนนี้จะไชผนังกระเพาะ หรือผนังลำไส้เข้าไปในเส้นเลือดและไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อของหมู กลายเป็นถุงซีสต์ (cyst) สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีสีขาวคล้ายเม็ดสาคู เมื่อคนรับประทานเนื้อหมูดิบหรือปรุงไม่สุกที่มีตัวอ่อนพยาธิระยะนี้เข้าไป พยาธิก็จะเจริญไปเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้มนุษย์ คอยแย่งอาหารและแพร่พันธุ์ เรียกว่าเป็นโรค Taeniasis แต่บางครั้งถ้ามนุษย์ได้รับไข่พยาธิเข้าไปจะทำให้มีตัวอ่อนไชออกมาจากผนังกระเพาะอาหาร หรือผนังลำไส้แล้วไปฝังตัวเป็นถุงซีสต์ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตา กล้ามเนื้อ และสมอง เรียกว่าเป็นโรค Cysticercosis ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
 
วงจรชีวิตที่ 1: หมูกินไข่พยาธิเข้าไปเปลือกไข่จะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารปล่อยตัวอ่อนพยาธิออกมา ตัวอ่อนนี้จะไชผนังกระเพาะแล้วไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อของหมูกลายเป็นถุงซีสต์ (cyst) เมื่อคนรับประทานเนื้อหมูปรุงไม่สุกนี้เข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยเกาะอยู่ภายในลำไส้ของคน คอยแย่งอาหารและแพร่พันธุ์ เรียกว่าเป็นโรค Taeniasis; 
วงจรชีวิตที่ 2: คนกินไข่พยาธิเข้าไปหรือปล้องแก่ขย้อนจากลำไส้กลับขึ้นมาที่กระเพาะจากนั้นเปลือกไข่จะถูกย่อยที่กระเพาะอาหารปล่อยตัวอ่อนพยาธิออกมา ไชผนังกระเพาะแล้วไปฝังตัวกลายเป็นถุงซีสต์ (cyst) อยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตา กล้ามเนื้อ และสมอง เรียกว่าเป็นโรค Cysticercosis 
อาการของโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรค Taeniasis ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยเช่น ปวดท้อง ท้องอืด น้ำหนักลด อ่อนเพลีย แต่ถ้าเป็นโรค Cysticercosis มักจะมีอาการรุนแรงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีถุงซีสต์ เช่น มีถุงซีสต์ในสมองก็อาจมีอาการปวดหัว ชัก ความจำเสื่อม หรือเป็นอัมพาต ถ้ามีถุงซีสต์ที่ตาอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นต้น 
การวินิจฉัย ตรวจหาปล้องแก่ของพยาธิ หรือไข่พยาธิในอุจจาระ ถ้าจำเป็นอาจถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อหาถุงซีสต์พยาธิตามอวัยวะต่างๆ 
การรักษาและการป้องกัน โรคพยาธิตัวตืดสามารถรักษาได้โดยรับประทานยา niclosamide หรือ praziquantel ตามที่แพทย์สั่ง และอาจจะต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำออกในผู้ป่วยที่เป็นโรค Cysticercosis ที่สำคัญโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ขับถ่ายในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาด รับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุก 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Centers for disease control and prevention. [Internet]. [cited 2016 Mar 25]. Available from: http://www.cdc.gov/parasites/trichinellosis/biology.html
  2. Gillespie S. and Bamford K. Medical Microbiology and Infection at a Glance. 4th ed. A John Wiley & Sons, Ltd., Publication; 2012: 92-93.
  3. ผศ.เอื้อมพร รัตนชาญพิชัย. ตัวตืดหมู และ ตัวตืดวัว. [Internet]. [cited 2016 Mar 25]. Available from: http://www.med.cmu.ac.th/dept/parasite/public/Taeniasis.htm
  4. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล. [Internet]. [cited 2016 Mar 25]. Available from: http://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Cestoda.html


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


พยาธิในเนื้อหมู 1 วินาทีที่แล้ว
3 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 25 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้