Loading…

วัคซีนงูสวัด

วัคซีนงูสวัด

ผศ.ดร.ภก. กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

49,120 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2016-04-11


งูสวัด (Shingles; Herpes zoster) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella Zoster Virus (VZV) เชื้อนี้เป็นไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อก่อโรคอีสุกอีใส ซึ่งแพร่กระจายโดยการสัมผัสโดยตรง เช่น การสัมผัสกับแผลของผู้ป่วย โดยผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ครั้งแรกจะเกิดโรคอีสุกอีใส (Varicella; Chickenpox) เมื่อหายจากโรค เชื้อนี้ยังไม่หมดไปจากร่างกายแต่จะไปหลบอยู่ที่บริเวณปมประสาทจนเมื่อผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น การเจ็บป่วยหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้ออกจากปมประสาทมาก่อโรคบริเวณผิวหนังที่ปลายประสาทมาเลี้ยง โดยจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบปวดร้อน ตุ่มน้ำใสนี้จะคงอยู่ประมาณ 5 วัน จากนั้นจะตกสะเก็ดและหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทเกิดขึ้นได้ อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic neuralgia) พบได้ถึงร้อยละ 40-44 (1, 2) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณที่เกิดตุ่มน้ำใสหลังจากที่ตุ่มน้ำใสหายไปแล้ว อาการปวดนี้จะคงอยู่หลายเดือน หรือถ้าเชื้อเข้าสู่ตาอาจทำให้ตาบอดได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญอีกอย่าง คือ การที่เชื้อเคลื่อนออกจากปมประสาทเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดสมองอักเสบ (VZV encephalitis) อาการส่วนมากจะเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งถ้าทำการรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ 
มีรายงานว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าผู้ติดเชื้อไวรัสงูสวัด 1 ล้านรายต่อปี ครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอาการงูสวัดมีอายุมากกว่า 60 ปี และใช้เงินในการรักษาสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนมากเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีอายุมากกว่า 50 ปี (3) จากการที่ความเสี่ยงของการเกิดงูสวัดจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงถึง 72 ล้านคน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่งูสวัดจะมีอาการไม่รุนแรงแต่เมื่อเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอดหรือเสียชีวิตได้ การป้องกันการเกิดงูสวัดสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ VZV 2 ประเภทคือ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และ วัคซีนป้องกันงูสวัด ถึงแม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 จะทำการฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนวัคซีนป้องกันงูสวัดได้รับการยอมรับให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2006 (4) ผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นงูสวัดแบบเป็นๆหายๆ ก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้เพื่อป้องกันการเกิดงูสวัดในอนาคต แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้มีอาการของงูสวัดในวันที่ได้รับวัคซีน วัคซีนนี้มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 5 ปี จากการศึกษาพบว่าวัคซีนนี้ลดความเสี่ยงในการเกิดงูสวัดได้ร้อยละ 51 และลดความเสี่ยงในการเกิด postherpetic neuralgia ได้ร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นงูสวัดแต่ไม่ได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทย ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้ทำการแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดไว้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (5) 
อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามห้ามให้วัคซีนป้องกันงูสวัดแก่บุคคลเหล่านี้ คือ

  1. ผู้ที่แพ้เจลาติน หรือยานีโอมัยซิน หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆของวัคซีน
  2. ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ติดเชื้อ HIV หรือโรคที่มีผลกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีหรือผู้ป่วยมะเร็งเกี่ยวกับไขกระดูกหรือระบบน้ำเหลือง
  3. หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนงูสวัดหากต้องการตั้งครรภ์ ควรห่างจากวันที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 สัปดาห์

ส่วนผู้ที่เป็นไข้หรือป่วยควรรอให้หายดีก่อนได้รับวัคซีน 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Gilden DH, Cohrs RJ, Mahalingam R. Clinical and molecular pathogenesis of varicella virus infection. Viral Immunol. 2003; 16(3): 243-58.
  2. Gilden DH, Nagel M, Cohrs RJ, Mahalingam R, Baird N. Varicella zoster virus in the nervous system. F1000Res. 2015;4. pii: F1000 Faculty Rev-1356.
  3. Yawn BP, Itzler RF, Wollan PC, Pellissier JM, Sy LS, Saddier P. Health care utilization and cost burden of herpes zoster in a community population. Mayo Clin Proc. 2009; 84(9): 787-94.
  4. http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/shingles/vacc-need-know.htm
  5. http://www.rcpt.org/index.php/2012-10-03-16-53-39/category/6-2013-02-02-09-02-52.html

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

Midazolam (Dormicum) ภัยสังคมที่หญิงและชายควรรู้ 1 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมัน...ผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อ 4 วินาทีที่แล้ว
แอสไพริน (aspirin) 4 วินาทีที่แล้ว
อันตรายจากการสัก 11 วินาทีที่แล้ว
ยารักษาสิว isotretinoin อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม 17 วินาทีที่แล้ว
สารพิษจากเชื้อรา อันตรายที่มองไม่เห็น 21 วินาทีที่แล้ว
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา 21 วินาทีที่แล้ว
อันตรายของครีมหน้าขาว ที่ผสมไฮโดรควิโนน 21 วินาทีที่แล้ว
ยาทาภายนอกรักษาโรคเชื้อรา : ยารักษากลากและเกลื้อน 22 วินาทีที่แล้ว
สเตียรอยด์ผสมยาฆ่าเชื้อ...ใช้ในกรณีใด 30 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา