Loading…

กุหลาบมอญ..ดอกไม้หอมมีประโยชน์

กุหลาบมอญ..ดอกไม้หอมมีประโยชน์

ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

29,879 ครั้ง เมื่อ 1 ช.ม.ที่แล้ว
2016-04-07


ในเทศกาลแห่งความรัก เรามักนึกถึงดอกกุหลาบ ใช้สื่อแทนความรักอันเป็นสากล ปัจจุบันมีกุหลาบมากกว่า 1,000 ชนิด ปลูกกระจายอยู่ทั่วโลก (1) วันนี้ทางสำนักงานข้อมูลสมุนไพรจะพาท่านไปรู้จักกับกุหลาบมอญ (Damask Rose) หรือดอกยี่สุ่น กุหลาบพันธุ์ดั้งเดิม ที่ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ 2 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rosa damascena Mill. อยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นไม้พุ่มสูง 1 - 2 ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม ใบประกอบขนนกเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่ 5 - 7 ใบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกสีขาว ชมพูอ่อนถึงสีชมพูเข้ม และสีแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 4.5 - 7 ซม. พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งเอเชีย (พบมากในอินเดีย) ประเทศแถบตะวันออกกลาง และยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิหร่าน ตุรกี และบัลกาเรีย มีการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใช้ประโยขน์ในการผลิตเครื่องสำอาง 
ในประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันดอกกุหลาบมอญมาช้านาน โดยการนำเข้ามาจากประเทศอิหร่านหรือซีเรีย เรียกว่า “น้ำดอกไม้เทศ” ได้จากการละลายน้ำมันดอกกุหลาบในน้ำต้มสุก นิยมนำมาใช้เป็นน้ำกระสายยาในยาขนานต่างๆ สรรพคุณแผนโบราณของดอกกุหลาบมอญคือ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย และบำรุงกำลัง เป็นต้น (2-4) 
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกลิ่นหรือน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญ ได้แก่ ฤทธิ์คลายกังวล โดยทดสอบให้หนูเจอร์บิลดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญเป็นเวลา 24 ชม. พบว่าหนูจะแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความคลายกังวล และเมื่อให้หนูดมน้ำมันหอมระเหยติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หนูจะมีพฤติกรรมคลายกังวลมากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงซึม (sedation) เมื่อเปรียบเทียบกับยาคลายกังวล diazepam (5) ฤทธิ์ต่อการนอนหลับ ทดสอบฉีดสารสกัดเอทานอลและสารสกัดน้ำของดอกกุหลาบมอญ ที่ขนาด 500 และ 1,000 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาคลายกังวล diazepam (3 มก./กก.) และกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือ (10 มล./กก.) หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดยานอนหลับ pentobarbital ขนาด 30 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีผลทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับยา diazepam (6) น้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BChE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้และจดจำ ผลการทดสอบพบสารสำคัญต่างๆ ในกุหลาบมอญ ได้แก่ citronellol, geraniol, nerol, และ phenylethyl alcohol และพบว่าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญมีฤทธิ์ยับยั้ง AChE (60.86±1.99%) และ BChE (51.08±1.70%) ที่ 1,000 มคก./มล. โดย phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารอื่น และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมพบว่า phenylethyl alcohol จับกับ BChE ได้ดีกว่า AChE ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ของกุหลาบมอญต่อการเรียนรู้และจดจำต่อไป (7) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอาการลมชัก ฤทธิ์ขยายหลอดลม ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง 
สามารถอ่านรายละเอียดของกุหลาบมอญ และดอกไม้ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจากบทความ “ชาดอกไม้” จุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับที่ 31(3) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (http://www.medplant.mahidol.ac.th) 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน, 2542: 160 หน้า.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2556: 94 หน้า.
  3. Boskabady MH, Shafei MN, Saberi Z, Amini S. Pharmacological effects of Rosa damascena. Iran J Basic Med Sci 2011; 14(4) :295-307.
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. ระบบข้อมูล ทาง วิชาการ: กุหลาบมอญดอกสีแดง [อินเทอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 14 ก.พ. 2557]. เข้าถึงได้จาก http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/fragrant2/250-rosa
  5. Bradley B F, Starkey N J, Brown S L, Lea R W. The effects of prolonged rose odor inhalation in two animal models of anxiety. Physiol Behav 2007; 92: 931–8.
  6. Rakhshandah H, Hosseini M, Dolati K. Hypnotic effect of Rosa damascena in Mice. Iran J Pharm Res 2004; 3: 181.
  7. Senol FS, Orhan IE, Kurkcuoglu M, Khan MTH, Altintas A, Sener B, Baser KHC. A mechanistic investigation on anticholinesterase and antioxidant effects of rose (Rosa damascena Mill.). Food Res Int 2013; 53: 502–9.

บทความที่ถูกอ่านล่าสุด

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนังและเส้นผม 1 วินาทีที่แล้ว
ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือแพ้อากาศ เป็นอะไรกันแน่? 3 วินาทีที่แล้ว
ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4 วินาทีที่แล้ว
รวงผึ้ง ... พรรณไม้ประจำรัชกาลที่ 10 5 วินาทีที่แล้ว
รู้จักถั่วเลนทิล...ของดีที่คนรักสุขภาพไม่ควรมองข้าม 9 วินาทีที่แล้ว
ดอกเข้าพรรษา..สีสันของฤดูฝน 9 วินาทีที่แล้ว
น้ำตาเทียมกับ “ตาแห้ง” 18 วินาทีที่แล้ว
โรคกระดูกพรุน 18 วินาทีที่แล้ว
กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศชาย 19 วินาทีที่แล้ว
อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกิน 23 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

เกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์
คลังความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน บทความความรู้สู่ประชาชน

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา