เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาหอม..มรดกทางภูมิปัญญา ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.spiritofhealthkc.com/wp/wp-co...er-pic.jpg
อ่านแล้ว 67,451 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 04/10/2558
อ่านล่าสุด 8 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


คำนำ 
ปัจจุบันคนไทยรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก หรือคุ้นเคยกับยาหอม ทั้งๆที่ยาหอมมีประวัติการใช้คู่กับคนไทยมานานมากกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้วยาหอมคืออะไร ชื่อของตำรับยาก็บ่งบอกว่าตำรับยานี้ต้องมีกลิ่นหอม นั่นคือส่วนประกอบของตัวยาจะต้องเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้ปวดท้อง เป็นลมในท้อง ในคัมภีร์แพทย์แผนไทยได้บันทึกถึงตำรับยาหอมซึ่งมีมากกว่า 300 ตำรับ ใช้รักษาโรคต่างๆ แพทย์ไทยสมัยโบราณจะมียาหอมพกติดตัวไว้ในล่วมยาสำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นตำรับยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย และยาหอมคือ มรดกทางภูมิปัญญาที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน 
กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ให้ประชาชนได้มียาสมุนไพรที่ดี ปลอดภัยไว้ใช้ในบ้าน โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ ด้วยต้องการให้มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้ ในประกาศนั้นมียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดี และใช้กันมายาวนาน 
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของยาหอม 
ถึงแม้ว่ายาหอมมีคู่ประเทศไทยมานานนับร้อยปี แต่ยาหอมก็ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์สรรพคุณหรือความเป็นพิษ จนกระทั่งในปี 25547 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันร่วมกันศึกษาวิจัยพิสูจน์สรรพคุณของยาหอมอย่างเป็นระบบ ซึ่งงานวิจัยได้ทำการศึกษายาหอม 2 ตำรับ คือ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทรจักร์ 
ตำรับยาหอมนวโกฐและยาหอมอินทจักร์ เป็นตำรับยาในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และ บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554 กลุ่มบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม โดยเป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) 
ตำรับยาหอมนวโกฐ ประกอบด้วยเครื่องยา 55 ชนิด เป็นพืชวัตถุ 54 ชนิด ธาตุวัตถุ 1 ชนิด

  • รูปแบบยา ยาผง ยาเม็ด (200 มิลลิกรัม/เม็ด)
  • ข้อบ่งใช้ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการเช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
  • ขนาดและวิธีใช้ 
    ชนิดผง ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ละลายน้ำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ ทุก 3 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 3 ครั้ง 
    ชนิดเม็ด ครั้งละ 5-10 เม็ด ละลายน้ำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ ทุก 3 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 3 ครั้ง
  • ข้อควรระวัง ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ในหญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน

ตำรับยาหอมอินทจักร์ ประกอบเครื่องยา 49 ชนิด เป็นพืชวัตถุ 44 ชนิด สัตว์วัตถุ 4 ชนิด ธาตุวัตถุ 1 ชนิด

  • รูปแบบยา ยาผง ยาเม็ด (200 มิลลิกรัม/เม็ด)
  • ข้อบ่งใช้ แก้ลมบาดทะจิต แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกเสียด
  • ขนาดและวิธีใช้ 
    ชนิดผง ครั้งละ 1/2-1 ช้อนชา ละลายน้ำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ ทุก 3 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 3 ครั้ง 
    ชนิดเม็ด ครั้งละ 5-10 เม็ด ละลายน้ำกระสาย 2-4 ช้อนโต๊ะ ทุก 3 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน 3 ครั้ง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยา 
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยาที่เป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมทั้งสองตำรับ พบว่าเครื่องยาเหล่านี้มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง 
เครื่องยาที่มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 

  • ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ได้แก่ กระเทียม กฤษณา ชะเอมเทศ เปราะหอม ย่านาง เกสรบัวหลวง ฝาง หญ้าฝรั่น อบเชยเทศ ขอนดอก เทียนข้าวเปลือก เทียนดำ เทียนแดง เทียนเยาวพาณี
  • ฤทธิ์เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ได้แก่ บอระเพ็ด ฝาง เทียนแดง ขิง
  • ฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ได้แก่ ชะเอมเทศ เทียนดำ
  • ฤทธิ์ที่มีผลทำให้หัวใจที่เต้นผิดปกติ มีการเต้นได้ปกติ ได้แก่ เกสรบัวหลวง โกฐสอ ผักชีล้อมหรือทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ได้แก่ แห้วหมู
  • เครื่องยาที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร
  • ฤทธิ์ลดการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ ได้แก่ กระเทียม ช้าพลู ลูกผักชี อบเชยเทศ โกฐเชียง โกฐกระดูก โกฐหัวบัว กานพลู เทียนแดง ขิง ลูกจันทน์
  • ฤทธิ์ลดการหลั่งน้ำย่อย และกรด ได้แก่ โกฐกระดูก ชะเอมเทศ และ ลูกจันทน์
  • ฤทธิ์เพิ่มการหลั่งเมือกในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ชะเอมเทศ เปราะหอม
  • ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ โกฐกระดูก ชะเอมเทศ เปราะหอม ดีปลี ฝาง อบเชยเทศ โกฐจุฬาลัมพา โกฐเชียง ขอนดอก เทียนข้าวเปลือก เทียนดำ เทียนตาตั๊กแตน เทียนสัตตบุศย์
  • ฤทธิ์ต้านการอาเจียน ได้แก่ แห้วหมู กานพลู ขิง

เครื่องยาที่มีฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง 

  • ฤทธิ์เสริมระยะเวลาหลับของยา pentobarbitone ยาวนานขึ้น ได้แก่ ดอกบุนนาค
  • ฤทธิ์คลายความกังวล ทำให้สงบ ได้แก่ ลูกผักชี โกฐเชียง จันทน์เทศ กานพลู โกฐสอ หญ้าฝรั่น ลูกจันทน์ พิกุล
  • ฤทธิ์ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองดีขึ้น ได้แก่ หญ้าฝรั่น

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของสารสกัดตำรับยาหอม

  1. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด 
     
สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์เพิ่มความดันช่วงหัวใจบีบ (systolic) ได้มากและนานกว่าตำรับยาหอมอินทจักร์ สารสกัดทั้งสองตำรับมีผลต่อความดันช่วงหัวใจคลาย (diastolic) ได้ใกล้เคียงกัน และมีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจเล็กน้อยในช่วงเวลา 45-90 นาที สารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองมีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองหนู โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กของสมอง จึงมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ช่วยแก้อาการวิงเวียนศรีษะ และภาวะเป็นลมหมดสติ
  1. การศึกษาฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตของสารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐ และอินทจักร์ ในขนาด 1, 2, 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม เปรียบเทียบกับสาร phenylephrine 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (สารมาตรฐานที่มีผลเพิ่มความดันโลหิต), 5% tween 20 และ สารช่วยระเหยแห้ง (เฉพาะตำรับยาหอมอินทจักร์ ในขนาดที่เป็นส่วนประกอบของการเตรียมสารสกัด 4 กรัมผงยา/กิโลกรัม) ต่อความดันช่วงหัวใจบีบ และความดันช่วงหัวใจคลาย และอัตราการเต้นหัวใจในหนูขาวที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ยาสลบ ก่อนและทุก 15 นาทีหลังป้อน เป็นเวลา 90 นาที ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับมีผลเพิ่มความดันเลือด โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีผลเพิ่มความดัน ช่วงหัวใจบีบได้มากและนานกว่าตำรับยาหอมอินทจักร์ สารสกัดทั้งสองตำรับมีผลต่อความดันช่วงหัวใจคลายได้ใกล้เคียงกัน และมีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจเล็กน้อยในช่วงเวลา 45-90 นาที 
    การศึกษาอัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง เป็นการทดสอบผลของสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับ ในขนาด 2, 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม เปรียบเทียบกับตัวทำละลาย 5% tween 20 ต่ออัตราการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดที่ผิวสมองในหนูขาว ภายใต้ยาสลบ ที่เวลา 5, 15, 30, 45, 60, 90 และ 120 นาที และศึกษาผลการหดและคลายตัวของหลอดเลือดผิวที่สมอง หลังจากหยดสารที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว (norepinephrine) ของสารสกัดขนาด 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับมีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองหนูขาว ทั้งในขนาด 2, 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม โดยขนาด 4 กรัมผงสารสกัด/กิโลกรัม จะให้ผลการเปลี่ยนแปลงที่สูงกว่า และพบว่าสารสกัดทั้งสองตำรับมีผลเพิ่มความดันเลือดแดงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การเพิ่มขึ้นของความดันเลือดไม่เกิน 15% และพบว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองและความดันเลือดแดงไม่มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ สารสกัดยาหอมนวโกฐ จะมีความดันเลือดเริ่มเพิ่มขึ้นที่ 5 นาที และเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 45 นาที ส่วนสารสกัดยาหอมอินทจักร์จะเริ่มที่ 15 นาที เพิ่มสูงสุดที่ 90 นาที ในขณะที่อัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองจะเริ่มเพิ่มขึ้นที่ 5 นาที และเพิ่มสูงสุดที่ 30 นาที หลังจากได้รับยาหอมทั้งสองตำรับ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองหลังได้รับยาหอมมิได้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของความดันเลือดแดง แต่เกิดจากผลโดยตรงต่อขนาดหลอดเลือดแดงเล็กที่ผิวสมอง ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยสารสกัดยาหอมนวโกฐจะเพิ่มขนาดได้ 50% ผลการศึกษานี้สรุปได้ว่ายาหอมสามารถเพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองโดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กของสมอง ซึ่งเป็นฤทธิ์เด่นในการนำยาหอมไปใช้ในภาวะของคนใกล้เป็นลมหมดสติ ซึ่งเกิดจากภาวะที่สมองมีเลือดไปเลี้ยงลดลงชั่วขณะ
  2. ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร 
     
สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐ มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรด และมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดเกร็งของลำไส้ได้
  1. การศึกษาฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของสารสกัดตำรับยาหอมทั้งสอง ในขนาด 1.25-10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตรของสารสกัด เปรียบเทียบ ตัวทำละลาย 5% tween 20 และสารช่วยระเหยแห้ง โดยศึกษาผลต่อการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารหนูถีบจักรที่แยกจากตัว โดยกระตุ้นให้กรดหลั่งด้วยฮีสตามีน ขนาด 5 ไมโครโมล ทำการเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์หาปริมาณกรดโดยการไตเตรทกับ 0.002 N NaOH จนถึงจุดสิ้นสุดที่ pH 5.0 เก็บตัวอย่างทุก 10 นาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐขนาด 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรด ส่วนสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ไม่สามารถประเมินผลได้เนื่องจากการรบกวนผลของสารช่วยระเหยแห้ง 
    การศึกษาฤทธิ์ต่อการหดตัวของลำไส้เล็กของหนูตะเภา โดยทดสอบฤทธิ์ของสารละลายสารสกัดตำรับยาหอม ขนาด 0.02, 0.04, 0.06, 0.08 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตัวทำละลาย (5% Tween 20), สารช่วยระเหยแห้ง โดยเปรียบเทียบกับสาร atropine ขนาด 4 นาโนโมล ให้สารสกัดที่ต้องการทดสอบ 5 นาที ก่อนการกระตุ้นด้วย acetylcholine ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก (19.77%) ได้มากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ (11.77%)
  2. ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง
สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์
  1. สารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐและอินทจักร์มีฤทธิ์ทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น ซึ่งสารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐขนาด 100, 300, 1,000 และ 3,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยมีฤทธิ์กดการเคลื่อนไหวของสัตว์ทดลอง ในการทดสอบโดยวิธี Locomoter activity test ส่วนสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว แสดงว่าสารสกัดตำรับยาหอมนวโกฐมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางมากกว่าสารสกัดตำรับยาหอมอินทจักร์
  2. การศึกษาความเป็นพิษ 
    การศึกษาความเป็นพิษเบื้องต้นของสารสกัดตำรับยาหอม ต่อหนูถีบจักรและหนูขาวทั้งสองเพศ และทดสอบผลต่อค่าเคมีของเลือดและเนื้อเยื่อ โดยป้อนสารสกัดขนาด 1, 2.5 และ 5 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว สังเกตพฤติกรรมของสัตว์ทดลองตลอด 7 วัน เก็บเลือด และอวัยวะภายในเพื่อตรวจพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อ ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดตำรับยาหอมทั้งสองตำรับไม่มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต และค่าเคมีของเลือด การทำงานของระบบตับและไต แต่พบว่าสารสกัดยาหอมมีแนวโน้มที่จะมีพิษต่อตับและไตในหนูขาวเพศเมีย เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาขั้นเบื้องต้น ฉะนั้นจะต้องทำการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม

สรุป จะเห็นได้ว่า ยาหอม มรดกทางภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่มีการใช้กันอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบัน ได้มีงานวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์สรรพคุณตามภูมิปัญญา ซึ่งพบว่า ยาหอมมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง ที่สามารถใช้บำบัดอาการเป็นลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ท้องอืด แก้ลมจุกเสียด และงานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่พิสูจน์ผลของยาหอมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อมูลนี้สามารถที่จะนำไปศึกษาต่อยอดในคนต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้ยาหอม และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาของประเทศชาติสืบต่อไป  
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ นงลักษณ์ เรืองวิเศษ บังอร เกียรติธนากร. การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาแผนโบราณและสมุนไพรไทย. เอกสารประกอบการประชุมการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม จัดโดย ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 28-29 กันยายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร. หน้า 102-106.
  2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ สีหณัฐ ธนาภรณ์ นงลักษณ์ เรืองวิเศษ บังอร เกียรติธนากร. การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาแก้ไข้. เอกสารประกอบการประชุมการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม จัดโดย ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 28-29 กันยายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร. หน้า 306-13.
  3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 2556 ประกาศ ณ วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556. คัดจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 130 ตอนพิเศษ 21 ง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.
  4. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 85 ง วันที่ 25 พฤษภาคม 2555.
  5. มยุรี ตันติสิระ บุญยงค์ ตันติสิระ เพ็ญพิมล ผลทรัพย์ จิตติมา ศรีสมบูรณ์. โครงการการศึกษาฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางของสมุนไพร. เอกสารประกอบการประชุมการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม จัดโดย ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 28-29 กันยายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร. หน้า 87-91.
  6. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. จะเลือกใช้ยาหอม อย่างไรจึงจะดี. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สุวรรณ ธีระวรพันธ์ วิสุดา สุวิทยาวัฒน์. การศึกษาฤทธิ์ของยาหอมต่อการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหาร และความเป็นพิษ. เอกสารประกอบการประชุมการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม จัดโดย ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 28-29 กันยายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร. หน้า 107-111.
  8. อัมพร จาริยะพงศ์สกุล สุทธิลักษณ์ ปทุมราช. การศึกษาผลของยาหอมและสารสกัดสมุนไพรต่ออัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง. เอกสารประกอบการประชุมการเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรเพื่ออุตสาหกรรม จัดโดย ภารกิจโครงการและประสานงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วันที่ 28-29 กันยายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร. หน้า 112-116.
  9. Blumenkrantz N, Asboe-Hansen G. New method for quantitative determination of uronic acid. Anal Biochem 1973;54:484-9.
  10. Department of Medical Sciences. Thai Herbal Pharmacopoeia. Vol. 1. Bangkok: Prachachon Co., 1995.
  11. Dubois M, Gilles KA, Hamilton JK, Rebers PA, Smith F. Colorimetric method for determination of sugars and related substances. Anal Chem 1956;28:350-6.
  12. Farnsworth NR. Biological and phytochemical screening of plants. J Pharm Sci 1966;55(3):225-65.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


11 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้