เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กลิ่นตัว วิธีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.womenshealthmag.com/sites/wom...kout_0.jpg
อ่านแล้ว 35,927 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/09/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


หน้าร้อนมาถึงเร็วมากในปีนี้ ร้อนมากกว่าทุกปีด้วย เหงื่อก็ต้องออกมากเพราะอากาศร้อนและชื้นมาก การหมักหมมของเหงื่อในที่อับชื้นในส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็ว ก่อให้เกิดกลิ่นตัวที่เหม็นบูดหรือกลิ่นเปรี้ยวและฉุน เป็นที่รังเกียจของสังคม แต่มักจะไม่มีคนรอบตัวกล้าเอ่ยปากบอกกล่าว 
กลิ่นตัวเกิดได้จากอีกหลายๆ สาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากกลิ่นของเหงื่อไคลที่สะสมและรวมตัวกับเชื้อแบคทีเรียใต้วงแขนที่อุ่นและชื้น ทำให้กลายเป็นกลิ่นเหม็นเปรี้ยว สิ่งแรกที่ควรจัดการเมื่อรู้ตัวว่ามีปัญหาคือ อาบน้ำฟอกตัวด้วยสบู่ให้มากๆ ในอากาศร้อนชื้นเช่นนี้ การอาบน้ำเพียงไม่กี่ขัน อาจไม่เพียงพอที่จะชำระร่างกายให้สะอาดอย่างจริงจัง และควรผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน และผลัดเปลี่ยนผ้าปูที่นอนอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดกลิ่นเหงื่อไคลที่ติดค้างอยู่บนเครื่องที่นอน 
วิธีกำจัดกลิ่นตัว อาจช่วยตัวเองได้ง่ายๆโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ดีโอโดแล้น (Deodorant) หรือ ยาระงับเหงื่อ (Antiperspirant) นักวิชาการบางท่านแนะนะให้กำจัดขนใต้วงแขนด้วย เนื่องจากเส้นขนเหล่านี้จะเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย หรืออาจจะใช้สำลีชุบอัลกอฮอลเช็ดทำความสะอาดเส้นขนใต้วงแขนเพื่อกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อนที่จะทายาระงับกลิ่นหรือระงับเหงื่อ วิธีนี้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ทำงานได้ผลดีขึ้น 
ความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นหรือดีโอโดแล้น และผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ 
ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ มีองค์ประกอบในสูตรตำรับคือน้ำหอมและสารเคมีที่ทำหน้าที่อุดรูของต่อมเหงื่อเพื่อระงับไม่ให้ต่อมเหงื่อออกมาจากรูขุมขน หลักการก็คือเมื่อไม่มีเหงื่อ ใต้วงแขนจะแห้ง กลิ่นก็ไม่เกิด ตัวอย่างสารเคมีที่นิยมใช้เช่น เกลือของโลหะหนักอลูมิเนียมชนิดต่างๆ โลหะหนักชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการจับกับเกลือแร่ของน้ำเหงื่อกลายเป็นสารประกอบเชิงซ้อนคล้ายเจล กึ่งแข็งกึ่งเหลว และไปอุดตันรูขุมขนของต่อมเหงื่อ การอุดตันของรูขุมขน เมื่อสะสมมากๆเข้า จะถูกร่างกายกำจัดออกทางผิวหนังโดยขบวนการผลัดเซลผิวหนัง อย่างไรก็ตามการไปบล็อกไม่ให้ต่อมเหงื่อทำงานปกติ นักวิชาการเองไม่ค่อยแนะนำ เพราะค่อนข้างผิดธรรมชาติ นอกจากนั้นยังเคยมีรายงานการวิจัยว่าการสะสมของสารโลหะหนักอลูมิเนียม อาจแทรกซึมเข้าระบบไหลเวียนของเลือด เนื่องจากต่อมเหงื่อและต่อมไขมันใต้วงแขนอยู่ใกล้กับเต้านม ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคต่างๆตามมา ดังนั้นวิธีการกำจัดกลิ่นตัวด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ น่าจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้ดีกว่า 
ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นหรือดีโอโดแล้น จะทำหน้าที่หลักคือช่วยลดกลิ่นของร่างกายที่เกิดจากแบคทีเรีย องค์ประกอบหลักในสูตรตำรับของผลิตภัณฑ์คือ น้ำหอม และยากำจัดเชื้อแบคทีเรียโดยมีอัลกอฮอลเป็นตัวทำละลาย สินค้าที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักดีคือ ‘มัม’ แอลกอฮอลจะทำหน้าที่เสริมฤทธิ์ในการทำลายเชื้อแบคทีเรียด้วย กรณีการใช้ผลิตภัณฑ์ดีโอโดแล้น เหงื่อจะยังคงออกได้ตามธรรมชาติซึ่งแตกต่างจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาระงับเหงื่อ 
สินค้าในตลาด บางชนิดได้นำหลักการของทั้งผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อและผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นมารวมเข้าด้วยกันเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน ตัวอย่างเช่น โรลออนทั้งหลายที่ขายกันอยู่ในห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้เราอาจเคยได้ยินสินค้าเก่าแก่ที่คนในยุคปู่ย่าตายายนิยมใช้กัน คือสารส้ม ที่ใช้สำหรับตกตะกอนน้ำให้ใส สารส้มมีชื่อทางเคมีคือ อลูมิเนียมอลัม (Aluminium alum) ในตลาดเมืองไทยจะหาได้ยาก แต่เป็นที่นิยมใช้กันมากในต่างประเทศเพราะราคาถูกและมีความระคายเคืองน้อย สารส้มหรืออลูมิเนียมอลัม มีลักษณะเป็นผลึกคริสตัลใส ละลายน้ำได้ดีมาก ในอุตสาหกรรม จะนำผลึกสารส้มมาเจียระไนด้วยมือเป็นก้อนในรูปแบบต่างๆให้สวยงาม ห่อด้วยกระดาษและบรรจุกล่อง ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากที่สุด ขายดีเกือบจะเป็นอันดับหนึ่งของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นตัวและระงับเหงื่อในต่างประเทศ แต่กลับหายากมากในประเทศไทย 
ข้อควรรู้สำหรับอันตรายอันอาจเกิดจากสารอลูมิเนียมในผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ 
มีรายงานการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าโลหะอลูมิเนียม ที่สะสมเข้าร่างกายจากยาระงับเหงื่อ มีผลต่อเนื้อเยื่อสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบสารเหล่านี้ในสมองคนไข้อัลไซเมอร์ (Alzheimer) และยังกระจายไปในกระแสเลือดและทางเดินของสายรกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาการสะสมของโลหะอลูมิเนียมจากการใช้ยาระงับเหงื่อ อาจมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมอีกด้วย 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. A novel treatment for open burn management protocols. J dermatology Treat. 2009; 20(4): 2019-22.
  2. PubMed: Helix and Drugs; snails for western health care from antiquity to the present 2005.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Deodorant


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อันตรายจากการสัก 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้