เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


มหาหิงคุ์...ยาเก่าเอามาเล่าใหม่


ภญ.ดร.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 57,771 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 11/01/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เมื่อพูดถึงมหาหิงคุ์ หลายคนคงเคยได้ยินหรือเคยใช้ในเด็ก แก้อาการท้องอืด/ปวดท้องกันมาบ้างแล้ว แต่มีแม่ๆ หลายคนถามเข้ามาว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในบ้านว่า ถ้าทาแล้วไม่หายก็ให้หยดใส่น้ำให้กินไปเลย ควรจะทำอย่างไรดีเพราะรู้สึกไม่แน่ใจว่ามหาหิงคุ์นั้นกินได้จริงหรือไม่ ไม่กล้าเอามาให้ลูกกิน และอยากรู้จักมหาหิงคุ์ให้มากกว่านี้ 
วันนี้เราเลยจะนำความรู้และข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับมหาหิงคุ์ (เท่าที่จะหาได้) มาให้ทุกคนรู้จัก เพื่อจะได้นำความรู้นี้ส่งต่อให้ผู้อื่นได้ถูกต้องและใช้มหาหิงคุ์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยมากที่สุด 
เรามาทำความรู้จักกับมหาหิงคุ์กันก่อน 
มหาหิงคุ์ เป็นยางที่ได้จากต้นไม้ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ferula assafoetida L. อยู่ในวงศ์ Umbelliferae (หรือเดิมคือ Apiaceae) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับผักชี ผักชีลาว พืชชนิดนี้ถูกค้นพบมานานมากแล้ว มีต้นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียกลาง ตั้งแต่แถบประเทศอิหร่านทางตะวันออกไปจนถึงอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมหาหิงคุ์จะมีปลูกอยู่ในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถานเท่านั้น และถูกส่งออกไปขายทั่วโลก บางท่านอาจเข้าใจผิดว่ามหาหิงคุ์นั้นปลูกในประเทศอินเดีย และส่งออกจากอินเดีย แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิด เพราะพืชชนิดนี้แม้ว่าจะถูกนำมาเป็นยาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอินเดีย แต่ไม่ใช่พืชจากประเทศอินเดียค่ะ 
ส่วนที่นิยมนำมาใช้เป็นยาหรืออาหารคือส่วนของลำต้นใต้ดินหรือบางคนอาจเรียกว่า หัวหรือราก (ใต้ดิน) ซึ่งในส่วนนี้จะมีน้ำยางที่เราเรียกว่าโอลิโอ กัม เรซิ่น (oleo gum resin) หมายถึง มีน้ำมันหอมระเหย ยางชันและส่วนของกัมรวมๆกัน (กัมมีโครงสร้างเป็นน้ำตาลเกาะกันยาวๆคล้ายแป้ง แต่ร่างกายคนย่อยไม่ได้) น้ำยางนี้มีลักษณะ เป็นก้อนแข็งๆสีน้ำตาลอมเหลืองและมีกลิ่นฉุน การเก็บยางเอามาใช้ ทำได้เมื่อต้นมหาหิงคุ์อายุประมาณ 4-5 ปี และ ส่วนลำต้นใต้ดิน มีขนาดเส้นรอบวงประมาณ 12.5 - 15 ซม ต้นนี้ก็จะถูกตัดที่โคนและนำมาวางทิ้งไว้ ให้น้ำยางที่มีลักษณะคล้ายน้ำนมไหลออกมา บางครั้งจะถูกหั่นเป็นชิ้นๆ เพื่อให้น้ำยางไหลออกมาจนหมด เมื่อยางแห้งลงจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง และจะถูกเก็บรวบรวมให้เป็นก้อน คนส่วนใหญ่จะเคยเห็นมหาหิงคุ์ในลักษณะที่เป็นก้อนแข็ง หรือเป็นยาแล้ว จึงเข้าใจผิดว่ามหาหิงคุ์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันได้จากพืชนะคะ ไม่ใช่แร่ธาตุอย่างที่หลายคนเข้าใจ 
ในสมัยโรมัน มหาหิงคุ์ถูกนำไปใช้สำหรับปรุงแต่งรสชาติอาหารควบคู่ไปกับเมล็ดสน (Pine nuts) หรือไม่เช่นนั้นก็จะถูกนำไปแช่ในน้ำมันร้อนๆ พอละลายดีแล้วก็จะหยดลงไปในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารนิยมใช้กับอาหารจำพวกเห็ดจานโปรด ผักต่างๆ หรือ พวกเนื้อทอด เนื้อย่างบาร์บีคิว ในหลายๆประเทศยังใช้มหาหิงคุ์เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง ในการทำลูกชิ้น (meat ball) และผักดอง (pickles) ต้นมหาหิงคุ์นี้ยังสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้อีกด้วย 
มหาหิงคุ์ถูกนำมาใช้เป็นยาช่วยย่อย (digestive aid) มานานมากแล้ว ในบางประเทศหมอพื้นบ้านยังนิยมนำมหาหิงคุ์มาทำเป็นยาแก้พิษ ถอนพิษ (antidote) ของฝิ่น (opium) ได้ด้วย โดยจะใช้มหาหิงคุ์ในประมาณที่เท่ากับปริมาณฝิ่นที่เสพเข้าไป กินเข้าไปเพื่อล้างพิษกัน 
งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมหาหิงคุ์และการทดลองทางคลินิก 
มหาหิงคุ์มีผลต่อทางเดินอาหาร โดยช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง (antispasmodic), ขับลม (carminative), ช่วยย่อย (digestive), ระบาย (laxative) และมีฤทธิ์ถ่ายพยาธิบางชนิด (anthelmintic) 
ส่วนประโยชน์อื่นๆ ของมหาหิงคุ์ ก็ได้แก่ ขับเสมหะ (expectorant), ช่วยกล่อมประสาท ทำให้นอนหลับดี (sedative), แก้ปวดอย่างอ่อน (analgesic), และฆ่าเชื้อเฉพาะที่ (antiseptic) 
ยังมีงานวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ของมหาหิงคุ์อีกมากมาย ที่ตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาหิงคุ์มาช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง การใช้มหาหิงคุ์ในการรักษาภาวะต่างๆ ของสตรี และการใช้คุมกำเนิดในสตรี หรือใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดและหลอดเลือด และคนบางกลุ่มยังมีการใช้มหาหิงคุ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอีกด้วย 
อย่างไรก็ดี ไม่พบการใช้มหาหิงคุ์ ในแง่มุมอื่น นอกจากการใช้ขับลม โดยในยาแผนปัจจุบัน มีเฉพาะการใช้มหาหิงคุ์ทิงเจอร์ ทาท้องเด็ก บรรเทาอาหารท้องขึ้น ท้องเฟ้อเท่านั้น ฤทธิ์อื่นๆไม่พบมีการใช้จริง อาจเนื่องจากรายงานวิจัยที่มียังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างชัดเจน 
มหาหิงคุ์ใช้กินได้หรือไม่ 
คำถามสำหรับแม่ที่ลูกยังเล็กมักถามว่า ที่ผู้ใหญ่บอกให้เอาทิงเจอร์มหาหิงคุ์หยดใส่น้ำ หรือ บางคนให้หยดใส้ผ้าผูกไว้ที่ข้อมือ ซึ่งบางครั้ง เด็กก็อาจกินเข้าไปด้วย ใช้ได้จริงหรือ อันตรายมั๊ย 
ถึงแม้ว่า ไม่พบการใช้กินในยาแผนปัจจุบัน แต่ที่จริงในยาตำรับของไทย (สำหรับเด็กเล็ก) ที่บรรจุในยาสามัญประจำบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่น ยาประสะกะเพรา ก็มีมหาหิงคุ์ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามขนาดรับประทาน ครั้งละ 100-200 มิลลิกรัม จะได้รับมหาหิงคุ์ ประมาณ 8.7-17 มิลลิกรัม ซึ่งนับว่ามากกว่าการหยดทิงเจอร์มหาหิงคุ์ในน้ำ 1-2 หยด แต่อย่างไรก็ดี ก็ไม่แนะนำให้ใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์โดยวิธีหยดในน้ำ เนื่องจากในทิงเจอร์มหาหิงคุ์นั้นมีแอลกอฮอล์มาก อาจทำให้เด็กได้รับแอลกอฮอล์โดยไม่จำเป็น สำหรับการผูกข้อมือหรือทาท้อง ก็ควรทำในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก เพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยออกไป เจือจางในบรรยากาศ โดยเด็กไม่ได้สูดดม 
คำแนะนำในการใช้มหาหิงคุ์ในเด็ก

  • มหาหิงคุ์ที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะทิงเจอร์มหาหิงคุ์) ไม่ควรให้เด็กรับประทาน เพราะแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะมีผลเสียต่อเด็ก
  • ถ้าเป็นยาทาควรทาเฉพาะที่ ในสถานที่อากาศโปร่ง ถ่ายเทสะดวก หรือที่หลายๆ คนได้ลองทำแล้วก็คือ หลังจากทายาที่ท้องแล้ว ใช้ผ้าอ้อมห่อบริเวณท้องเด็ก ก็อาจช่วยให้ท้องอุ่น ช่วยเสริมการออกฤทธิ์ของยาได้ดีขึ้น
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตาหรือสัมผัสกับเนื้อเยื่ออื่น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแผลหรือรอยถลอก
  • ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเก็บรวมกับยารับประทานตัวอื่นๆ
  • ควรสำรวจวันหมดอายุของยา เนื่องจากการเก็บยาไว้นานๆ จะทำให้ตัวยาออกฤทธิ์สลายตัวและให้ผลได้ไม่เต็มที่
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บัญชียาสามัญประจำบ้าน ฉบับ ปี พ.ศ. 2556
  2. บัญชียาจากสมุนไพร ใน ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่ง ชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555
  3. www.theplantlist.org
  4. Eigner D, Scholz D. Ferula assa-foetida and Curcuma longa in traditional medical treatment and diet in Nepal. J Ethnopharmacol. 1999; 67: 1–6.
  5. Mahendra P and Bisht S. Ferula asafoetida: Traditional uses and pharmacological activity. Pharmacogno Rev.2012; 6(12): 141-146
  6. Buddrus J, Bauer H, Abu-Mustafa E, Khattab A, Mishaal S, El- Khrisy EA, et al. Foetidin, a sesquiterpenoid coumarin from Ferula assa-foetida. Phytochemistry. 1985; 24:869–70.
  7. Gimlette JD. A dictionary of Malayan medicine. New York, USA: Oxford University Press; 1939.
  8. Bhattarai NK. Folk Anthelmintic drugs of central Nepal. Int J Pharmacol. 1992;30:145–50.
  9. Mallikarjuna GU, Dhanalakshmi S, Raisuddin S, Rao AR. Chemomodulatory influence of Ferula asafoetida on mammary epithelial differentiation, hepatic drug metabolizing enzymes, antioxidant profiles and N-methyl-N-nitrosourea-induced mammary carcinogenesis in rats. Breast Cancer Res Treat. 2003;81:1–10.
  10. Keshr G, Lakshmi V, Singh MM, Kamboj VP. Post-coital antifertility activity of Ferula asafoetida extract in female rats. Pharmac Biol. 1999;37:273–8.
  11. Soudamini KK, Unnikrishnan MC, Sukumaran K, Kuttan R. Mutagenicity and anti-mutagenicity of selected spices. Indian J Physiol Pharmacol. 1995;39:347–53.
  12. Sarkisyan RG. Effect of Ferula on arterial pressure. Meditsinskii Zhurnal Uzbekistana. 1969;1969:23–4.
  13. Mansurov MM. Effect of Ferula asafoetida on the blood coagulability. Meditsinskii Zhurnal Uz bekistana. 1967;1967(6):46–9.
  14. Ramadan NI, Al Khadrawy FM. The in vitro effect of Assafoetida on Trichomonas vaginalis. J Egypt Soc Parasitol. 2003;33:615–30.
  15. Rahlfs VW, Mossinger P. Asafoetida in the treatment of the irritable colon. A double blind study. Dtsch Med Wochenschr. 1979;104:140–3.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้