เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1 ?


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 38,439 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 01/09/2557
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

เขาว่ากันว่า แคลเซียม ไม่มีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุน แต่ก่อนจะสรุปเช่นนั้น ขอให้ติดตามอ่านรายละเอียดต่อไปนี้ก่อน 
กระดูกประกอบด้วยอะไรบ้าง 
กระดูกประกอบด้วย โปรตีนหนึ่งในสามส่วน อีกสองในสามส่วนเป็นเกลือแร่ โปรตีนที่เป็นเนื้อกระดูกนี้ส่วนใหญ่เป็นคอลลาเจน ส่วนเกลือแร่ที่อยู่ในกระดูกคือแคลเซียม กระดูกก็เหมือนกับเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกายที่ต้องมีการผลัดผิวเอาเซลล์เก่าออกแล้วเติมเซลล์ใหม่ ซึ่งการผลัดผิวเกิดจากการทำงานร่วมกันของเซลล์สลายกระดูกและเซลล์สร้างกระดูก โดยเซลล์สลายกระดูกจะกินเนื้อกระดูกเป็นหลุมลงไป ต่อจากนั้นเซลล์สร้างกระดูกจะสร้างเนื้อกระดูกเติมลงไปในหลุมจนเต็มเป็นการปะหลุมนั้น ทำให้ได้กระดูกที่มีผิวสวยงามตามเดิม ทั้งนี้การทำงานของเซลล์สลายกระดูกและเซลล์สร้างกระดูกจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนและสารภายในร่างกายหลายชนิดที่เกี่ยวกับการอักเสบ 
การเติบโตของกระดูกจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์จนได้ความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุดที่อายุ 20 ปีในผู้หญิง และ 25 ปีในผู้ชาย หลังจากนี้มวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงอย่างช้าๆ พบว่าที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมวลกระดูกจะมีความหนาแน่นลดลงร้อยละ 0.5-1 ต่อปี แต่สำหรับผู้หญิงในช่วง 10 ปีแรกหลังหมดระดู ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงเร็วมาก คือร้อยละ 3-5 ต่อปี เมื่อพ้น 10 ปีไปแล้วความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงช้าลง คือลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปี1 
โรคกระดูกพรุนมีอาการอย่างไร 
โรคกระดูกพรุน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า osteoporosis (อ่านว่า ออส-ที-โอ-พอ-รอ-สิส) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของกระดูกที่เกิดเนื่องจากมีความไม่สมดุลในกระบวนการผลัดผิวกระดูก โดยเซลล์สลายกระดูกทำงานมากกว่าเซลล์สร้างกระดูก ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง เนื้อกระดูกบางลง มีความแข็งแรงน้อยลง และมีความเปราะเพิ่มขึ้น โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในผู้สูงอายุ และเป็นภัยเงียบ เนื่องจากไม่มีอาการอะไร มีเพียงแต่เนื้อกระดูกบางลง มีความหนาแน่นน้อยลง ทั้งนี้ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ก็เมื่อเกิดกระดูกหัก ซึ่งมักเกิดตามหลังอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ตกบันได ตกจากเก้าอี้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีการไออย่างรุนแรงก็อาจทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ 
ตำแหน่งของกระดูกที่มีการหักที่พบส่วนใหญ่จะเป็นที่กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง อธิบายได้ว่า เมื่อหกล้ม คนเราก็จะเอามือยันพื้นไว้เพื่อประคองตัวเอง แต่ด้วยความที่เนื้อกระดูกบางลง กระดูกข้อมือจึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่เหมือนตอนหนุ่มสาว กระดูกข้อมือจึงหัก เมื่อกระดูกข้อมือหักก็ใช้มือข้างนั้นหยิบจับอะไรไม่ได้ในระหว่างที่ต้องเข้าเฝือก หากมีก้นกระแทกพื้นเช่นในกรณีตกบันไดหรือตกจากเก้าอี้ ก็จะมีกระดูกสะโพกหัก ทำให้เดินไม่ได้ในระหว่างการรักษา บางรายอาจต้องเปลี่ยนข้อใส่ข้อเทียม ทำให้ต้องนอนติดเตียง ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับหรือโรคอื่นๆ ตามมาได้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ 
ผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมากถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสร้อยละ 13 โดย ผู้หญิงช่วงอายุ 10 ปีแรกหลังหมดระดู กระดูกจะบางลงเร็วมาก อธิบายได้ว่าเกิดจากการที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่าเอสโตรเจน นอกจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว ยังเกิดจากความเสื่อมตามวัยซึ่งพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง 
โรคกระดูกพรุนยังอาจเกิดตามมาจากการเป็นโรคอื่น เช่น โรคไต โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็ง ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง และภาวะกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูง) หรือเกิดจากการใช้ยา ได้แก่ ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ยารักษามะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยากันชัก 
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว 
ด้วยเหตุที่โรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดกระดูกหัก จึงควรทราบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 ประเภท คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ และ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ (ตารางที่ 1) ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และจะมีโอกาสสูงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน 
 
นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าไปทำแบบทดสอบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน ที่สร้างโดยมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย โดยเข้าไปที่ http://www.topf.or.th/topf_cpg.php หากผลของการทำแบบทดสอบแสดงว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ผู้ทำแบบทดสอบนั้นควรรีบไปขอรับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน1 
แพทย์จะวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ด้วยเครื่อง Dual energy X-ray Absorptiometry (Axial DXA) และนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ BMD สูงสุดในคนหนุ่มสาว โดยการดูค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานตาม T-score (รูปที่ 1)

  • ถ้าได้ T-score > -1 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า มีความหนาแน่นของมวลกระดูกในระดับปกติ
  • ถ้าได้ T-score < -1 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แต่ > -2.5 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า มีกระดูกบาง
  • ถ้าได้ T-score < -2.5 ของค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แปลว่า กระดูกพรุน และมีความเสี่ยงต่อกระดูกหัก


 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย
  2. กอบจิตต์ ลิมปพยอม. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย. โรคกระดูกพรุนคืออะไร Available at: http://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=20. Accessed date: 9 Aug 2014.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้