Eng |
รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล บทความ อำพล บุญเปล่ง ตรวจสอบเครื่องยา และ อุบลวรรณ บุญเปล่ง ถ่ายภาพ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เบญจอำมฤต มีชื่อเรียกอื่นๆได้แก่ เบญจอำมพฤกษ์ หรือ บุญจอำมฤตย์ เป็นตำรับยาที่มาจากคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบบันทึกรายละเอียดส่วนประกอบ วิธีการเตรียมยา และขนาดที่ใช้ในคัมภีร์ประถมจินดา (บันทึกโรคและการรักษาสำหรับเด็ก) และ คัมภีร์ธาตุบรรจบ (บันทึกอาการและโรค เกี่ยวกับอุจจาระธาตุ) โดยมีส่วนประกอบหลักเหมือนกัน แต่ในคัมภีร์ธาตุบรรจบมีตัวยาเพิ่มขึ้นอีก ๓ ชนิด (ดังรายละเอียดคัดจากคัมภีร์ดูด้านท้ายบทความ)
ที่มาของชื่อ เบญจอำมฤต ซึ่งมีความหมายว่า เป็นเครื่องยาทิพย์ ๕ อย่างในตำรับ คือ มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง รากตองแตก และ ดีเกลือ เป็นตัวยาหลัก โดยมีส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ลูกมะกรูด ซึ่งไม่นับใน ๕ อย่างนี้ เพราะผลมะกรูดเป็นเพียงตัวช่วยในการเตรียมยาเท่านั้น แต่เป็นตัวช่วยสำคัญที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือปรับวิธีการเตรียม เนื่องจากมีผลต่อการออกฤทธิ์
สำหรับตำรับเบญจอำมฤตที่นำมาใช้กันทั่วไปในขณะนี้นั้น เป็นตำรับจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ ซึ่งเติม พริกไทย ขิง ดีปลี ซึ่งจะเรียกยาทั้ง ๓ ชนิดนี้รวมกันว่าพิกัดตรีกฏุก และมีวัตถุประสงค์ที่ใส่เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการปรับสมดุลย์และคุมการทำงานของธาตุลม ที่อาจเปลี่ยนแปลง เช่น เกิดอาการท้องอืด หลังจากถ่าย เป็นต้น
ยาตำรับนี้มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง จากฤทธิ์ของ ดีเกลือ ตองแตก รงทอง และ ยาดำ ส่วนมหาหิงคุ์ พริกไทย ขิง ดีปลี เป็นตัวยาช่วย ที่ลดอาการท้องอืด ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักเกิดตามมาหลังจากถ่ายท้อง
ดีเกลือ เดิมใช้ดีเกลือไทย (โซเดียมซัลเฟต) ซึ่งอาจมีปัญหา ทำให้บวมน้ำ และมีปัญหากับไต หัวใจ ปัจจุบันจึงให้ใช้เฉพาะดีเกลือฝรั่ง เป็นสารจำพวกแมกนีเซียมซัลเฟต หรือเรียกว่า เกลือยิปซั่ม(Epsom salt) ขนาดที่ใช้ ๑๐-๑๕ กรัมต่อครั้ง วันละครั้งเดียว เป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์เร็ว ภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยที่ต้องจำกัดเกลือแมกนีเซียม
ยาดำ เป็นสารสกัดที่ได้จากการเคี่ยวยางสีเหลืองจากใบว่านหางจระเข้ ปกติสารออกฤทธิ์กลุ่มแอน ทราควิโนนในยาดำนั้นไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เมื่อกินเข้าไปก็จะเคลื่อนที่ตามการบีบตัวตามปกติของทางเดินอาหาร เมื่อถึงลำไส้ตอนล่าง ร่างกายจะเปลี่ยนสารออกฤทธิ์ กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว จัดเป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์ช้า ใช้เวลาประมาณ ๖-๘ ชั่วโมง ตามปกติถ้าใช้ยาดำเพียงอย่างเดียว หรือใช้ร่วมพืชอื่นที่มีสารออกฤทธิ์กลุ่มเดียวกัน แนะนำรับประทานก่อนนอนเท่านั้น แต่การใช้ร่วมกับดีเกลือฝรั่งซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์เร็ว หากผสมแบบธรรมดา ยาดำเปลี่ยนแปลงเป็นสารออกฤทธิ์ไม่ทัน เพราะดีเกลือฝรั่งจะทำให้เกิดการถ่ายเสียก่อน ยาดำไม่มีฤทธิ์ แต่ในตำรับนี้ มีการนำยาดำใส่ในผลมะกรูด เอาขี้วัวพอก แล้วเผาไฟ จึงทำให้เป็นไปได้ว่า สารแอนทราควิโนนในยาดำ ทำปฏิกิริยากับกรดและความร้อน กลายเป็นสารออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงสามารถออกฤทธิ์ผสมผสานกับดีเกลือฝรั่งไปพร้อมกันได้ ไม่สูญเสียยาโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อเป็นดังนี้ อาจมีบางท่านถามว่า ถ้างั้นควรเตรียมยาดำแบบนี้ทุกครั้งจะทำให้ยาดำออกฤทธิ์เร็วขึ้นใช่หรือไม่ ไม่ต้องรอนาน คำตอบก็คือ ถ้าใช้ยาดำอย่างเดียว ไม่มีดีเกลือฝรั่งช่วยให้ยาเคลื่อนที่ไปยังลำไส้ตอนล่างอย่างรวดเร็ว ยาดำจะออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ตอนบน เกิดอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มากกว่า การทำให้ถ่าย การเตรียมยาดำแบบนี้จะใช้เมื่อใช้ยาดำผสมกับยาที่ออกฤทธิ์เร็วแบบดีเกลือฝรั่งเท่านั้น
รงทอง หมายถึงยางสีเหลืองที่ได้จากต้นรงทอง (Garcinia hanburyi) ยางนี้กรีดจากลำต้น ทิ้งให้แห้ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า gamboge ซึ่งประกอบด้วยเรซินและกัม(สารคล้ายแป้ง) ยางรงทองเป็นยาถ่ายที่มีฤทธิ์แรงจึงต้องมีกรรมวิธีการทำให้ฤทธิ์อ่อนลง เพื่อลดอาการปวดมวน และควรใช้ในขนาดน้อยๆ คือไม่เกินมื้อละ ๖๐ มิลลิกรัม อย่างไรก็ดี กรรมวิธีเตรียมรงทองในตำรับเบญจอำมฤตย์นี้ แตกต่างจากการเตรียมตามปกติ กล่าวคือ ให้ใส่ในผลมะกรูด เอาขี้วัวพอกแล้วสุมไฟจนสุก ซึ่งอาจมีผลต่อสารเคมีในยางรงทองแตกต่างควรศึกษาต่อไป และขณะที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ควรยึดการเตรียมตามภูมิปัญญาเพื่อให้ออกฤทธิ์อย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ มีการศึกษาจำนวนมาก รายงานว่า เรซิน และสารบริสุทธิ์แยกจากยางรงทอง เช่น กรดแกมโบจิก (gambogic) แกมโบเจนนิก (gambogenic) เป็นพิษต่อเซลล์ เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตาย เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม ปอด และ ตับ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๕๕ ได้รายงานว่า ยางรงทอง สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งลำไส้ส่วนปลาย เซลล์มะเร็งปากมดลูก และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยยางของรงทองสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ ได้ดีที่สุด แต่เมื่อนำมาสะตุโดยห่อด้วยใบตองหรือใบบัว แล้วปิ้งไฟ มีฤทธิ์อ่อนลงแต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ
รากตองแตก (Baliospermum solanifolium) เป็นยาถ่ายอย่างอ่อน มีบันทึกยาพื้นบ้านของอินเดียใช้รากตองแตกสำหรับรักษาอาการบวมน้ำ และดีซ่าน พร้อมทั้งประกอบในตำรับรักษาอาการท้องมาน (ascites) ซึ่งเป็นไปในทิศเดียวกับการแพทย์แผนไทย
จะเห็นได้ว่ายาเบญจอำมฤตตั้งตำรับเพื่อให้เป็นยาถ่ายอย่างแรง การนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับนั้น เป็นการใช้ตามคัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงอาการผิดปกติของตับ รวมเรียกว่า ตับพิการ โดยหลักการในการรักษา ต้องการให้มีการถ่าย เพื่อเอาของเสียออกก่อน แล้วจึงจ่ายยาอื่นตาม ดังนั้นจึงพบว่าอาการอึดอัด ท้องมาน ของผู้ป่วยมะเร็งตับดีขึ้น หลังจากกินยาเบญจอำมฤต เพราะเมื่อมีการถ่ายมาก แรงกดดันในช่องท้องและอาการท้องมาน (ascites)จะลดลง ทำให้อาการอึดอัดไม่สบาย ทานอาหารไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น แม้ว่าจะมีการทดลองในหลอดทดลองว่า องค์ประกอบบางตัวในตำรับนี้มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่การทดลองนั้นเป็นการใส่สารสกัดให้สัมผัสเซลล์มะเร็งโดยตรง ต่างจากการรับประทานซึ่งยาต้องผ่านการดูดซึม และผ่านทางกระแสเลือดไปยังตับ โดยอาจมีการเปลี่ยนรูปหรือไม่ก็ได้ ทำให้การออกฤทธิ์ของยา อาจเหมือนหรือไม่เหมือนการทดลองในหลอดทดลอง อีกประการหนึ่งคือ ยาตำรับนี้เป็นยาถ่ายที่ออกฤทธิ์เร็ว ดังนั้นแม้ว่ายางรงทองมีสารที่ยับยั้งเซลล์มะเร็งนั้น อาจถูกขับถ่ายออกก่อนการดูดซึม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ายาเบญจอำมฤตสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
อนึ่งจากแนวคิดการรักษาโรคตับของการแพทย์แผนไทยดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น การใช้ยาถ่ายเป็นยานำเพื่อกำจัดของเสียที่ค้างอยู่ ต่อมาจะใช้ยาตำรับอื่นรักษาโรคตับอย่างแท้จริง โดยอาจใช้หยุดยานี้ หรือใช้ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและดุลยพินิจของแพทย์แผนไทยผู้รักษา หากใช้ยานี้เพียงตำรับเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ธาตุไฟลดลง และต่อมาอาจกระตุ้นการทำงานของตับที่เป็นอวัยวะหลักในการรับผิดชอบต่อธาตุไฟ ต้องทำงานเพิ่มขึ้น อาจไม่เกิดผลดีต่ออาการและโรคมะเร็งตับ ดังนั้นการใช้ยาเบญจอำมฤต ควรต้องเป็นตำรับที่เตรียมถูกต้องตามหลักการดั้งเดิม ควรปรึกษาแพทย์แผนไทย ซึ่งต้องมีการใช้ยาตำรับอื่นๆร่วม เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง อันจะส่งผลร้ายต่อผู้ป่วย อย่างไรก็ดี การรักษามะเร็งตับ ควรปรึกษาแพทย์ทั้ง ๒ แผนเพื่อให้ทราบแน่ชัด ถึงข้อดีข้อเสีย ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย ก่อนตัดสินใจ ในวิถีทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด ความเสี่ยงน้อยที่สุดต่อไป
คัมภีร์ประถมจินดา |
ยาชื่อเบญจอำมฤต ขนานนี้ ท่านให้เอา มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ สิ่งละส่วน รงทอง ๒ ส่วน มะกรูดใหญ่ ๓ ผล แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ ยัดเข้าในผลมะกรูดสิ่งละผล แล้วจึงเอามูลโคสดพอก สุมไฟแกลบให้สุกระอุดี แล้วจึงเอารากตองแตก* ๔ ส่วน ดีเกลือ ๑๖ ส่วน ทำเป็นจุณ แล้วประสมกันเข้า จึงบดทั้งเนื้อมะกรูด ปั้นแท่งไว้ เอาหนัก ๑ สลึง ละลายน้ำส้มมะขามเปียกกิน ลงสะดวกดีนัก |
คัมภีร์ธาตุบรรจบ |
ยาเบญจอำมฤตย์ เอามหาหิงคุ์ ยาดำบริสุทธิ์ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง ลูกมะกรูด ๓ ลูก เอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ใส่ในลูกมะกรูดสิ่งละ ๑ ลูก แล้วเอาขี้โคพอก สุมไฟแกลบให้สุก เอาขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย สิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี* ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท เอาประสะกับมะกรูดที่สุมไฟไว้ บดเป็นผงละลายน้ำมะขามเปียกกิน หนักครั้งละ ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้ซึ่งเป็นเมือกมัน และปะระเมหะทั้งปวง |
หมายเหตุ |
* ตองแตก และทนดีเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน ตองแตกเป็นต้นที่ขอบใบเว้าเป็นแฉก และทนดีเป็นต้นที่ขอบใบไม่เว้า |
อัตราส่วนของสมุนไพร ๕ ชนิด จากทั้ง ๒ คัมภีร์เท่ากัน (๑ บาท เท่ากับ ๔ สลึง) |