เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยี่โถ...มีพิษจริงหรือ


พนิดา ใหญ่ธรรมสาร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 117,641 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/02/2557
อ่านล่าสุด 29 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

จากกระแสละครเวียงร้อยดาว ที่มีการนำใบ และดอกยี่โถมาทำเป็นชาชง และเมื่อนำไปรับประทานแล้วเป็นพิษมีผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นทาง สำนักงานข้อมูลสมุนไพร ขอนำเสนอข้อมูลของยี่โถตามรายงานการวิจัยเพื่อเป็นความรู้และตอบรับกับกระแสของละคร “ยี่โถ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nerium oleander L. มีชื่อพ้องคือ Nerium odorum Soland., Nerium odoratum Lam., Nerium indicum Mill. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ fragrant oleander, oleander, rose bay, sweet oleander และยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น ยี่โถไทย ยี่โถจีน ยี่โถดอกขาว ยี่โถดอกแดง (ภาคกลาง) อินโถ (ภาคเหนือ) โดยต้นยี่โถมีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น โปรตุเกส ไปถึงอินเดีย และอิหร่าน (เปอร์เซีย) โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามีการแพร่เข้ามาในไทยโดยชาวจีน ในปลายรัชกาลที่ 2 หรือต้นรัชกาลที่ 3 ในช่วงปี พ.ศ. 2352 - 2364 
ปัจจุบันนี้บ้านเรารู้จักและใช้ต้นยี่โถในฐานะไม้ดอกไม้ประดับมากกว่า เพราะมีดอกที่งดงามคล้ายดอกกุหลาบ มีกลิ่นหอม ออกดอกได้ตลอดปี และที่สำคัญยังปลูกง่ายและทนทานตายยากอีกด้วย ในตำรายาไทยยี่โถมีสรรพคุณดังนี้ ราก เป็นพิษ ทำให้มีอาการหอบและตายได้ ทำให้แท้ง รักษากลากเกลื้อน เปลือก เป็นพิษร้ายแรงมาก ทำให้ตายได้ แก้โรคเรื้อน แก้แผลพุพอง ใบ ใช้ขนาดพอเหมาะ มีฤทธิ์บำรุงหัวใจ หากรับประทานเกินขนาดเป็นพิษต่อหัวใจ ทำให้ตายได้ ดอก บำรุงหัวใจ ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว แก้ปวดศีรษะ ใช้มากเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผล ใช้ปริมาณน้อยๆ ช่วยขับปัสสาวะ และบำรุงหัวใจ เมล็ดและยาง เป็นพิษต่อหัวใจ จะเห็นได้ว่ายี่โถเป็นพืชพิษ ขนาดที่ใช้เป็นยาต้องใช้อย่างระมัดระวังดังนั้นจึงไม่แนะนำในการใช้เป็นยา และจากการศึกษาวิจัยพบว่าต้นยี่โถประกอบด้วยสารในกลุ่ม cardiac glycosides หลายตัวซึ่งสามารถทำให้เกิดพิษต่อหัวใจและระบบอื่นๆ เหมือนกับ digitalis ในใบยี่โถพบว่าสารส่วนใหญ่เป็น acetyl digitoxin ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการเกิดพิษในคนด้วย โดยมีรายงานว่าชายไทย อายุ 35 ปี มีประวัติดื่มสุราเป็นประจำโดยที่ผู้ป่วยต้องการหยุดดื่มสุรา จึงรับประทานน้ำต้มใบยี่โถ 15 ใบ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน คล้ายจะเป็นลม ตามองไม่ชัด และมีเสียงดังในหู ชีพจรเต้นช้าลงเหลือ 39 ครั้ง/นาที การตรวจคลื่นหัวใจพบว่าการส่งสัญญาณจากหัวใจห้องบนสู่หัวใจห้องล่างถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ (complete atrioventricular block) หัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่างไม่บีบตัวตามจังหวะตามกัน โดยหัวใจห้องบนบีบตัว 100 ครั้ง/นาที และหัวใจห้องล่างบีบตัว 39 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยฉีดอะโทรปีน และรับประทานโปรแบนทีน อาการของผู้ป่วยก็ดีขึ้นเรื่อยๆ วันที่ 3 คลื่นหัวใจก็เป็นปกติ 
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่ายี่โถเป็นพืชมีพิษ และมีผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ จนทำให้หยุดหายใจและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นใครที่ปลูกต้นยี่โถแนะนำให้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับมากกว่าที่จะใช้เป็นยา เพราะการนำมาใช้เป็นยาถ้าไม่มีความรู้มากพอ และไม่ระมัดระวังจะทำให้เกิดพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นันทวัน บุญยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. บริษัทประชาชน จำกัด กรุงเทพ, 2543;740 หน้า.
  2. Kaojarern S, Sukhupunyarak S, Mokkhavesa C. Oleander Yee Tho Poisoning. J Med Ass Thailand 1986;69(2):108-12.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยี่โถ...มีพิษจริงหรือ 1 วินาทีที่แล้ว
19 วินาทีที่แล้ว
26 วินาทีที่แล้ว
สับปะรด : ผลไม้รักษาโรค 28 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้