เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


การล้างไซนัสด้วยตนเอง...ปลอดภัยหรือไม่?


รองศาสตราจารย์แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 27,421 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 25/09/2556
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

คำถามนี้ มาจากเอกสารที่เผยแพร่โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า การที่ล้างไซนัสด้วยตนเอง ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงาน...ปลอดภัยหรือไม่ โดยทำการล้างไซนัสตนเองด้วยอุปกรณ์และน้ำยา (หรือน้ำเกลือ) ที่จัดขายเป็นชุดและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ แน่นจมูก ผู้มีอาการหวัด หรือช่องจมูกแห้งจากการที่อยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลานานและบ่อยครั้งที่ผู้มีไซนัสอักเสบได้ก็นำวิธีการนี้ไปใช้ด้วย รวมถึงผู้รักความสะอาดทั้งหลายที่เกรงว่าจะมีสิ่งสกปรกสะสมหลังจากเผชิญกับกลุ่มควัน ฝุ่นละอองและเขม่าจากท่อไอเสียมาตลอดทั้งวัน และบางครั้งเมื่อไปพบแพทย์ อาจได้รับชุดล้างจมูกพร้อมน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อขวดใหญ่พร้อมคำแนะนำถึงวิธีใช้ที่ถูกต้องเพื่อไปปฏิบัติที่บ้านด้วยตนเอง 
 
จากรูป จะเห็นอุปกรณ์ดังกล่าว ลักษณะคล้ายกาน้ำชาแต่มีพวยกาที่ยาวกว่า และพวยกาส่วนปลายที่โค้งมนและมีขนาดใหญ่พอที่จะไม่เข้าไปในช่องจมูก โดยขณะทำการล้าง ผู้ล้างจะอยู่ท่าทางที่เมื่อน้ำยาหรือน้ำเกลือในกา ไหลเข้าช่องจมูกข้างหนึ่ง จะไหลออกจากช่องจมูกอีกข้างหนึ่ง (รูปที่ 1) เมื่อล้างช่องจมูกเช่นนี้ทั้งสองข้าง ผู้ล้างที่ทำอย่างถูกวิธีจะรู้สึกว่า จมูกโล่ง หายใจดีขึ้น รู้สึกสะอาดและสบายจมูก กาที่ใช้บรรจุน้ำเกลือเช่นนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ neti pots (รูปที่ 1) อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้าง อาจมีหลายรูปลักษณะ เช่น เป็นแบบกระบอกฉีดยาที่ใช้ซิลิโคน (ลักษณะคล้ายปลายพวยกาในรูปที่ 1) มาต่อเข้าด้วยกัน หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับ neti pots 
นายแพทย์ Steven Osborne ที่ Center for Devices and Radiological Health (CDRH) ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า อุปกรณ์นี้จัดว่ามีประโยชน์และถือว่าปลอดภัย แต่ควรเตือนผู้บริโภค ผู้ผลิตและบุคคลากรทางสาธารณสุขถึงวิธีการการปฏิบัติที่ความปลอดภัย มีการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องผสมน้ำเกลือเอง ที่ผู้ใช้ต้องนำน้ำมาผสมกับผงเกลือที่บรรจุซองปิดสนิท แม้ว่าผงเกลือนั้นผ่านขบวนการทำให้ปราศจากเชื้อแล้ว แต่น้ำที่ใช้ผสม อาจเป็นน้ำก๊อก น้ำประปา หรือน้ำที่เก็บในภาชนะใดๆ ถ้าไม่สะอาดพอ มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่แม้อาจมีจำนวนไม่มากแต่ก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ระบุว่า จุลินทรีย์เหล่านั้นอาจตกค้างอยู่ในช่องจมูก สามารถก่อเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ เช่น ในปี 2554 ที่รัฐ Louisiana มีการเสียชีวิต 2 ราย โดยอาจมีสาเหตุจากการใช้ neti pots ทำให้มีการติดเชื้อที่สมองจากน้ำที่มีการปนเปื้อนด้วยเชื้อที่ชื่อ Naegleria fowleri ซึ่งเป็นอะมีบ้า (amoeba) ซึ่งก็คือโปรโตซัวหรือปรสิตชนิดเซลล์เดียว ที่ดำรงชีวิตอิสระ (free living) ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป แม่น้ำ ทะเลสาป แหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ สปารีสอร์ท และมีรายงานที่พบ N. fowleri ในที่อุณหภูมิสูงได้ถึง 45.8 C N. fowleri นั้นมีรายงานว่าพบได้ในแหล่งน้ำใน ญี่ปุ่น ไทย แม่น้ำที่อิตาลี ในลำธารและสระว่ายน้ำที่เบลเยี่ยม เช็คโกสโลวาเกีย สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ตามแหล่งน้ำพุร้อนที่รัฐคาลิฟอร์เนีย นิวซีแลนด์ และทะเลสาบน้ำจืดทั่วสหรัฐ เชื้อนี้เข้าร่างกายมนุษย์ได้ เช่นการลงว่ายน้ำ ดำน้ำในแหล่งน้ำที่มี N. fowleri โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน การจุ่มใบหน้าหรือศีรษะในแอ่งน้ำอุ่นของน้ำพุร้อน หรือการใช้น้ำที่ปนเปื้อนในการล้างช่องจมูก จากบริเวณนี้ เชื้อสามารถเดินทางสู่สมองทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 (olfactory nerve) ทำให้เกิดการติดเชื้อและก่อโรคขึ้น 
อาการแรกที่พบจะไม่รุนแรง แต่จะทรุดอย่างรวดเร็วหลังได้รับเชื้อ 5 วัน ผู้ได้รับเชื้อจะปวดศรีษะ มีไข้ คลื่นไส้หรืออาเจียน ต่อมามีอาการคอแข็ง สับสน เหม่อลอยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เสียการทรงตัว ชัก และประสาทหลอน ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หลังอาการต่างๆเริ่มปรากฏประมาณ 5 วัน หรือใน 1-12 วัน 
ดังนั้น คนทั่วไปควรตระหนักในการหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ดำน้ำ ในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติที่อาจมี N. fowleri โดยเฉพาะเมื่อระดับน้ำตื้นและอุณหภูมิสูง หรือมีกิจกรรมอื่นใดกับตะกอนจากแหล่งดังกล่าว เช่น การกวน การขุดดินจากท้องน้ำตื้น ถ้าต้องมีการว่ายน้ำ พยายามให้น้ำเข้าจมูกให้น้อยที่สุดหรือใช้คลิปจมูก อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจพบ N. fowleri ในน้ำทะเล 
เพื่อความปลอดภัยเมื่อใช้อุปกรณ์ใดๆในการล้างไซนัส น้ำที่ใช้ควรสะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยใช้น้ำที่ผ่านการต้มเดือด 1 นาที เมื่ออยู่ในที่สูง (เกิน 6,500 ฟุตหรือประมาณ1,980 เมตร) ให้ต้มเดือด 3 นาที และทิ้งไว้ให้เย็น ส่วนการกรองต้องใช้แผ่นกรองที่สามารถกักสิ่งที่ขนาดเล็กมากคือจุลินทรีย์ออกจากน้ำได้ ที่ต้องทำโดยกรรมวิธีที่จำเพาะจึงควรใช้น้ำกรองที่มีฉลากรับรอง ใช้น้ำกลั่นหรือน้ำที่ผ่านการทำให้ปราศจากจุลินทรีย์ในการล้างไซนัส และหลังการใช้อุปกรณ์ ต้องล้างและชะด้วยน้ำที่ต้มแล้ว น้ำกรองหรือน้ำที่ปราศจากจุลินทรีย์ดังข้างต้น และทิ้งให้อุปกรณ์นี้แห้งสนิท บุคคลากรการแพทย์จึงต้องเตือน-แนะนำการใช้ การล้างอุปกรณ์และการเลือกน้ำที่ใช้ล้างที่ถูกต้อง

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. De Jonckheeree JF. Origin and evolution of the worldwide distributed pathogenic amoeboflagellate Naegleria fowleri. Infect Genetics Evol. 2011; 11(7):1520-1528.
  2. Fowler M, Carter RF. Acute pyogenic meningitis probably due to Acanthamoeba sp.: a preliminary report. BMJ 1965;2:740-2.
  3. http://water.epa.gov/scitech/drinkingwater/dws/ccl/ccl3.cfm
  4. Is rinsing your sinuses safe? http://www.fda.gov/ForConsumers/ConsumerUpdates/ucm316375.htm
  5. Naegleria fowleri-Primary amebic meningoencephalitis (PAM)http://www.cdc.gov/parasites/naegleria/prevention.html
  6. Tung MC. et al. Identification and significance of Naegleria fowleri isolated from the hot spring which related to the first primary amebic meningoencephalitis (PAM) patient in Taiwan. Inter J Parasit 2013; 43: 691-696.
  7. Yoder JS. et al. Primary amebic meningoencephalitis deaths associated with sinus irrigation using contaminate tap water. Clinical infectious diseases. 2012; 1-7. (DOI:10. 1093/cid/cis626)


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้