เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กลูตาไธโอน ตอนที่ 2 : ยาฉีด ยากิน และยาทา


รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 288,408 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 21/04/2556
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ด้วยคุณประโยชน์มหัศจรรย์ของสารกลูตาไธโอน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำการสังเคราะห์สารกลูตาไธโอนเลียนแบบธรรมชาติที่ผลิตจากเซลล์ในร่างกายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ดังนี้

ข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์ 
สารนี้ ในบางประเทศได้รับการรับรองให้ขึ้นเป็นทะเบียนยา และบางประเทศใช้เป็นอาหารเสริม แต่ในประเทศไทย สารชนิดนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. 
มีรายงานการนำสารกลูตาไธโอน มาใช้เป็นยารักษาโรคหลายกรณี เช่น เกี่ยวกับระบบเส้นประสาทบกพร่อง โรคพากินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือ โรคสมองเสื่อม โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ใช้รักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนัก พิษจากยาพาราเซ็ทตามอล 
ข้อมูลการใช้สารกลูตาไธโอน ในการรักษาฝ้า และทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่งเหมือนมีแสงออร่า นั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารนี้ที่ใช้รักษาโรคอื่นแล้วผิวขาวขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เมื่ออาการข้างเคียงหายไป เม็ดสีที่ผิวหนังก็จะกลับเข้มขึ้นดังธรรมชาติเดิม

ประโยชน์การชะลอวัย เป็นยาอายุวัฒนะ 
การที่กลูตาไธโอนในร่างกายลดปริมาณลงในวัยสูงอายุ ซึ่งสามารถเป็นเหตุผลที่ทำให้คนสูงอายุมีความต้านทานต่อโรคต่างๆน้อยลง ในทางตรงกันข้าม คนสูงอายุที่มีอายุยืนยาวและยังแข็งแรง มีสถิติพบว่าคนเหล่านั้นจะมีปริมาณกลูตาไธโอนในร่างกายสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ กลูตาไธโอนในร่างกายกับสุขภาพนั่นเอง หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ากลูตาไธโอนมีส่วนสำคัญในขบวนการชะลอวัยของร่างกาย นักกีฬาและคนที่สุขภาพดีออกกำลังกายเป็นประจำ จะพบว่ามีปริมาณ กลูตาไธโอนค่อนข้างสูงอย่างสม่ำเสมอ มีสถิติทางการแพทย์ที่พบว่าอาการป่วยด้วยโรคต่างๆเชื่อมโยงกับการที่ร่างกายขาดกลูตาไธโอน หรือ มีภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์ กลูตาไธโอนได้ต่ำกว่าปกติที่ร่างกายควรได้รับ เช่น ภาวะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคปอด และในผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีกรรมพันธุ์เกี่ยวกับความบกพร่องของกลูตาไธโอนมักจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท กลไกสำคัญของกลูตาไธโอนในการต้านหรือชะลอวัยน่าจะมาจากคุณสมบัตของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสสระชนิดเข้มข้นที่สังเคราะห์ได้จากทุกเซลล์ในร่างกายโดยธรรมชาตินั่นเอง การรักษาระดับกลูตาไธโอนในร่างกายจึงสำคัญต่อการขบวนการชะลอวัย

ยาฉีด และ อันตรายที่เกิดจาการฉีดกลูตาไธโอน 
เนื่องจากตัวยากลูตาไธโอน มีความไม่คงตัวในกระแสเลือด สลายตัวได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้นผู้ที่หวังผลในการรักษา จะต้องให้แพทย์ฉีดบ่อยๆหรือถี่ๆ เช่น ในกรณีของการฉีดเข้าเส้นเลือดดำเพื่อหวังผลให้ผิวขาว โดยมากแพทย์มักจะฉีดร่วมกับวิตามินซี หากฉีดในความเข้มข้นสูง และฉีดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง นอกจากจะเสียเงินมากแล้ว ที่สำคัญ การฉีดในความเข้มข้นสูง อาจทำให้ช็อค ความดันต่ำ เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง กล้ามเนื้อสั่น ประสาทหลอน หายใจติดขัด หลอดลมตีบ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และผู้ที่ได้รับยาฉีดนี้นานๆเป็นประจำ อาจทำให้เม็ดสีที่จอตาลดลง ทำให้รับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นได้ในอนาคต ทางวารสารการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา จึงจัดสารกลูตาไธโอนเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางสายตา

ยาเม็ดสำหรับกิน 
เนื่องจากโมเลกุลของกลูตาไธโอนมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหาร นอกจากนี้โมเลกุลของกลูตาไธโอนยังถูกสลายตัวได้ง่ายในทางเดินอาหารอีกด้วย เราจึงไม่สามารถรับประทานกลูตาไธโอนโดยตรงเป็นอาหารเสริมได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำเชื่อม ดังนั้น หากผลิตภัณฑ์โฆษณาว่า เป็นยาเม็ดกลูตาไธโอน ของแท้ ผู้บริโภคไม่ควรเสียเงินซื้อมากิน เพราะไม่ได้ผลทำให้ผิวขาว หรือไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อร่างกาย 
ปัจจุบันที่พบทั่วไปในท้องตลาดเป็นยาเม็ดที่ อย.อนุญาตให้ขายเป็นอาหารเสริมนั้น ที่จริงเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไธโอน (Glutathione Precursors) คือ อมิโนแอซิด เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) ซึ่งโมเลกุลชนิดนี้ จะสามารถถูกดูดซึมเข้าทางเดินอาหารได้ง่ายและรวดเร็ว และจะไปรวมตัวกับโปรตีนอีก 2 ชนิด คือ อมิโนแอซิด ไกลซิน (Glycine) และ กลูตาเมท (Glutamate) ที่มีอยู่มากมายในกระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การรวมตัวของอมิโนแอซิดทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดเป็นโมเลกุลกลูตาไธโอนในกระแสเลือด 
อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์จะกินอาหารเสริมชนิดนี้เป็นประจำ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณกลูตาไธโอนในกระแสเลือด เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ชะลอวัย และเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น มึนงง ปวดหัว ตาพล่ามัว และอาจมีสารตกค้าง ทำให้เป็นนิ่วที่ไต และกระเพาะปัสสวะอีกด้วย

ยาทาผิวหนัง 
สารกลูตาไธโอน เมื่อนำมาผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือเจล สำหรับทาผิวหนัง เพื่อหวังให้ผิวขาวนั้น จะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เพราะโมเลกุลสารนี้ค่อนข้างใหญ่ ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้

ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในหญิงตั้งครรภ์ 
แม้ว่ากลูตาไธโอนจะถูกสังเคราะห์และพบมากในเกือบทุกเซลล์ในร่างกายคนเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าสารกลูตาไธโอนจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร สารจากธรรมชาติมากมายที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้เป็นอาหารเสริมในระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยที่สุดนอกเสียจากว่าได้รับการแนะนำให้ใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์เป็นพิเศษ

ข้อควรระวังในการใช้กลูตาไธโอนในเด็กเล็กและทารก 
การใช้กลูตาไธโอนและสารตั้งต้น เอ็นอะซิทิลซิสเตอีน (N-acetyl-cysteine) จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับรายงานการแนะนำให้ใช้ในเด็กเล็กและทารก

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Lomaestro B, Malone M. Glutathione in health and disease. Pharmacotherapeutic Issues. Ann Pharmacother 29: 1263-73, 1995.
  2. The importance of glutathione in human disease. Biomed Pharmacother. 2003 May-Jun; 57(3-4):145-55


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 1 วินาทีที่แล้ว
ยา...หมดอายุ? 14 วินาทีที่แล้ว
แอสไพริน (aspirin) 39 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 43 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้