เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ผมหงอก ... หัวหงอก ... ผมขาว


รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 494,360 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 14/10/2555
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สีเส้นผมเกิดจากเม็ดสีซึ่งรากผมสร้างขึ้นมา ทำให้เส้นผมมีสีต่างๆตามพันธุกรรม ถ้าเม็ดสีมีมากและเข้มข้น เส้นผมจะมีสีเข้ม แต่ถ้าเม็ดสีถูกสร้างมาน้อย สีเส้นผมก็จะอ่อน ระดับของเม็ดสีของเส้นผมจะเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพของร่างกาย ธรรมชาติของสีผมมีทั้งสีดำ เช่นคนเอเชีย สีน้ำตาลและสีบลอนด์ เช่น ชาวตะวันตก สีเส้นผมจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธุกรรม และสีผิวกับสีนัยน์ตา 

เส้นผมสีดำนับเป็นสีที่พบมากที่สุดของคนทั่วโลก รองลงมาคือผมสีน้ำตาลซึ่งพบทั่วไปในทวีปยุโรป เส้นผมสีดำโดยทั่วไปมักจะประกอบด้วยเม็ดสีเข้มข้นน้อยกว่าผมสือื่นๆ สีดำของเส้นผมโดยธรรมชาติมีหลายเชดสี ตั้งแต่สีดำจัดคล้ายผงถ่าน ดำอ่อน ดำน้ำตาล จนถึงดำน้ำเงิน

ผมสีเทาและผมสีขาว 

ผมสีเทาหรือสีขาว ซึ่งมักเรียกกันว่าผมหงอกหรือหัวหงอก ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นไม่ได้มีสาเหตุจากการสร้างเม็ดสีขาวแทนเม็ดสีดำ แต่เกิดจากการที่รากผมไม่สร้างเม็ดสี ทำให้เส้นผมไม่มีสี กลายเป็นเส้นผมสีขาวหรือเทาเงินเมื่อสะท้อนแสง เส้นผมสีเทาหรือขาวมักเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีอายุสูงวัย แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปี ด้วยต้นเหตุเดียวกันคือรากผมไม่สร้างเม็ดสีให้เส้นผม ทำให้เส้นผมไม่มีสี ในบางกรณีผมสีเทาอาจเกิดได้จากโรคต่อมไทรอยด์ หรือในคนที่ร่างกายขาดวิตามินบี12 

จากงานวิจัยปี คศ.2005 ในวารสารการแพทย์พบว่าคนเอเซียจะเริ่มมีผมหงอกหรือผมขาวตั้งแต่อายุปลาย 30 ส่วนฝรั่งหรือชาวตะวันตกจะพบเส้นผมเริ่มขาวตั้งแต่อายุ 35 แต่ชาวอัฟริกัน-อเมริกันจะพบเส้นผมขาวได้ช้ากว่าเมื่ออายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีสีผิวและ เส้นผมเป็นสีเผือกนั้นมีสาเหตุจากเม็ดสีทั่วร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมีน้อยมากนั่นเอง 

ความเข้าใจที่ว่าถ้าดึงเส้นผมหงอกออก 1 เส้น ผมหงอกจะงอกขึ้นเป็นทวีคูณ เป็นความเข้าใจที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ปัจจัยที่มีผลต่อสีผมธรรมชาติ

  1. อายุ เด็กทารกแรกเกิดสีผมจะอ่อน และจะค่อยๆดำเข้มขึ้นตามวัยจนถึงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของสีผมจะเป็นไปโดยธรรมชาติเมื่ออายุเจ้าของสูงวัยขึ้นจนเป็นผมสีเทาหรือสีดอกเลาหรือสีผมหงอก บางคนเกิดมาก็มีผมขาวทั้งหัวซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมก็มี
  2. สาเหตุทางการแพทย์ เช่น คนที่มีปัญหาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เส้นผมด่างขาวเป็นกลุ่มๆ คนที่มีปัญหาร่างกายขาดสารอาหาร มีผลทำให้เส้นผมไม่แข็งแรง ผมเส้นบางและเบา สีผมอ่อนและขาวไวกว่าอายุ เส้นผมที่ดำขำอาจเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลแดงคล้ายกากมะพร้าวเนื่องจากรากผมไม่สามารถผลิตเม็ดสีได้ปกติ หากร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนและแข็งแรง สภาพเส้นผมจะกลับคืนมีชีวิตชีวาได้ในกรณีนี้ อีกกรณี เช่น คนที่มีปัญหาโรคโลหิตจางหรือซีด อาจมีผลทำให้เกิดเส้นผมขาวหรือหงอกได้เร็วเพราะรากผมขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงหรือไม่เพียงพอ นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังมีข้อสังเกตุว่า คนที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี และมีเส้นผมขาวแต่มีขนคิ้วดำ มีสถิติว่าจะมีโรคเบาหวานร่วมด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับคนวัยเดียวกันที่มีผมขาวและขนคิ้วสีขาวไปด้วยกัน
  3. ปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น
    • คนที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มของผมขาวเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 4 เท่า
    • ผมขาวบางครั้งอาจค่อยๆดำขึ้นเมื่อร่างกายมีอาการอักเสบและกินยาบางชนิดร่วมด้วยซึ่งเป็นปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่อยารักษา
    • คนที่อยู่ในเหตุการณ์ร้ายแรงที่ทำให้ร่างกายตกใจหรือเสียใจอย่างรุนแรง ทำให้รากผมชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราวและผมร่วงเป็นกระจุก อาจทำให้เห็นผมหงอกได้เร็วเสมือนหนึ่งเผมหงอกชั่วข้ามคืน
    • เมื่อคนเราอายุ 30 เส้นผมจะหงอกขาวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% ทุกๆ 10 ปี
    • คนที่ทำงานหนักเกินไป ร่างกายพักผ่อนน้อย รวมทั้งการรับประทานอาหารไม่ครบหมู่ ทำให้การเจริญเติบโตของรากผมไม่แข็งแรง นอกจากเส้นผมหลุดร่วงได้ง่ายแล้ว การสร้างเม็ดสีก็ลดน้อยลง ทำให้เส้นผมขาว
  4. เป็นที่น่าเสียใจที่ไม่พบว่ามีอาหารชนิดพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด หรืออาหารเสริมพิเศษชนิดใด รวมทั้งไม่พบหลักฐานทางการแพทย์ว่าโปรตีนเสริมหรือวิตามินใดๆที่สามารถเสริมเพื่อชะลอหรือยับยั้งการเกิดผมสีขาวหรือผมหงอกได้

คุณค่าอาหารและวิตามินที่มีประโยชน์บำรุงให้เส้นผมแข็งแรง เช่น

  • วิตามินเอ จำเป็นต่อสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมที่แข็งแรง พบทั่วไปในผักใบเขียวเข้ม ผลไม้สีผมและสีหลือง
  • วิตามินบี ช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำมันธรรมชาติเพื่อหล่อลื่นเส้นผมให้เงางามและชุ่มชื้น พบในผักใบเขียว มะเขือเทศ กล้วย โยเกริต และธัญพืช
  • แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก สังกะสี ทองแดง ช่วยบำรุงให้เส้นผมแข็งแรง ได้จากแหล่งอาหาร เช่น เนื้อแดง เนื้อไก่ ไข่แดง อาหารทะเล และธัญพืช
  • โปรตีน ช่วยบำรุงให้เส้นผมเงางามและมีความยืดหยุ่นดี ไม่ขาดตอน พบทั่วไปในเนื้อสัตว์ ไข เต้าหู้ ฯลฯ
แหล่งอ้างอิง/ที่มา

-



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ว่านชักมดลูก 18 วินาทีที่แล้ว
เครื่องสำอางกับสุขภาพ 26 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
ยา...หมดอายุ? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้