เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้


ดร.จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 162,873 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/08/2555
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า มะหาด คืออะไร แต่อีกหลายคนคงเคยได้ยินสรรพคุณของครีมมะหาดในการช่วยทำให้ผิวขาว ซึ่งความจริงแล้วเป็นอย่างไรนั้น สารสกัดนี้ช่วยให้ผิวขาวได้จริงหรือไม่ เรามาติดตามกัน
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกระบวนการสร้างเม็ดสีผิว หรือเมลานิน (melanin) เมลานินแบ่งออกได้เป็นสองชนิด ได้แก่ pheomelanin และ eumelanin ซึ่งกระบวนการสร้างเมลานินนี้ต้องใช้กรดอะมิโน tyrosine เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ โดยมีเอ็นไซม์ tyrosinase ทำการเปลี่ยนกรดอะมิโน tyrosine ให้เป็น dihydroxyphenylalanine (DOPA) และเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็น DOPA aquinone ตามลำดับ ซึ่งสาร DOPA aquinone นี้จะทำปฏิกิริยากับสาร cysteine หรือ glutathione แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสาร cysteinyl-DOPA และเกิดกระบวนการต่อไปอีกได้เป็น 1,4-benzothiazinyl-alanine และ pheomelanin นอกจากนี้ในสภาวะที่ขาด cysteine สาร DOPA aquinone จะเปลี่ยนไปเป็น DOPA achrome ได้ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น 5,6-dihydroxyindole-2-carboxylic acid (DHICA) และ eumelanin ตามลำดับ ดังแผนภาพที่ 1
 
มะหาด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lakoocha Roxb. เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Moraceae มีถิ่นกำเนิดจากทวีปเอเชียใต้ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ในประเทศไทยใช้สารสกัดแก่นมะหาดในการถ่ายพยาธิ ปัจจุบันมะหาดได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นหลังจากมีการค้นพบว่า สารสกัดมะหาดมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง โดยสารที่ออกฤทธิ์นี้ ในสารสกัด ได้แก่ oxyresveratrol และ resveratrol โดย oxyresveratrol ยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ได้มากกว่าสาร resveratrol ถึง 20 เท่า
จากผลการทดสอบสารสกัดมะหาดในการยับยั้งเอ็นไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง และประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร พบว่า ค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ tyrosinase ของสารสกัดมะหาด และ สาร oxyresveratrol มีค่าเท่ากับ 0.76 และ 0.83 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และผลการยับยั้งการสร้างเมลานินในอาสาสมัคร โดยใช้สารสกัดมะหาดที่ความเข้มข้น 0.25% w/v ในสารละลาย propylene glycol เปรียบเทียบกับสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเมลานิน ได้แก่ สารสกัด licorice ที่ความเข้มข้น 0.25% w/v และ kojic acid ที่ความเข้มข้น 3% w/v ในสารละลายเดียวกัน โดยให้อาสาสมัรทาสารสกัดบริเวณต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง อีกข้างให้ใช้สารละลาย propylene glycol เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบปริมาณเมลานินที่ลดลง จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดมะหาดช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้เมื่อใช้ทาติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในขณะที่ kojic acid และ สารสกัด licorice ต้องใช้เวลา 6 และ 10 สัปดาห์ ตามลำดับ จึงจะเห็นความแตกต่างของสีผิว นอกจากนี้ตำรับเครื่องสำอางโลชั่นชนิดไขมันในน้ำ (oil-in-water emulsion) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสารสกัดมะหาด (0.10 %w/w) ในการทำให้ผิวขาวได้ดีขึ้น เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดมะหาดเพื่อให้ผิวขาว นอกจากจะต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของสารสกัดมะหาดในผลิตภัณฑ์แล้ว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ ก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสารสกัดมะหาดเช่นกัน

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Ebanks J. P., Wickett R. R., Boissy R. E. Mechanisms Regulating Skin Pigmentation: The Rise and Fall of Complexion Coloration. Int. J. Mol. Sci. 2009, 10, 4066-4087.
  2. Tengamnuay, P., Pengrungruangwong, K., Pheansri, I., Likhitwitayawuid, K. Artocarpus lakoocha heartwood extract as a novel cosmetic ingredient: evaluation of the in vitro anti-tyrosinase and in vivo skin whitening activities. Int. J. Cosmet. Sci. 2006, 28, 269–276.
  3. Mongkolsuk, S., Robertson, A., Towers, R. 2,4,3´,5´-tetrahydroxystilbene from Artocarpus lakoocha. J. Chem. Soc. 1957, 2231–2233.
  4. Sritularak, B., De-Eknamkul, W., Likhitwitayawuid, K. Tyrosinase inhibitors from Artocarpus lakoocha. Thai J. Pharm. Sci. 1998, 22, 149–155.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาไอซ์ (Ice) 1 วินาทีที่แล้ว
1 วินาทีที่แล้ว
ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 11 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 20 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้