เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


น้ำมันไพลทอดต่างจากน้ำมันไพลกลั่นอย่างไร?


รองศาสตราจาย์ ดร. เภสัชกรหญิงนพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 120,849 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 05/08/2555
อ่านล่าสุด 32 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ไพล หรือปูลอย ปูเลย มิ้นสะล่าง ว่านไฟ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr. หรือ Zingiber cassumunar Roxb. วงศ์ Zingiberaceae เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งในบัญชียาจากสมุนไพร ใน บัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 กลุ่มที่ 2 บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร กลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ยาสำหรับใช้ภายนอก ได้แก่ ตำรับยาครีมไพล [ประกอบด้วยน้ำมันไพลที่จากการกลั่น ร้อยละ 14 โดยปริมาตรต่อน้ำหนัก (v/w)] และ ยาน้ำมันไพล [สารสกัดน้ำมันไพลที่ได้จากการทอด (hot oil extract) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในตำรับ ซึ่งเป็นสูตรเภสัชตำรับของโรงพยาบาล] ข้อบ่งใช้ของทั้งสองตำรับคือ บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก1 
น้ำมันไพลที่ได้จากการทอดและการกลั่นต่างกันอย่างไร? น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นเป็น น้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นของเหลวที่เป็น hydrophobic ระเหยได้ อาจจะได้จากการกลั่นโดยการต้มด้วยน้ำ (water distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหย ไปควบแน่นเมื่อสัมผัสกับความเย็นของเครื่องควบแน่น (condenser) วิธีการกลั่นแบบนี้เป็นวิธีที่ชาวยุโรปดั้งเดิมนิยมใช้กัน แต่มีข้อเสียตรงที่ไพลที่นำมากลั่นจะถูกความร้อนนาน อาจทำให้น้ำมันไพลที่ได้มีกลิ่นผิดไปได้ หรือจะได้จากการกลั่นโดยใช้การผ่านของไอน้ำเข้าสู่ภาชนะที่มีไพลบรรจุอยู่ (steam distillation) ไอน้ำจะพาเอาน้ำมันหอมระเหยไปควบแน่นที่เครื่องควบแน่น วิธีนี้มีข้อดีกว่าคือ ไพลจะถูกความร้อนไม่มาก น้ำมันหอมระเหยที่ได้จะไม่มีกลิ่นผิดเพี้ยนไป นั่นคือน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากทั้ง 2 วิธี จะมีสารประกอบทางเคมีที่ต่างกันบ้าง โดยทั่วไปน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นจะประกอบด้วยสารประกอบทางเคมีที่มีโมเลกุลเล็ก ได้แก่ สารกลุ่ม monoterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 10 ตัว) และสารกลุ่ม sesquiterpenes (สารที่ประกอบด้วยคาร์บอนจำนวน 15 ตัว) น้ำมันหอมระเหยไพลที่ได้จากการกลั่นประกอบด้วย สารกลุ่ม monoterpenes ได้แก่ sabinene, terpinen-4-ol, alpha-pinene, alpha-terpinene, gamma-terpinene, limonene, myrcene, p-cymene, terpinolene2, (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD), (E)-4-(3’,4’-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol (Compound D)3,4 
ส่วนน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช เป็นวิธีของคนไทยโบราณที่ใช้เตรียมน้ำมันไพลเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นน้ำมันถูนวด แก้ปวดกล้ามเนื้อ ปัจจุบันหลายโรงพยาบาลของรัฐได้มีการเตรียมเป็นเภสัชตำรับของโรงพยาบาล และเป็นหนึ่งตำรับในบัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปี 2554 น้ำมันไพลสูตรนี้เตรียมได้จากการนำไพลสดมาทอดกับน้ำมันพืชชนิดอิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันคำฝอย น้ำมันทานตะวัน หรือน้ำมันรำข้าว ทั้งนี้เพราะว่าน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวจะไม่ทนต่อความร้อน ทำให้พันธะคู่ในโมเลกุลเกิดการแตก และรวมตัวเป็นสาร “โพลีเมอร์” เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหนืด นอกจากนี้จะทำให้เกิดควันได้ง่าย และน้ำมันเหม็นหืน น้ำมันพืชที่ใช้ในการทอดเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน (fatty acids) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสารประกอบทางเคมีที่มีขั้วน้อย เป็นตัวทำละลายที่ดีในการสกัดสารที่มีขั้วน้อยด้วย ฉะนั้นน้ำมันพืชก็สามารถจะสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีขั้วน้อยและโมเลกุลเล็กได้ พร้อมทั้งสกัดสารประกอบที่มีขั้วน้อยแต่มีโมเลกุลใหญ่ได้ด้วย ซึ่งในไพลนอกจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังประกอบสารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าสารในน้ำมันหอมระเหย และเป็นสารที่ไม่ระเหย สรุปง่าย ๆ คือ น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นจะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารโมเลกุลเล็กและระเหยได้ ส่วนน้ำมันที่ได้จากการทอดจะประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่และไม่ระเหย 
น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่ (สารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives) เป็นกลุ่มสารที่มีผลการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดในสัตว์ทดลอง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยากลุ่ม NSAIDs3,4-12 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมไพลหรือไพลจีซาล (14% ของน้ำมันหอมระเหย) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและการปวดของข้อเท้าแพลงในผู้ป่วยนักกีฬาที่บาดเจ็บข้อเท้าแพลงมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับยา หลอก13 และพบว่าครีมไพจีซาลได้ผลดีในการรักษาอาการปวดเมื่อยหลัง ไหล่ ต้นคอ เอว เข่า14 แต่ตำรับยาน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช หรือการสกัดด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว ยังไม่เคยมีการศึกษาทางคลินิกมาก่อน ซึ่งขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมของตำรับยาครีมไพลสกัด ซึ่งเป็นการเลียนแบบวิธีการสกัดแบบภูมิปัญญา ซึ่งเป็นการสกัดสารหลาย ๆ ชนิด ไม่เพียงแต่น้ำมันหอมระเหยเท่านั้น และเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า 
ประชาชนสามารถจะเตรียมน้ำมันไพลใช้เองได้ในครัวเรือน จึงขอแนะนำวิธีเตรียมตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณซึ่งใส่เหง้าขมิ้นชันด้วย เพื่อเสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ทั้งนี้เพราะขมิ้นชันประกอบด้วยสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม curcuminoids ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดได้

ตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณ

หัวไพลสด2 กิโลกรัม
ขมิ้นชันสด1/2 กิโลกรัม
น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว1 กิโลกรัม
ดอกกานพลู100 กรัม
การบูร100 กรัม

วิธีทำ

  1. หั่นไพลสด และขมิ้นชันสด ให้เป็นชิ้นบาง ๆ
  2. เทน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าว ลงกระทะยกตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนปานกลาง เอาไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน (เหมือนทอดกล้วยแขก) ทอดจนไพลและขมิ้นชันกรอบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส (ระวังไหม้) ช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก
  3. ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อและลดไฟให้เหลือไฟอ่อน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง
  4. พอน้ำมันอุ่น ๆ ผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงในภาชนะที่สามารถปิดฝาให้สนิทป้องกันการระเหยได้ แล้วเทบรรจุลงขวดเล็กปิดฝาให้แน่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ
  2. Casey TE, Dougan J, Matthews WS, Nabney J. Essential oil of “phai”, Zingiber cassumunar, from Thailand. Tropical Science 1971; 13(3): 199-202.
  3. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananum V, et al. Antiinflammatory activity of compounds isolated from Zingiber cassumnar. Planta Med 1990; 56: 60.
  4. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul KM, et al. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunar Roxb. J Ethnopharmacol 2003; 87: 143-8.
  5. Panthong A, Kanjanapothi D, Niwatananant W, et al. Anti-inflammatory activity of compound D (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) but-3-en-2-ol isolated from Zingiber cassumunar. Phytomedicine 1997; 4(3): 207-12.
  6. Ozaki Y, Kawahara N, Harada M. Anti-inflammatory effect of Zingiber cassumunar Roxb. and its active principles. Chem Pharm Bull 1992; 39(9): 2353-6.
  7. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 1, The essential oil. Phytomedicine 1997; 3(4): 319-22.
  8. Pongprayoon U, Tuchinda P, Claeson P, et al. Topical antiinflammatory activity of the major lipophilic constituent of the rhizome of Zingiber cassumunar, Part 2, Hexane extractives. Phytomedicine 1997; 3(4): 323-6.
  9. Masuda T, Jitoe A, Nakatani N. Structures of cassumunin A, B, and C, new potent antioxidants from Zingiber cassumunar. Chemistry Lett 1993; 22(1): 189-92.
  10. Masuda T, Jitoe A, Mabry TJ. Isolation and structure determination of cassumunarins A, B, and C: new anti-inflammatory antioxidants from a tropical ginger, Zingiber cassumunar. J Am Oil Chem Soc 1995; 72(9): 1053-7.
  11. Jeenapongsa R, Yoovathaworn K, Sriwatanakul K, et al. Anti-inflammatory activity of DMPBD, a phenylbutanoid from Zingiber cassumunar. Annual research abstacts and bibliography of non-formal publications 1994, Mahidol University 1995; 22: 327.
  12. Han AR, Kim MS, Jeong YH, et al. Cyclooxygenase-2 inhibitory phenylbutenoids from the rhizomes of Zingiber cassumunar. Chem Pharm Bull 2005; 53(11): 1466-8.
  13. Laupattarakasem W, Kowsuwon W, Laupattarakasem P, et al. Efficacy of Zingiber cassumunar Roxb. (Plygesal) in the treatment of ankle sprain. Srinagarind Med J 1993; 8(3): 159-64.
  14. ศศิธร วสุวัต และคณะ. การวิจัยและพัฒนายารักษาอาการอักเสบชนิดใหม่ของไพล Zingiber cassumunar Roxb. การประชุมวิชาการเรื่องการพัฒนาเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรใช้ภายนอก. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 7-8 พ.ค. 2535.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 14 วินาทีที่แล้ว
ยี่โถ...มีพิษจริงหรือ 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้