เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กว่าจะมาเป็นยา


เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 34,295 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/07/2555
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ค้นหายาสำคัญ สารไหนกันที่มีฤทธิ์ 
ปลอดภัยไม่มีพิษ ใช้เพียงนิดพอได้ผล 
ต่อยอดพัฒนา จนเหมาะมาใช้กับคน 
ตามผลด้วยอดทน มนุษย์พ้นมวลโรคา 

ร้อยแก้วข้างต้น สรุปความถึงกระบวนการคิด ขั้นตอนการทดลองและพัฒนายาขึ้นมา กว่าจะได้เป็นยาที่มีประสิทธิผลในการรักษาโรคหรือภาวะต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยนั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง โดยในแต่ละขั้นตอนนั้น สามารถกล่าวรายละเอียดได้ ดังนี้

ค้นหาตัวยาสำคัญ สารไหนกันที่มีฤทธิ์ 
ตัวยาสำคัญ คือ ส่วนประกอบสำคัญในยา ที่ทำให้ยานั้นมีผลในการรักษา ตัวยาสำคัญนี้อาจได้มาจากพืช สัตว์ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือได้จากการสังเคราะห์ขึ้นมา แต่กว่าจะได้มาซึ่งตัวยาสำคัญนี้ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย ดังตัวอย่างของการค้นหาตัวยาสำคัญจากสมุนไพร อาจเริ่มตั้งแต่สืบค้น หาประโยชน์จากการใช้พืชสมุนไพรของชาวบ้านที่เคยใช้สืบเนื่องกันมา เช่น การใช้ว่านหางจระเข้ทาบริเวณที่โดนน้ำร้อนลวก ซึ่งช่วยลดอาการแสบ ลดการเกิดผิวไหม้ได้นั้น ทำให้เกิดแนวคิดขึ้นว่า อาจมีสารใดสารหนึ่งในว่านหางจระเข้เป็นตัวที่ช่วยรักษาแผลน้ำร้อนลวกได้ และสามารถใช้สารนั้นเพียงสารเดียวในการรักษาแผลน้ำร้อนลวกต่อไป ซึ่งแนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาอย่างต่อเนื่องตามมา โดยสังเกตว่าชาวบ้านเลือกใช้เฉพาะส่วนของวุ้นซึ่งลอกยางออกแล้วทาบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกเท่านั้น ดังนั้นตัวยาสำคัญจึงควรอยู่ในวุ้นนั่นเอง จากนั้นจึงเริ่มทำการสกัด คัดแยก วุ้นว่านหางจระเข้ออกเป็นส่วนๆ แล้วนำแต่ละส่วนที่คัดแยกได้นั้นมาทดลองเบื้องต้นดูว่าส่วนที่ช่วยลดการอักเสบจริงๆ คือส่วนใด โดยมักเป็นการทดสอบปฎิกิริยาทางเคมีเบื้องต้นเป็นหลัก 
ขั้นตอนการค้นหาตัวยาสำคัญนี้ยังรวมถึงการพัฒนาวิธีการสกัดและการสังเคราะห์ เพื่อให้ได้สารสำคัญที่บริสุทธิ์เพียงชนิดเดียว ไม่เจือปนสิ่งปนเปื้อนหรือสารอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ รวมทั้งกำจัดส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของยาออกไปอีกด้วย

ปลอดภัยไม่มีพิษ ใช้เพียงนิดพอได้ผล 
ตัวยาสำคัญที่ได้ต้องนำมาทดลองต่อเพื่อให้แน่ใจว่า เป็นตัวยาที่นำมาใช้พัฒนาต่อได้จริง ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดพิษต่อผู้ใช้ โดยเริ่มจากการทดลองใช้ตัวยาสำคัญนั้นในสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ก่อน ตามลำดับดังนี้

  1. ทดสอบกับเซลล์มีชีวิตในหลอดทดลอง เช่น การทดสอบสารต้านมะเร็งในเซลล์มะเร็งที่เลี้ยงไว้ ทดสอบยาที่มีผลช่วยสมานแผลในเซลล์เยื่อบุผิวหนัง ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการทดสอบยากับสิ่งมีชีวิต
  2. ทดสอบในสัตว์ทดลอง เมื่อมั่นใจว่าสารสำคัญที่ทดสอบในหลอดทดลองให้ผลเบื้องต้นที่ดี จึงนำมาทดสอบในสัตว์ทดลอง เช่น หนู สุนัข ลิง เพื่อดูว่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์นั้น สารสำคัญยังให้ผลที่ดีเช่นเดิมหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ยังช่วยบอกในเบื้องต้นได้ว่า สารสำคัญนั้นมีพิษมากน้อยแค่ไหน และปริมาณสารสำคัญที่เหมาะสมจะนำมาใช้ในมนุษย์คือปริมาณมากน้อยเพียงใด ปริมาณสารสำคัญที่เหมาะสมจะทำให้การใช้ยาก่อให้เกิดผลการรักษาที่ดี แต่ทำให้เกิดพิษจากยาน้อย
  3. ทดสอบในมนุษย์ ในขั้นตอนนี้สารสำคัญนั้นจะถูกทดลองประสิทธิภาพในมนุษย์เป็นครั้งแรก โดยมักเริ่มทดลองจากอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวนน้อยๆ ก่อน ว่ายาให้ผลอย่างไร ก่อให้เกิดพิษในมนุษย์อย่างไรบ้าง จากนั้นจึงเริ่มทำการทดลองในผู้ป่วยต่อไป เช่น ทดลองยาลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือทดลองยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ


ต่อยอดพัฒนา จนเหมาะมาใช้กับคน 
เมื่อได้ตัวยาสำคัญที่ทดลองจนมั่นใจแล้วว่ามีประสิทธิผลในการรักษา ปลอดภัย ทราบขนาดของตัวยาสำคัญที่เหมาะสมจะนำมาใช้เป็นยาแล้ว ก่อนจะนำมาใช้จริง ต้องมีการพัฒนาสูตรตำรับให้มีความเหมาะสมก่อนเสมอ โดยดูว่าตัวยาสำคัญนั้น ควรจะใช้ในรูปแบบยาใด เช่น ยาฆ่าเชื้อบางชนิดมีรสขมมาก ไม่เหมาะจะนำมาใช้ในรูปของยาเม็ดธรรมดา ควรเคลือบด้วยน้ำตาลก่อน ซึ่งนอกจากจะช่วยกลบรสขมได้แล้ว ยังช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิดอาจรับประทานแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ดี ต้องมีการพัฒนาโดยการเติมสารอื่นๆ เข้าไปในตำรับยา เพื่อช่วยให้การดูดซึมยาดีขึ้น ยารักษาสิวบางอย่าง เมื่อทาแล้วมักทำให้เกิดอาการแสบ ระคายเคืองมาก เนื่องจากเนื้อครีมที่ใช้ผลิตยานั้นทำให้ยาซึมเข้าสู่ผิวเร็วเกินไป จึงต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบของยาครีมที่ใช้ผลิตยาให้ดีขึ้น 
นอกจากการพัฒนาสูตรตำรับแล้ว คุณภาพของยาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ทำให้ต้องมีการวิเคราะห์ ตรวจสอบว่ายาที่ผลิตออกมามีปริมาณตัวยาสำคัญตามที่ต้องการหรือไม่ ตัวยาสำคัญนั้นยังอยู่ในคงให้ผลการรักษาอยู่หรือไม่หลังจากเก็บรักษายาไว้ในสภาวะต่างๆ ซึ่งก็นำไปสู่การกำหนดวันหมดอายุของยานั่นเอง

ตามผลด้วยอดทน มนุษย์พ้นมวลโรคา 
เมื่อได้ตัวยาสำคัญที่ทดสอบจนมั่นใจว่าใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัย รวมทั้งมีการพัฒนาสูตรตำรับให้เหมาะสมต่อการใช้แล้ว ผู้ผลิตยาจะเริ่มวางขายยานั้นสู่ท้องตลาด แต่ขั้นตอนการทดลองยังไม่หมดสิ้น เนื่องจากในการทดสอบประสิทธิผลของยาเบื้องต้นจะทำในทั้งอาสาสมัครและผู้ป่วยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เมื่อยาออกสู่ท้องตลาดจริง ผู้ป่วยอาจมีสภาวะอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ใช้ยาอาจมีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมทั้งผู้ป่วยอาจใช้ยาอื่นอยู่ก่อนที่จะได้รับยาตัวใหม่ อาจทำให้เกิดปัญหายาตีกันได้ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหลังยาตัวใหม่ออกสู่ท้องตลาด ผู้ผลิตยาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการติดตามศึกษาผลเหล่านี้ของยาในผู้ป่วยต่อไปเรื่อยๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาข้อบ่งใช้ คำแนะนำ คำเตือนและข้อควรระวัง ขนาดการใช้ยาของยาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป 
จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้เป็นยาหนึ่งตัว ต้องใช้ใจในการคิด กายในการทำ เวลาในการปรับปรุง รวมทั้งเงินในการจัดหาและจัดการสิ่งต่างๆ อีกมากมายมหาศาล สารที่มีฤทธิ์ดีในการทดลองเบื้องต้นหลายตัว อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะถูกพัฒนาต่อยอดจนเป็นยาออกมาใช้ได้จริง ยาใหม่ๆ ที่ออกมาขายในท้องตลาด จึงมักมีราคาที่สูงมาก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตได้คิดคำนวนสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นต้นทุนของยาด้วยนั่นเอง เรามักเรียกยาเหล่านี้ว่ายาต้นตำรับ (original drug) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยา จะได้รับสิทธิ์ในการขายยานั้นเพียงบริษัทเดียวอยู่นาน 20 ปี นับจากวันที่ขึ้นทะเบียนตัวยาสำคัญ (ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา) ก่อนจะมียาที่บริษัทอื่นๆ สามารถผลิตออกมาขายได้ เรามักเรียกยาที่ผลิตในช่วงหลังเหล่านี้ว่า ยาสามัญ (generic drug) ซึ่งทำให้ผู้ที่ใช้ยา มีทางเลือกในการใช้ยามากขึ้น เนื่องจากจะมีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับเสมอ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. U.S. food and drug administration [homepage on the internet]. U.S. department of health and human services. [updated 2012 May 6; cited 2012 June 20]. Available from: http://www.fda.gov/default.htm/
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร [homepage on the internet]. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. [cited 2012 June 20]. Available from: http://www.medplant.mahidol.ac.th/cartoons/aloe.asp/
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กว่าจะมาเป็นยา 1 วินาทีที่แล้ว
สมุนไพรป้องกันยุง 2 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2025
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้